หน้าแรก ผอ.สวทช. ร่วมเปิดงาน SynBio Consortium Advancing the Game Changer 2023 สร้างจุดเปลี่ยน และโอกาสใหม่ทางอุตสาหกรรม
ผอ.สวทช. ร่วมเปิดงาน SynBio Consortium Advancing the Game Changer 2023 สร้างจุดเปลี่ยน และโอกาสใหม่ทางอุตสาหกรรม
10 พ.ย. 2566
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(10 พฤศจิกายน 2566) ณ ห้อง Mayfair Grand Ballroom โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ – 22 หน่วยงาน ภายใต้ภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทย (Thailand Synthetic Biology Consortium) ร่วมจัดงานประชุม SYNBIO Consortium ประจำปี 2566 หัวข้อ Advancing the ‘Game Changer’ โดยมุ่งหวังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology Technology) ของหลายภาคส่วน เช่น ภาคเอกชนทั้งที่เป็น start up และขนาดใหญ่ ภาครัฐที่มีบทบาทกำหนดนโยบาย การส่งเสริมกำลังคน และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับ เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ กิจกรรมพบปะพูดแลกเปลี่ยนระหว่าง startup ผู้สนับสนุน นักลงทุนด้าน SynBio ตลอดจนบูทแสดงผลิตภัณฑ์ด้าน SynBio โดยมี คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดงาน ร่วมด้วย ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักวิจัยไบโอเทค นำโดย ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ร่วมในงาน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า งานประชุมภาคีเครือข่ายด้านชีววิทยาสังเคราะห์ ประจำปี พ.ศ. 2566 หรืองาน SynBio Cosirtium จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ในหัวข้อ Advancing the ‘Game Changer’ เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันอุตสาหกรรมชีวภาพให้เกิดขึ้นในประเทศและเป็นไปได้อย่างยั่งยืน โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และบรรจุใน ONE FTI เพราะนอกเหนือจากกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม คือ First Industry จากเกษตรกรรมมาอุตสาหกรรม แล้ว ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ คือ Next Gen Industry เช่น BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์นับเป็นแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนไปทางเดียวกัน ซึ่ง ส.อ.ท. มีนโยบาย BCG in action ด้วยการตั้งโครงการสำคัญนำร่องใน 8 อุตสาหกรรม เช่น การนำไบโอมาทำยารักษาโรค ไบโอพลาสติก เครื่องสำอาง เครื่องใย สิ่งทอ เชื้อเพลิง ไบโอเคมีคอล และไบโอฟู้ด เป็นต้น ซึ่ง 8 อุตสาหกรรมนำร่อง ได้มีการนำเอาภาค demand กับ supply มาเจอกัน โดย ส.อ.ท. เชื่อว่า การรวมพลังกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ รวมถึงทุกภาคส่วน จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจได้ และคาดหวังให้งานนี้จะช่วยพลิกโอกาสของโลกและวิกฤตต่าง ๆ ให้เป็นของประเทศไทย เป็น game changer ตัวจริงได้ต่อไป

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า Synthetic Biology เป็นแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังมาแรงในกระแสโลก ที่ช่วยลดการพึ่งพาวิถีการทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การผลิตแบบดั้งเดิมที่ใช้พื้นที่และทรัพยากรมหาศาล ที่สุดท้ายก่อให้เกิดขยะ มลพิษ และผลกระทบอื่น ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมจนเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดภาวะโลกรวน ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชน ในนามภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทย (Thailand Synthetic Biology Consortium) ได้ร่วมมือกัน โดยปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ทำให้เกิดกิจกรรมจากการดำเนินงานเชิงรุกภายในเครือข่าย อาทิ การสร้าง SynBio Academy เพื่อสร้างกำลังคนทั้งรูปแบบ degree และ non-degree ป้อนเข้าสู่สถาบันวิจัยและภาคอุตสาหกรรมการลงทุนหน่วยรับจ้างพัฒนาและผลิตระดับอุตสาหกรรม (Contract Development and Manufacturing Organization: CDMO) การจัดทำแผนพัฒนา Biofoundry โครงสร้างพื้นฐานด้าน SynBio และการทำ Business Matching ภายในเครือข่ายเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยี SynBio ในกลุ่ม Biorefinery และการแพทย์ งานนี้นับเป็นงานที่มาร่วมอัพเดทความรู้ และมาสร้างเครือข่ายนักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในประเทศได้ และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมชีววิทยาบนฐาน BCG นอกจากนี้ สวทช. กำลังดำเนินโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ในเขตนวัตกรรมพิเศษ EECi ด้วยเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเชื่อมโยงกับ SynBio Cosirtium ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ดร.วรรณพ ผอ.ไบโอเทค ร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรเสวนาเรื่อง โอกาสของธุรกิจด้านชีววิทยาสังเคราะห์ ช่วงที่ 3: การสนับสนุนจากภาครัฐ และ ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผอ.กลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ให้ข้อมูล เรื่อง Advancing Synbio with Biorefinery Pilot Plant by NSTDA

จากผลประชุมในครั้งนี้จะช่วยขยายเครือข่ายทั้งในกลุ่มมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชน และภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เกิดกิจกรรมที่มีส่วนร่วมระหว่างองค์กรในเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และสร้างความความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ของประเทศ เพื่อยกระดับงานวิจัยและดึงดูดการลงทุนด้าน SynBio ในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่เวทีระดับนานาชาติได้อย่างยั่งยืน

10 พ.ย. 2566
0
แชร์หน้านี้: