หน้าแรก สวทช. ร่วมผนึกกำลัง มข. เสริมแกร่งทางวิชาการ เดินหน้าการวิจัย สร้างและขยายนวัตกรรมการตรวจโรควัณโรค
สวทช. ร่วมผนึกกำลัง มข. เสริมแกร่งทางวิชาการ เดินหน้าการวิจัย สร้างและขยายนวัตกรรมการตรวจโรควัณโรค
24 มี.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

24 มีนาคม 2566 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า : กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มุ่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และชีววิทยา ด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์(AI) พร้อมเสริมทัพนวัตกรรมสมัยใหม่ ช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ ในหลากลายมิติ

โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนาม ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์เกียรติไชย ฟักศรี คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเป็นสักขีพยาน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นและ สวทช. มีความร่วมมือระหว่างอาจารย์นักวิจัยอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่มากขึ้น และเป็นการยกระดับบรรยากาศในการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนและผลักดันให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาขึ้นภายในประเทศ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง 2 หน่วยงานในครั้งนี้มีขึ้น โดยมุ่งหวังให้งานวิจัยและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนั้น สามารถนำไปสู่ผลกระทบต่อสังคม ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ต่อสังคมทุกภาคส่วน และเพื่อการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมการทำงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมร่วมกัน และนำไปสู่ความร่วมมือใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเป็นการเพิ่มโอกาสสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยระดับบัณฑิต ศึกษา

เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูงตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมไปถึงการขับเคลื่อนประเทศในมิติการแพทย์และสาธารณสุขทั้งระดับประเทศและภูมิภาค ที่ผ่านมามีความร่วมมือในด้านการนำเทคโนโลยีทางนาโนจาก สวทช. มาช่วยพัฒนานวัตกรรมตรวจวัดตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ และนวัตกรรมเซนเซอร์ตรวจหาโปรตีนบ่งชี้มะเร็งท่อน้ำดีเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงระยะเริ่มแรกที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมสนับสนุนให้เกิดการขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และชีววิทยา ด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ผลงานวิจัย ตลอดจนผนึกกำลัง อาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากภายในประเทศและต่างประเทศ บูรณาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบองค์รวมทั้ง 2 หน่วยงาน รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาสนับสนุนนักศึกษาเพื่อปฏิบัติงานวิจัยและเพิ่มทักษะโดยใช้งานวิจัยเป็นฐานอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีกองทัพนักวิจัย ซึ่งเป็นขุมพลังหลัก ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศไทย มีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ในการทำงานร่วมกับพันธมิตร ซี่งเป็นเจ้าของโจทย์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย  สวทช. พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปเสริมการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและการวิจัย โดยมีกรอบความร่วมมือครอบคลุม การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และ ชีววิทยา ด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบปัญญา ประดิษฐ์(AI) นวัตกรรมด้านการเกษตรและอาหาร นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมสมัยใหม่ นวัตกรรม ด้านวัสดุศาสตร์และพลังงาน เป็นต้น

ในส่วนการพัฒนานวัตกรรการป้องกันดูแลรักษาวัณโรค ได้มีความร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง พื้นผิวขยายสัญญาณ Raman ที่วิจัยพัฒนาโดย เนคเทค สวทช. มีชื่อว่า ONSPEC มาร่วมกันวิจัยเพื่อสร้างเป็นเครื่องมือ ที่มี ประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรอง วัณโรคทั้งแบบแสดงอาการและวัณโรคระยะแฝงได้อย่างรวดเร็ว (ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชม จากเดิม 1-2 วัน) พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนายื่นข้อเสนอขอทุนวิจัยไปยังองค์กร ต่างประเทศ (On process 80 %) ซึ่งมีเครือข่ายในการนำผลงาน ไปขยายผลทั่วโลก อันจะเป็นผล ในการเพิ่มประสิทธิภาพสู่การยุติ อุบัติการณ์ของวัณโรคตามเป้าหมายขององค์การ อนามัยโลก เพื่อยุติการแพร่ระบาดของวัณโรค ในปี ค.ศ. 2035 อีกทั้งยังยกระดับอุตสาหกรรมผลิต เซนเซอร์และการบริการตรวจวัดของประเทศไทย ไปสู่ตลาดสากลต่อไป

24 มี.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: