หน้าแรก ประกาศแล้ว รางวัลโครงงานนักวิทย์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 26 ได้ 5 ผลงานคว้าชัย เป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมแข่งโครงงานวิทย์ฯ เวทีโลก
ประกาศแล้ว รางวัลโครงงานนักวิทย์รุ่นเยาว์ครั้งที่ 26 ได้ 5 ผลงานคว้าชัย เป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมแข่งโครงงานวิทย์ฯ เวทีโลก
3 มี.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

(3 มีนาคม 2567) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จ.ปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมประกาศผลการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 26 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นประธานมอบรางวัล พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรร่วมงาน ได้แก่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คุณศักดิ์สิทธิ์ ปิติพงศ์สุนทร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายงานฝ่าย CSR Project ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หัวหน้าศูนย์ประสานงานโครงการ YSC ทั้ง 6 แห่งทั่วทุกภูมิภาค คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นักเรียน อาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ปกครอง เข้าร่วมงานลุ้นการประกาศผลการประกวดดังกล่าว

โดยผู้ชนะการการประกวดโครงงานของนักวิทย์รุ่นเยาว์ หรือ YSC ในปีนี้จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ และเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมนานาชาติ Regeneron ISEF 2024 ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ที่สหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ทำงานกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงาน จัดโครงการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เป็นปีที่ 26 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาให้มีโอกาสแสดงความสามารถและทักษะที่เป็นนวัตกรรม และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ พร้อมทั้งคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรมในระดับนานาชาติ Regeneron International Science and Engineering Fair และการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์นานาชาติอื่นๆ

สำหรับในปี 2567 เป็นการดำเนินโครงการ YSC ครั้งที่ 26 มีโครงงานสมัครเข้าร่วม จำนวน 1,933 โครงงาน นักเรียนจำนวน 4,711 คน ครูที่ปรึกษา จำนวน 1,161 คน จาก 243 โรงเรียน มีโครงงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการทำโครงงาน จากศูนย์ประสานงานภูมิภาค จำนวน 6 แห่ง รวมทั้งสิ้น 284  โครงงาน ได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาค จำนวน 63 โครงงาน นักเรียน จำนวน 157 คน ครูที่ปรึกษา 95 คน จาก 37 โรงเรียน ซึ่งการประกวดรอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาผลงานมีรางวัล ได้แก่

รางวัลชนะเลิศ จำนวน 3 รางวัล
1.โครงงานจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์ โครงงานการพัฒนาหุ่นยนต์ปีนป่ายเสาทรงกระบอกเลียนแบบกิ้งกือโดยใช้การหมุนของล้อไมโครสไปน์

ผู้พัฒนา  นายนราวิชญ์ ตันติพิทักษ์โชติ และนางสาวเปมิกา ฟง
อาจารย์ที่ปรึกษา นายศรัณย์ นวลจีน และนายเกรียงกมล สว่างศรี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง

2.โครงงานจากสาขา ชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพโครงงาน เอนไซม์ขนาดเล็กเพื่อการย่อยสลายพลาสติกพอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET)
ผู้พัฒนา นางสาววิรัลพัชร จิรัฐิติเจริญ นางสาวปวรวรรณ ไชยวงศ์  และนางสาวอภิปรียา ปวบุญสิริวงศ์
อาจารยที่ปรึกษา นางสาวอาจรีย์ ธิราช โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง และนายชยสิทธิ์ อุตมาภินันท์ สถาบันวิทยสิริเมธี

3.โครงงาน จากสาขาเคมีโครงงานการศึกษาคุณสมบัติและความหนาที่เหมาะสมของชั้นน้ำที่ก่อตัวบนพื้นผิวทองคำเชิงทฤษฎีโดยการจำลองพลวัตและกลศาสตร์เชิงโมเลกุลตามแบบกลศาสตร์ดั้งเดิมเพื่อการประยุกต์ใช้สำหรับการศึกษาเคมีเชิงดาราศาสตร์
ผู้พัฒนา นายวรชน พรหมชัยศรี  และนายจิรทิปต์ เจตน์มงคลรัตน์
อาจารย์ที่ปรึกษา นายอุกฤษ เกเย็น โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง และนางสาวปิยรัตน์ นิมมานพิภักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รางวัลที่ 1 จำนวน 8 รางวัล

รางวัลที่ 2 จำนวน 9 รางวัล

และรางวัลชมเชย จำนวน 15 รางวัล

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จำนวน 3 ทีม จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ ซึ่งมีกำหนดรับมอบถ้วยพระราชทานฯ ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NAC2024) ในวันที่ 29 มีนาคม 2567 พร้อมทั้งนักเรียนจะได้รับการพัฒนาต่อยอดโครงงานวิทยาศาสตร์ ภายใต้การดูแลจากนักวิจัย สวทช. ตลอดระยะเวลา 2 เดือน ก่อนการเดินทางไปประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ในเวที Regeneron ISEF 2024 ณ เมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 11-17 พฤษภาคมนี้

“ผมขอแสดงความยินดีกับทุกๆทีม และขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินโครงการในครั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการรวมทั้งทุนสนับสนุนผลงานของนักเรียน และขอขอบคุณธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนงบประมาณในการจัดส่งผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดในเวที Regeneron ISEF และเวทีนานาชาติอื่นๆ  ขอขอบคุณกรรมการทุกท่านที่ให้คำแนะนำต่างๆที่เป็นประโยชน์ ขอบคุณครูที่ปรึกษาที่สละเวลาในการดูแลนักเรียน นักเรียนทุกท่านที่มุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาผลงาน ที่สำคัญขอขอบคุณศูนย์ประสานงานภูมิภาค โครงการ YSC ทั้ง 6 แห่ง และทีมงานที่ร่วมกันดำเนินโครงการจนสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ สวทช. และ ศูนย์ประสานงานภูมิภาค ยังมีรางวัลพิเศษ จำนวน 12 รางวัล  ได้แก่

  1. รางวัลพิเศษนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว สนับสนุนโดย สวทช.
  2. รางวัลพิเศษนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ สนับสนุนโดย สวทช.
  3. รางวัลพิเศษนวัตกรรมรักษ์โลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สนับสนุนโดย สวทช.
  4. รางวัลพิเศษนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน สนับสนุนโดย สวทช.
  5. รางวัลพิเศษนวัตกรรมด้านการแก้ปัญหาร่วมสมัย สนับสนุนโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  6. รางวัลพิเศษนวัตกรรมเพื่อสังคม สนับสนุนโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  7. รางวัลพิเศษนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาซีวิตอย่างยั่งยืน สนับสนุนโดย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  8. รางวัลพิเศษนวัตกรรมดีเด่น สนับสนุนโดย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  9. รางวัลพิเศษเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาท้องถิ่น สนับสนุนโดย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  10. รางวัลพิเศษนวัตกรรมท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สนับสนุนโดย มหาวิทยาลัยนเรศวร
  11. รางวัลพิเศษเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสังคม สนับสนุนโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (2 รางวัล)

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมแข่งขันที่เข้ารอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาค นอกจากกิจกรรมการประกวดแข่งขันแล้ว โครงการฯ ได้มีการจัดอบรมเสริมทักษะให้กับนักเรียน และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน พร้อมทั้งนำเยาวชนโครงการ YSC ร่วมสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงและยกระดับการพัฒนาผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

“การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ สวทช. ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตามพันธกิจในการสร้างและพัฒนาบุคลากรวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนวัตกร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินกิจกรรมในหลากหลายระดับ ตั้งแต่นักเรียนอนุบาล มัธยมศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงครูที่ปรึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความรักและสนุกกับการเรียนวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยรูปแบบการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์หลากหลายรูปแบบ เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ การฝึกอบรมและสัมมนา ตลอดจนกิจกรรมประกวดแข่งขัน เหมือนเช่นในครั้งนี้” ดร.พัชร์ลิตา กล่าวทิ้งท้าย

3 มี.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: