For English-version news, please visit : NSTDA-NRCT seminar aims to foster research integrity in Thailand
(วันที่ 14 กรกฎาคม 2566) ณ ห้องแมจิก 3 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดประชุมเสวนาเรื่อง “เครือข่ายพันธมิตรภารกิจ Research Integrity”
เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้านจริยธรรมการวิจัยในหน่วยงานของแต่ละสถาบัน ร่วมกันวางกลไกการป้องกันการประพฤติมิชอบทางการวิจัยของประชาคมวิจัยให้กับประเทศ และทิศทางการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต รวมถึงแบ่งปันความรู้ ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมในการทำวิจัยที่ดี โดยมีอธิการบดี ผู้บริหาร ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า จริยธรรมการวิจัย หรือ Research Integrity เป็นเรื่องที่สถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย และองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับงานวิจัยทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ เนื่องจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักเรื่องจริยธรรมการวิจัย จะนำไปสู่การประพฤติมิชอบทางการวิจัย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวงการวิชาการเป็นอย่างมาก อีกทั้งในปัจจุบันเราอาจพบปัญหาการกระทำผิดจริยธรรมการวิจัยในรูปแบบใหม่ ๆ ที่นักวิจัยสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น เช่น การซื้อขายชื่อผู้นิพนธ์ หรือการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในกระบวนการทำวิจัยในลักษณะที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมการวิจัย เป็นต้น
ทั้งนี้ สวทช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและพัฒนาอย่างมีคุณภาพและเป็นไปตามแนวทางจริยธรรมการวิจัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีการสร้างระบบการจัดการเรื่องจริยธรรมการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น การริเริ่มจัดตั้งฝ่ายส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย (The Office of Research Integrity: ORI) เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการวิจัยในด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานให้ถูกต้อง สอดคล้องตามหลักจริยธรรมการวิจัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้มีส่วนร่วมทำหน้าที่ในคณะกรรมการส่งเสริม และสนับสนุนจริยธรรมการวิจัยของประเทศ (Thailand Research Integrity Network: TH-RIN) ซึ่ง สวทช. จะช่วยบริหารจัดการการดำเนินงานต่าง ๆ ของคณะกรรมการ TH-RIN และช่วยสร้างความตระหนักด้านจริยธรรมการวิจัยของประเทศในระยะแรก ก่อนที่จะส่งผ่านภารกิจนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดำเนินการจัดการและดูแลเรื่องจริยธรรมการวิจัยของประเทศต่อไป
ในโอกาสนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมนี้ ได้บรรยายในหัวข้อ “บทบาทของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติกับการพัฒนาเครือข่ายพันธมิตร TH-RIN: Thailand Research Integrity Network” กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีพันธกิจตาม พระราชบัญญัติบริหารราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการจัดทำ มาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย มุ่งที่ จะสร้างความเข้มแข็งด้านมาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรมให้กับประเทศ มีกลไกที่สนับสนุนการดำเนินงานด้าน มาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย ได้แก่จัดทำคู่มือ “จรรยาวิชาชีพวิจัยและ แนวทางปฏิบัติ” และ “คู่มือมาตรฐาน การเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทาง วิชาการ” การจัดฝึกอบรมจรรยาบรรณ วิชาชีพวิจัยให้แก่นักวิจัย สถาบันวิจัย และผู้สนใจทั่วไป และเผยแพร่บนเว็บไซต์สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดทำหลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ เรื่อง มาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย และ อยู่ระหว่างพัฒนาเครือข่ายและ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ด้าน จริยธรรมการวิจัย
“การจัดการประชุมในวันนี้ จะช่วยสร้างความตระหนัก และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน ของ หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่อง จริยธรรมการวิจัยทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การร่วม วิเคราะห์ วางแผน ปรับปรุงกลยุทธ์การ ดำเนินงาน และพัฒนาการกำกับดูแล ด้านจริยธรรมการวิจัยของประชาคม วิจัยให้กับประเทศต่อไป ตลอดจนขยายเครือข่ายความร่วมมือด้าน จริยธรรมการวิจัยในระดับประเทศและระดับนานาชาติ” ดร.วิภารัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริม และสนับสนุนจริยธรรมการวิจัยของประเทศ ได้นำเสนอ (ร่าง) หลักจริยธรรมการวิจัย และการนำไปใช้ในประเทศไทย โดยได้เชิญผู้บริหาร ผู้แทนเครือข่ายพันธมิตรภารกิจ Research Integrity Network จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทั่วประเทศ ตลอดจนนักวิจัย และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการวิจัย ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ(ผ่านระบบออนไลน์) ต่อ (ร่าง) หลักการจริยธรรมการวิจัย: การนำมาใช้ในประเทศไทย (Principles of research ethics: application to Thailand) เพื่อนำความคิดเห็นและประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องมาใช้ประกอบการพิจารณารับรอง (ร่าง) หลักการจริยธรรมการวิจัยฯ ในการประชุม “เครือข่ายพันธมิตร ภารกิจ Research Integrity” ต่อไป
ลิงก์สำหรับดาวน์โหลด (ร่าง) หลักการจริยธรรมการวิจัยฯ: https://drive.google.com/file/d/1CLkCatGrvLa-xZQVST5mH7gCxAF8sTG4/view?usp=sharing