ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงถือเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกในปัจจุบัน โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย โดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ร่วมกับอาจารย์และนักวิจัยในโครงการพัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดกิจกรรม “The Beauty of Solar Power” ให้กับเด็กและเยาวชนในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EECi) จำนวน 40 คน เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สนุกและท้าทายเกี่ยวกับเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ แหล่งพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวว่า กิจกรรม “The Beauty of Solar Power” ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ พัฒนาทักษะการสังเกต รู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเองผ่านกิจกรรมการทดลองสนุก ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็เป็นการปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนเพื่อช่วยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
กิจกรรม “The Beauty of Solar Power” เริ่มต้นด้วยการบรรยายเรื่องพลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีมากที่สุดในโลกและเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ดีต่อโลก โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในโครงการการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ประจำปี 2559 ทำให้รู้ว่าการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และ “โซลาร์เซลล์” พลังงานจากแสงอาทิตย์ จะเป็นต้นแบบการรักษ์โลกอย่างยั่งยืนในอนาคต
จากนั้นเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้กิจกรรมการทดลองโดยแบ่งเด็ก ๆ ออกเป็น 4 กลุ่มสลับกันเรียนรู้ใน 4 ฐานกิจกรรม ได้แก่ ฐานกิจกรรมที่ 1 “การปรับปรุงภาวะการเปียกของพื้นผิว (surface wettability) ด้วยเครื่อง UV ozone และการทดสอบ contact angle” ฐานกิจกรรมนี้ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการชอบน้ำและการไม่ชอบน้ำของวัสดุต่าง ๆ เช่น กระจก แผ่นเหล็ก จอกแหน เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักการผลิตสารเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์ ที่จะปรับค่ามุมสัมผัสของน้ำบนวัสดุ (water contact angle) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการลดการเกาะของฝุ่นให้แก่พื้นผิว และให้ทำให้มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ โดยของเหลวที่ตกกระทบพื้นผิววัสดุที่ผ่านการเคลือบ จะมีลักษณะเป็นก้อนกลมกลิ้งไหล พอน้ำไม่มาติดจับวัสดุ สิ่งสกปรกรวมทั้งแบคทีเรียที่มากับน้ำก็จะไม่มาติดจับวัสดุด้วยเช่นกัน
ฐานกิจกรรมที่ 2 “การผลิตฟิล์มบางเพอรอฟสไกต์” เด็ก ๆ จะได้ทดลองทำแผ่นโซลาร์เซลล์เอง ด้วยวิธีการทำฟิล์มบางเพอรอฟสไกต์สีต่าง ๆ จากกระบวนการเคลือบสารละลายเพอรอฟสไกต์ด้วยเครื่องหมุนเหวี่ยง
ฐานกิจกรรมที่ 3 “การทดสอบการดูดกลืนแสงของโซลาร์เซลล์สีต่าง ๆ” ฐานกิจกรรมนี้ จะให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้คุณสมบัติของโซลาร์เซลล์และการดูดกลืนแสงสีต่าง ๆ ในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น และรู้จักวิธีนำไปประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ ด้วย
ฐานกิจกรรมที่ 4 “เรียนรู้สิ่งสำคัญของการทดสอบความสัมพันธ์กระแส-แรงดัน (I-V Curve) สำหรับระบบโซลาร์เซลล์” ฐานกิจกรรมนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจวัดและทดสอบแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง โดยเด็ก ๆ จะได้ทดลองตรวจวัดประสิทธิภาพของซิลิกอนโซลาร์เซลล์ด้วย
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้น้อง ๆเยาวชน ได้เรียนรู้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ศึกษาหาความรู้ สังเกต ตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตัวเอง ผ่านกิจกิจกรรมฐานความรู้ต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญกับการพัฒนาศัพยภาพและทักษะของเยาวชนในยุคปัจจุบัน
นางสาวกัลยากร มีใจดี นักเรียนชั้น ม. 5 โรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทยา) กล่าวว่า ได้ความรู้เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์มากขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์สร้างขึ้นอย่างไร ประทับใจอาจารย์และนักวิจัยผู้ให้ความรู้ทุกท่าน มีประสบการณ์อย่างชำนาญและตอบทุกข้อสงสัยที่นักเรียนถาม มีความตั้งใจในการให้ความรู้ มีกิจกรรมการทดลองที่หลากหลาย และเข้าถึงได้ง่ายและเป็นกันเอง
เด็กหญิงธมลวรรณ พสุพงศธร นักเรียนชั้น ม. 2 โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา กล่าวว่า ชอบกิจกรรมที่ได้ทำไปในวันนี้ ได้รับความรู้เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์มากขึ้นและสามารถนำไปศึกษาเพิ่มเติมได้ และจะนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาและทำกิจกรรมวันนี้ไปเผยแพร่ให้กับคนอื่นด้วย นอกจากนี้ยังได้รู้แนวทางในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยต่อไปด้วย
ทั้งนี้หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในรูปแบบดังกล่าว และหัวข้ออื่น ๆ ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. ติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 02 564 7000 ต่อ 77215 , 77207 , 77288 หรือทางแฟนเพจ https://www.facebook.com/sciencecamp.fanpage