หน้าแรก สวทช. ร่วมกับ บพข. คิกออฟ 2 โครงการ เสริมแกร่งผู้ประกอบการผลักดันสู่เวทีโลก
สวทช. ร่วมกับ บพข. คิกออฟ 2 โครงการ เสริมแกร่งผู้ประกอบการผลักดันสู่เวทีโลก
20 ก.ค. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และ ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

จัดประชุมเริ่มต้นโครงการ “การสร้างการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการไทยในตลาดระดับชาติและระดับโลก” และโครงการ “แปลงร่างธุรกิจสู่การเติบโตสูงด้วยนวัตกรรม”ภายใต้แผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ขนาดใหญ่เป็นการพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้เติบโตผ่านกลไกการสนับสนุนและเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับผู้ให้บริการนวัตกรรมที่เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยมุ่งเน้นกิจกรรมตั้งแต่การประเมินศักยภาพด้านนวัตกรรมและโอกาสในการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โลกในยุคปัจจุบันกำลังเคลื่อนเข้าสู่มิติใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในทุกด้าน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีการยกระดับปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน ให้สามารถไปสู่ธุรกิจที่สร้างคุณค่า (Value-Based Business) และมีการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven) เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความเติบโตและความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจ จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สามารถต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม

ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจจากร้อยล้าน ไปสู่พันล้าน ต้องอาศัยความรู้หลากหลายมิติ ทั้งด้านเทคโนโลยี การตลาด การเงิน และการบริหารจัดการธุรกิจ ผนวกรวมเข้ากับการเชื่อมโยงทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อผลักดันธุรกิจนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในภาพรวมได้

โครงการ “การสร้างการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการไทยในตลาดระดับชาติและระดับโลก” และโครงการ “แปลงร่างธุรกิจสู่การเติบโตสูงด้วยนวัตกรรม” จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมไทย (IDE) ที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการธุรกิจนวัตกรรม ตั้งแต่การประเมินศักยภาพด้านนวัตกรรม ประเมินสถานภาพความพร้อมในการส่งออก การเข้าถึงตลาดในประเทศและต่างประเทศ การเชื่อมโยงธุรกิจและการให้คำปรึกษาเชิงลึกรายบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกิจเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้และส่งผลกับการเติบโตของบริษัทได้อย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2579 และการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ให้เพิ่มขึ้น 1,000 ราย ภายในปี 2570 ตามเป้าหมายประเทศ

รองผู้อำนวยการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สวทช. มีกลไกการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ครอบคลุมในหลากหลายด้าน ตั้งแต่กระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ การตั้งธุรกิจใหม่ การใช้บริการจากการนำนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันก่อให้เกิดการบริการแบบใหม่และการแก้ปัญหาใหม่ (Total solution) ที่มี ความโดดเด่น มีเอกลักษณ์และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างความแตกต่าง (Differentiation) จากผลิตภัณฑ์กระบวนการ บริการและรูปแบบธุรกิจแบบเดิม โดยทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการเสริมสร้างการใช้ประโยชน์จากการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรมของ สวทช. ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช.กล่าวว่า ประโยชน์จากการที่ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ คือการนำนวัตกรรมมาใช้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร และประเทศในภาพรวม เช่น สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สามารถสร้างธุรกิจได้จากงานวิจัยและนวัตกรรม ยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ สร้างความร่วมมือเพื่อแบ่งปันและต่อยอดองค์ความรู้ระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่คุณค่าในรูปแบบของนวัตกรรมแบบเปิด ช่วยให้ระยะเวลาของการพัฒนานวัตกรรมให้รวดเร็วขึ้น สามารถลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านเทคโนโลยีรวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือและร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมาจากการกำหนดโจทย์นวัตกรรมจากความต้องการจริง เป็นการปรับตัวเพื่อให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดำเนินการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ เชื่อมโยงและบูรณาการความร่วมมือภายใต้บริบทใหม่ของระบบนิเวศนวัตกรรมของท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศได้

“ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โดยฝ่ายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมภาคเอกชน (ITAP) ซึ่งมีประสบการณ์การวิเคราะห์ความต้องการของผู้ประกอบการโดยผู้เชี่ยวชาญ กว่า 18,000 ราย มีการให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านพัฒนาเทคโนโลยีของ SMEs กว่า 13,000 ราย และ ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี  (BIC) ซึ่งมีประสบการณ์การวิเคราะห์ Business Model มาแล้วกว่า  3,000 Model บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี มาแล้วกว่า 1,300 ราย นับว่ามีความพร้อมอย่างที่สุดในการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม ซึ่งต้องอาศัยทีมงานที่มีทักษะสูง มีที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญที่จะเข้าไปช่วยวิเคราะห์ว่าสิ่งใดคือปัจจัยหลักของธุรกิจนั้น มีนักวินิจฉัยธุรกิจเข้าไปประเมินสถานภาพของกิจการให้รู้จุดแข็ง จุดอ่อนที่แท้จริงของบริษัท จึงสามารถปิดช่องว่างและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการได้ตรงจุด ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายของโครงการ อีกทั้ง ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ยังมีเครือข่ายและพันธมิตรด้านการบ่มเพาะทั้งในเอเชีย ยุโรปและ อเมริกา ดังที่ผ่านมาได้นำ Startup ไทยออกสู่ตลาดสากลและจดทะเบียนขยายบริษัทไปยังประเทศต่าง ๆ ได้

โดยทั้งหมดนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการเสริมสร้างการใช้ประโยชน์จากการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย นวัตกรรม และกลไกของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”ดร.อดิสร กล่าวทิ้งท้าย

กิจกรรมภายในงานมีการบรรยายพิเศษเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อยกระดับ SMEs สู่การเป็นธุรกิจฐานนวัตกรรม โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในหัวข้อ “ยกระดับ SMEs สู่บริษัทฐานนวัตกรรม 1,000 ล้าน x 1,000 ราย” ดร.จันทร์ฉาย พิทักษ์อรรณพ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า EXIM BANK บรรยายเรื่อง “ขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตสูงด้วยนวัตกรรม กุญแจความสำเร็จสู่ตลาดโลก” และบรรยายพิเศษโดยคุณ Clarence Tan กรรมการผู้จัดการบริษัท ORIGGIN Pte. Ltd. ประเทศสิงคโปร์ ในหัวข้อ “Speed up your business growth to global market”

ทางด้านโครงการ “การสร้างการเติบโตของธุรกิจฐานนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการไทยในตลาดระดับชาติและระดับโลก” ดร.ณัฐกา สิงหวิลัย รองผู้อำนวยการ ฝ่ายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมภาคเอกชน (ITAP) สวทช. ได้ชี้แจงกิจกรรมและแผนงานโครงการให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจและการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมร่วมแนะนำรายละเอียดการจัดกิจกรรมในโครงการให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการต่อไป

และโครงการแปลงร่างธุรกิจสู่การเติบโตสูงด้วยนวัตกรรม นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. (BIC) แนะนำกิจกรรมให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดแผนการดำเนินงาน และข้อปฏิบัติในโครงการ พร้อมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และวางแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเชิงนวัตกรรม ร่วมให้คำแนะนำให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมในการายกระดับธุรกิจจากร้อยล้านสู่พันล้าน

20 ก.ค. 2566
0
แชร์หน้านี้: