หน้าแรก สวทช.-สกสว. ตอบรับ DITP นำผู้ประกอบการสินค้านวัตกรรมกลุ่มอาหารแสดงผลงานใน THAIFEX 2019 สร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจสู่สากล
สวทช.-สกสว. ตอบรับ DITP นำผู้ประกอบการสินค้านวัตกรรมกลุ่มอาหารแสดงผลงานใน THAIFEX 2019 สร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจสู่สากล
31 พ.ค. 2562
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยฝ่ายอุตสาหกรรม นำผู้ประกอบการในโครงการ “การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง” จำนวน 24 ราย ร่วมนำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมบริเวณบูธ Innovation Pavilion สวทช.-สกสว.

ภายในงาน THAIFEX 2019 ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2562 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมด้านอาหารของไทยได้แสดงผลงาน สร้างเวทีเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อทั่วโลก พร้อมเปิดโอกาสจำหน่ายสินค้าและบริการต่างๆ ต่อยอดธุรกิจสู่ตลาดสากล

นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการ “การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง” ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของ สวทช. และ สกสว. เพื่อร่วมกันสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และสุขภาพ ตั้งแต่ปี 2559 – 2561 พบว่า มีไม่น้อยกว่า 186 โครงการ โดยในปี 2561 มีการพาผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 24 รายออกบูธในโซน Food Innovation Pavilion งาน THAIFEX 2018 ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสทดลองตลาด รวมถึงขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศได้ ซึ่งผลจากยอดขายในงานมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 83 ล้านบาท

  

ซึ่ง สวทช. มุ่งมั่นจะสนับสนุนผู้ประกอบการให้ขับเคลื่อนบนฐานนวัตกรรมหรือ Innovation-driven Enterprise (IDE) เพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านกลไกบริการสนับสนุนที่ครบวงจรของในหลายส่วน โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) เป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนอย่างครบวงจร ตั้งแต่พัฒนาการผลิตในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาเสริมให้แข่งขันและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ ที่สามารถต่อยอดและขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้ โดยมีกิจกรรมต่างๆ ที่เสริมผู้ประกอบการทั้งงบประมาณสนับสนุนการวิจัยพัฒนา การสนับสนุนด้านการตลาดสินค้านวัตกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง สร้างรายได้ และมีการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการด้านเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระบุถึงการดำเนินโครงการว่า ในภาพรวมปัญหาที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและที่เกี่ยวข้องต้องการพัฒนา พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีนักวิจัย หรือ R&D ในโรงงาน ทำให้ไม่สามารถพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมออกมาได้ อีกทั้งยังขาดการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาหารมาช่วยในการแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิต ขาดการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่จะช่วยพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างจากกท้องตลาด อายุการเก็บสินค้าสั้น ขาดโอกาสทางการตลาด และการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการใส่แนวคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์

  

ดังนั้น สกสว. จึงร่วมกับ สวทช. จัดทำโครงการการยกระดับและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME เพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรมด้วยการใช้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารร่วมกับการบูรณาการความรู้ในการด้านการตลาดควบคู่ไปกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนถึงการให้ทุนในการขยายกำลังการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ และผลักดันสินค้าไปสู่การจัดจำหน่ายจริงในเชิงพาณิชย์ โดย สกสว. จะสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการ SME ในการใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี กระบวนการผลิต และพัฒนาสินค้านวัตกรรมโดยให้ทุนไปยังนักวิจัยในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมและผลักดันให้เกิดการจัดจำหน่ายได้จริงในเชิงพาณิชย์

น.ส.ประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก ในแต่ละปีประเทศไทยสามารถส่งออกอาหารนำเงินเข้าประเทศได้มหาศาล ปีที่ผ่านมาสามารถทำรายได้จากการส่งออกอาหารถึง 1 ล้านล้านบาท และในปีนี้ด้วยปัจจัยเอื้อหลายๆ ด้าน จึงคาดการณ์ว่าจะส่งออกเพิ่มเป็น 1.05 ล้านล้านบาท ซึ่งทุกภาคส่วนได้มีการส่งเสริมในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับการจัดงาน THAIFEX-World of Food ASIA 2019 ที่นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของภาครัฐที่จะผลักดันให้รายได้จากการส่งออกอาหารเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการจัดงานที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าซื้อขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท

  

“กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีการดำเนินงานในด้านบูรณาการกับหน่วยงานนวัตกรรมในหลายๆ โครงการ เช่น การส่งเสริมการสร้างความรู้ในการต่อยอดสินค้านวัตกรรมสู่การตลาด การพัฒนาสินค้าให้สินค้านวัตกรรมมีรูปแบบสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในระดับสากล รวมทั้งการต่อยอดสินค้าที่ได้รับการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ โดยสร้างโอกาสและช่องทางต่างๆ ให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น นับเป็นโอกาสอันดีที่กรมฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับ สวทช. และ สกสว. ในการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมอาหารในงาน THAIFEX ครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมอาหารได้แสดงงาน เปิดโอกาสเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อทั่วโลกในงาน นอกจากนี้กรมฯ ยังมีกิจกรรมที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมร่วมงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกรมฯ มีหน่วยงานเครือข่ายซึ่งเป็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศกว่า 60 แห่งทั่วโลก”

สำหรับผู้ประกอบการสินค้าและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในโครงการฯ ที่ร่วมนำผลงานมาแสดงบริเวณบูธ Innovation Pavilion สวทช.-สกสว. ภายในงาน THAIFEX 2019 ประกอบด้วยหลายผลงาน อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเนื้ออกไก่อบกรอบ การศึกษาการผลิตน้ำนมอัลมอนด์ผง การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตน้ำแกงส้มที่ผ่านการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งสู่เชิงพาณิชย์ การพัฒนาน้ำฟักทองชนิดผงกึ่งสำเร็จรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองอัดเม็ด การพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพจากเห็ดนางฟ้า และการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาแซลมอนผง เป็นต้น

31 พ.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: