หน้าแรก สวทช. ติวเข้มยกระดับ-เพิ่มศักยภาพหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ The Right Way to Mature Incubator
สวทช. ติวเข้มยกระดับ-เพิ่มศักยภาพหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ The Right Way to Mature Incubator
21 มี.ค. 2567
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ The Right Way to Mature Incubator ภายใต้โครงการยกระดับขีดความสามารถหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ ประจำปี 2566 (Maturity Model for Business Incubator) เพื่อสร้างและพัฒนากระบวนการบ่มเพาะธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลักดันธุรกิจเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยมี ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์  รองผู้อำนวยการ สวทช. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน
พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ คุณภูสิษฐ์  จาตุรงคกุล ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาดและการสร้างแบรนด์  และ คุณสุลีพร ราชพลสิทธิ์ Certified Marketing Consultant & Business Incubator คุณพรเทพ สัมมากสิพงศ์ ผู้จัดการหน่วยงานสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ Ajinomoto Co., (Thailand) Ltd. คุณธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J Ventures) และ น.สพ.สนัด วงศ์ทวีทอง รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (สวทช.)

ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์  รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการใหม่และพัฒนาผู้ประกอบการเดิม ช่วยสร้างธุรกิจนวัตกรรม ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ พัฒนาเข้าสู่ระบบการคุ้มครองและการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ บริการผู้ประกอบการใหม่อย่างเป็นระบบและครบวงจร พัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการใหม่ที่ผ่านกระบวนการบ่มเพาะวิสาหกิจนั้น จะสามารถลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในระยะแรก เช่น ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าใช้จ่ายในการเสริมศักยภาพทางธุรกิจและเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีโอกาสรอดสูงและเติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนมีการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรม ดังนั้นในหลายประเทศจึงเลือกใช้หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเพื่อสนับสนุน สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ  ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราความล้มเหลวในช่วงแรกของการจัดตั้งธุรกิจ ทำให้เติบโตอย่างมั่นคง รวมถึงบริษัทที่อยู่ระหว่างการดำเนินธุรกิจที่ต้องการให้ธุรกิจขยายตัวอย่างมีทิศทาง อีกทั้งยังเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจโดยมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐาน

คุณศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า โครงการจะนำโมเดลการพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Maturity Model) ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลจากความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดำเนินการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม

หน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ได้แก่ สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักอุทยานวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา และ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมถึงบุคลากรจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวม 25 คน

 

21 มี.ค. 2567
0
แชร์หน้านี้: