For English-version news, please visit : https://www.nstda.or.th/en/news/news-years-2023/certificate-presentation-ceremony-of-nstda-summer-school-2023.html
วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีรับเกียรติบัตรและปัจฉิมนิเทศ โครงการรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ครูวิทยาศาสตร์ฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยของศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ภาคฤดูร้อน ปี 2566
โดยมี ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมเป็นประธานในพิธีและมอบเกียรติบัตรและปัจฉิมนิเทศ
ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาร่วมเป็นพันธมิตรและให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมโครงการ ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม โดยโครงการได้เปิดโอกาสให้กลุ่มนักเรียนจากห้องเรียนโครงการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การสนับสนุนของ สพฐ. รวมทั้งได้เปิดโอกาสให้ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ด้วยการนำกระบวนการคิด การทำงานตามหลักการวิทยาศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำไปใช้ในชีวิตการเรียน การสอน หรือการศึกษาเพิ่มเติมตามความชอบและความถนัดของตนเองเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักวิจัยอาชีพ รวมไปถึงมีโอกาสที่จะนำความรู้ไปพัฒนาประเทศในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
“โครงการรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ครูวิทยาศาสตร์ ในปี 2566 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 มีนาคม – 3 พฤษภาคม 2566 โดยมีนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกและยืนยันเข้าร่วมโครงการจำนวน 85 คน และมีครูวิทยาศาสตร์ จำนวน 7 คน รวมทั้งหมดมีผู้เข้าร่วมโครงการ 92 คนจาก 53 โรงเรียนทั่วประเทศ นักเรียนและครูจะอยู่ภายใต้การดูแลของนักวิจัย สวทช. ซึ่งจะเป็นพี่เลี้ยงหลักดูแลให้คำปรึกษาให้แก่นักเรียนและครู จำนวน 28 คน และจะมีผู้ช่วยวิจัยในทีมช่วยดูแลเพิ่มเติม จากศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช. นอกจากการฝึกทักษะวิจัย ณ ห้องปฎิบัติการวิจัยแล้ว นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการยังได้ร่วมกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์อื่น ๆ ที่ทางโครงการจัดให้ อาทิ การจัดบรรยายพิเศษในหัวข้อต่าง ๆ ทัศนศึกษานอกสถานที่ นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับนักเรียนและครูที่เข้าร่วมกิจกรรม”
นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 (วช.) กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวอยู่ภายในโครงการส่งเสริมนักเรียน มัธยมศึกษาตอนปลายและครูวิทยาศาสตร์ฝึกทักษะวิจัยภาคฤดูร้อนปี 2566 โดย วช. เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการบ่มเพาะและปลูกฝัง ให้เยาวชนมีใจรักและมีความสนใจในวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมตั้งแต่เยาว์วัย จึงได้ให้การสนับสนุนทุนอุดหนุนการการวิจัยและ นวัตกรรมให้แก่ สวทช. เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564
วช. ขอชื่นชมนักเรียนและครูทั้ง 92 คน ที่เลือกใช้เวลาในช่วงวันหยุด ปิดภาคฤดูร้อนตลอด 7 สัปดาห์ ไขว่คว้าหาความรู้นอกห้องเรียน โดยการสมัครเข้า ร่วมโครงการนี้จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกให้ได้เข้ารับการฝึกทักษะในหัวข้อต่าง ๆ โดย สวทช. ซึ่งมีนักวิจัยที่นับเป็นบุคลากรวิจัยของประเทศที่มีความรู้ความสามารถสูง คอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดอีกทั้งห้องปฏิบัติการวิจัยที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ การวิจัยต่าง ๆ ที่ทันสมัย
จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่นักเรียนและครูจะได้รับประสบการณ์การฝึกฝนทักษะการวิจัยและมีความเข้าใจอาชีพนักวิจัยหรือ นักวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ในการลงมือปฏิบัติจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำวิจัยนั้นย่อมเจอปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งไม่อาจคาดเดาได้ แต่ทุกคนก็ได้พิสูจน์ แล้วว่าสามารถทำได้และผ่านมาได้จนถึงวันที่จบโครงการในวันนี้
ด้าน นางสาวธัญสิริ สุรียะกระจ่าง หรือน้องไข่มุก จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ชลบุรี ตัวแทนเพื่อนในโครงการ ได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ได้เข้ามาทำงานในโครงการจริง ๆ ตัวเองก็ได้รับความรู้และประสบการณ์จากนักวิจัยพี่เลี้ยงมากมายเลย นักวิจัยพี่เลี้ยงทุกคนเป็นกันเองมาก ๆ แต่เมื่อถึงเวลาทำงานก็มีความตั้งใจและจริงจังเป็นอย่างมาก ทำให้ต้องผลักดันตัวเองให้มากขึ้นเพื่อที่จะสามารถช่วยงานพี่ ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อยากเกิดการพัฒนาเป็นอย่างมากราวกับได้เปลี่ยนมาเป็นคนละคนเลย สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่าหนูมีความสุขมากๆเลย ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมค่ายฝึกทักษะวิจัยของ สวทช. ขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนที่ทำให้เกิดค่ายนี้ขึ้น
นายฐิติวิวัฒน์ เท้าอิ่ม หรือน้องพุธโธ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มอดินแดง) อีกหนึ่งตัวแทนเพื่อน ๆ เล่าให้ฟังว่า ในฐานะที่ตัวเองเป็นนักเรียนชั้น ม.ปลาย ที่ได้รับโอกาสให้มาฝึกทักษะวิจัยที่ สวทช. ก็รู้สึกภาคภูมิใจและ ดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาฝึกในสถานที่ที่มีเครื่องมือที่ครบครัน ทำให้เราได้เรียนรู้ได้เต็มที่ และมีนักวิจัยที่มีประการณ์มาคอยช่วยแนะนำและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และยังมีเพื่อน ๆ คุณครู พี่เลี้ยง ที่คอยช่วยเหลือตลอด7สัปดาห์ที่อยู่ที่นี่ ซึ่งความรู้ที่ตัวเองได้รับนั้นสัญญาว่าจะทำความรู้นั้นไปใช้ในทางที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาตัวเอง พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศต่อไป
น้องพุธโธ เล่าเพิ่มเติมว่า ถ้ามองย้อนไปก่อนเข้ามาที่นี่ผมคงคิดว่าการทำวิจัยมันอยู่ไกลตัวเรา แต่พอเข้ามาทำจริง ๆ แล้วการทำวิจัยก็อยู่รอบตัวเราครับ ไม่ว่าจะในการรักษาโรค การใช้ชีวิต ล้วนแล้วแต่เกิดจากการทำวิจัย การที่มีโอกาสได้เข้ามาที่นี่ทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทักษะวิจัยซึ่งบางอย่างมีความยาก ต้องใช้เวลาในการทำด้วย แต่นักวิจัยก็คอยช่วยเหลือตลอด
“การที่ได้มาเจอนักวิจัยที่มีความเชียวชาญ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ได้ทำงานในสถานที่จริง ได้ใช้เครื่องมือจริง ๆ ทำให้ผมรู้ว่านักวิจัยเค้าทำงานกันอย่างไรครับ และนอกจากนั้นการที่ผมมาที่นี่มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือมิตรภาพครับ ตั้งแต่วันแรก ที่ผมเข้ามาที่นี่จนถึงวันนี้ผมได้รู้จักคนเยอะมากครับ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่น้อง หรือแม้แต่นักวิจัยเอง ซึ่งการที่เราต้องอยู่ร่วมกัน กับคนเยอะ ๆ สิ่งที่สำคัญคือการปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันครับ ซึ่งในค่ายนี้ก็มีกิจกรรมมากมายที่ทำให้เราได้สร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจนเกิดคำว่ามิตรภาพขึ้นครับ”