For English-version news, please visit : NSTDA engages in STS forum 2023, strengthening Thailand’s STI
น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทีมผู้บริหารและนักวิจัยของกระทรวง อว. เข้าร่วมการประชุมผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลก (Science and Technology in Society: STS forum) ภายใต้กรอบแนวคิด “Lights and Shadows of Science and Technology” ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2566 ชูปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายและร่วมกันแก้ไขปัญหาในระดับมหภาค เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความพยายามลดการปล่อย CO2 จนถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง การจะก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาคมโลก ใช้ วทน. เป็นเครื่องมือ โดย อว. เอง พร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศ เพิ่มศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เป็นตัวกลางเชื่อมภาควิชาการและอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนากำลังคนมารองรับ
ในการประชุมดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ได้เป็นผู้ติดตาม รมว.อว. ให้เข้าร่วมสนับสนุนข้อมูลในการประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T Ministers’ Roundtable Meeting) ครั้งที่ 20 ซึ่งเป็นการหารือด้าน “Open Science and International Brain Circulation” นอกจากนั้น ศ.ดร.ชูกิจ ยังได้เป็นผู้ติดตามในการหารือทวิภาคีกับผู้บริหารของ Japan Science and Technology Agency (JST) ประเทศญี่ปุ่นและ Agency for Science, Technology and Research (A*STAR) ประเทศสิงคโปร์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาและการพัฒนากำลังคน ซึ่งจะเสริมความเข้มแข็งซึ่งกันและกัน
การประชุมทวิภาคีร่วมกับ JST เป็นการแลกเปลี่ยนหัวข้อความสนใจและผลักดันความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างไทยและญี่ปุ่น ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องต่อการพัฒนาประเทศ เช่น พลังงานสีเขียว (green energy) การเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ (pandemic) รวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการจัดการข้อมูล (big data) โดย สวทช. ได้เน้นย้ำการสนับสนุนโครงการ East Asia Science and Innovation Area Joint Research Program (e-ASIA JRP) ที่มีสำนักงานเลขานุการโครงการตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ในขณะที่การประชุมทวิภาคีกับ Agency for Science, Technology and Research (A*STAR) ประเทศสิงคโปร์ ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวโน้มงานวิจัยของไทยและสิงคโปร์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในด้านภาษาศาสตร์ที่ สวทช. และ A*Star อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีการแปลภาษาซึ่งสนใจร่วมมือพัฒนาต่อยอด นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ยังเน้นย้ำการสนับสนุนความร่วมมือโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. ที่สนับสนุนทั้งงานวิจัยและภาคอุตสาหกรรม ทั้ง High Performance Computing (HPC) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ, Biorefinery Pilot Plant ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ณ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และงานวิจัยด้านพลังงาน ซึ่งจะได้มีการหารือกันต่อไป
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สวทช. ยังได้เข้าร่วมในการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในงาน STS Forum อาทิ การหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารหน่วยงานวิจัยทั่วโลกในเวที 12th Global Summit of Research Institute Leaders (RIL 2023) การได้รับเกียรติให้บรรยายในเวที Cooperation in S&T: Collaboration among Academia, Industry and Government ซึ่ง สวทช. ได้เน้นย้ำการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆ โดยยกตัวอย่าง เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ที่ สวทช. ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้เป็นผู้เชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม และการเข้าร่วมประชุม The 13th Funding Agency Presidents’ Meeting (FAPM) ที่เป็นการประชุมระดับนโยบายของหน่วยงานให้ทุนวิจัย ซึ่ง สวทช. เข้าร่วมในมุมมองหน่วยงานที่ประสบการณ์การบริหารจัดการทุนวิจัย
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า “ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมไปถึงการทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติ เพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาดใหม่ วิกฤติด้านพลังงาน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน การนำทีมประเทศไทยโดยท่านรัฐมนตรีฯ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ สวทช. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมการประชุมเป็นอย่างมาก หน่วยงานพันธมิตรที่ สวทช. มีความร่วมมือมาเป็นเวลานานอย่างเช่น JST และ A*Star ได้รับทราบและเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลไทยในการทำงานเพื่อความยั่งยืนร่วมกัน อาทิ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่กำหนดวิสัยทัศน์ในการสร้างการเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืนและมีคุณภาพด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคน โดยรักษาสมดุลการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อบรรลุต่อเป้าหมายของ SDGs รวมไปถึงการร่วมจัดเตรียมนักวิจัยของเราและพันธมิตร ด้วยทักษะและความเชี่ยวชาญที่จำเป็น และมีความสนใจร่วมกัน เช่น Biorefinery Pilot Plant, High-performancecomputing (HPC), Artificial intelligence (AI), Sustainable Manufacturing Center (SMC) ซึ่ง สวทช. ในฐานะขุมพลังหลักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย จะได้ดำเนินการตามกรอบความร่วมมือของการประชุมร่วมกันในครั้งนี้ต่อไป”