(21 มิ.ย. 2566) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ห้อง CO-113 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนิน “โครงการยกระดับนวัตกรรมธุรกิจสารสกัดผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ/สมุนไพร (ไทย) สู่ตลาดต่างประเทศ ปี 2566-2568”
โดยมุ่งเป้าส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในธุรกิจสมุนไพร เพื่อยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของสารสกัดจากสมุนไพรให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือ “สารสกัดมาตรฐาน (Standardized Extract)” ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน จะสร้างโอกาสและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญภายใต้โครงการนี้
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ปี 2566 สวทช. ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ให้ดำเนินโครงการ “โครงการยกระดับนวัตกรรมธุรกิจสารสกัดผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ/สมุนไพร (ไทย) สู่ตลาดต่างประเทศ ปี 2566-2568” โดย บพข. เป็น Key strategic partner สำคัญในการขับเคลื่อนการนำ วทน. เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านกลไกสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กลไกการพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise; IDEs) ขนาดใหญ่ พร้อมทั้งเอื้ออำนวยให้หน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังทั้งด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ ให้ครอบคลุมและเกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรม
สวทช. มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรผลงานวิจัย ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่าง ๆ เช่น ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ, pilot plant, green house, plant factory รวมทั้งมีเครือข่ายพันธมิตร เพื่อรองรับการยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพร ไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าสูง สวทช. ได้ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง โดยทำหน้าที่เป็นคนกลาง (Intermediary Unit) เชื่อมโยงการทำงานวิจัยพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างผู้ให้บริการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม (Innovation Business Development Service; IBDS) กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสมุนไพร ซึ่งภายใต้โครงการนี้ สวทช.ร่วมกับ IBDs ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ ได้แก่ บริษัท Build A Box จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการนวัตกรรม) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศูนย์ทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา (TBES) สวทช. เพื่อจัดทำแผนพัฒนานวัตกรรม ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นฐานของแต่ละบริษัท เพื่อนำไปใช้เป็นแผนที่นำทางในการยกระดับการสร้างนวัตกรรมของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ทั้ง 6 บริษัท ไปสู่การเป็นองค์กรฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDE) ที่ยั่งยืน
โครงการนี้ฯ เป็นโครงการที่มีแผนการดำเนินงานระยะเวลา 3 ปี สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจสารสกัดผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สมุนไพรไทยที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ให้สามารถนำนวัตกรรมมาใช้ในการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDE) ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจสารสกัดของ SME ไทย สามารถพัฒนาคุณภาพของสารสกัดให้ได้รับมาตรฐานสารสกัด (Standardized Extract) รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้มากขึ้น
จากข้อมูล บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดพบว่า การค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกในปี 2564 มีมูลค่า 54.96 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าการค้าปลีกผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงที่สุด เป็นอันดับ 1 มีมูลค่า 31.93 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ ภูมิภาคอเมริกาเหนือ (8.64 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และภูมิภาคยุโรปตะวันตก (8.62 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย มีมูลค่าสูงถึง 45.64 พันล้านบาท และคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร จะเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี และจะมีมูลค่าสูงถึง 59.5 พันล้านบาท ในปี 2569 มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจและดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
“สมุนไพรไทยเป็นวัตถุดิบที่มีคุณค่า สะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ และภูมิปัญญาของคนไทย มีความโดดเด่นในการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น จึงเป็นอุตสาหกรรมฐานที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น การให้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดแผนพัฒนาธุรกิจให้ชัดเจน รวมถึงงบประมาณในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้ง 6 ราย โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เกิดการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจไปสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDE) จากผู้ผลิตวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นต้นไปสู่การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม ให้สามารถขยายธุรกิจและตลาดได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม การจัดงาน Kick off โครงการฯ ในวันนี้ นับเป็นการก้าวสำคัญในการแสดงความพร้อมของหน่วยงานพันธมิตรที่มุ่งมั่นร่วมมือผลักดันตามแผนงานของโครงการฯ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพร และมีความยั่งยืนตามแนวทาง BCG Economy Model ต่อไป” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษจาก รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในหัวข้อเรื่อง บทบาทของ บพข. ในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการด้วย วทน. นางจินทิรา ยิมเรวัติ วิวัฒน์รัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่ม Innovation Driven Enterprise: IDE บรรยายเรื่อง แผนงาน IDE สนับสนุนผู้ประกอบการไทย สู่องค์กรฐานนวัตกรรม มุ่งเป้ารายได้ 1,000 ล้านบาท ร่วมกับ ภญ.ดวงกมล ภักดีสัตยพงศ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบ กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บรรยายเรื่อง อย. กับการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพร : การพัฒนาและรับรองสารสกัดสมุนไพร และ ดร.สัญชัย เอกธวัชชัย ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. หัวหน้าโครงการ ฯ บรรยายถึงบทบาทของ สวทช. และแผนงานของโครงการยกระดับนวัตกรรมธุรกิจสารสกัดผลิตภัณฑ์ ธรรมชาติ/สมุนไพร (ไทย) สู่ตลาดต่างประเทศ ปี 2566-2568” พร้อมด้วยความคาดหวังโครงการ IDE ในการช่วยยกระดับขีดความสามารถธุรกิจสมุนไพรจากมุมมองผู้ประกอบการ โดย ภก.ศรัณย์ แจ้วจิรา นายกสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร