หน้าแรก 10 Technologies to Watch 2024: แฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ (Digital Twin in Healthcare)
10 Technologies to Watch 2024: แฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ (Digital Twin in Healthcare)
8 ส.ค. 2567
0
ข่าว
ข่าวประชาสัมพันธ์
นานาสาระน่ารู้
บทความ

 

จะดีกว่าหรือไม่หากในอนาคตเมื่อเราเจ็บป่วย จะรู้ผลการรักษาก่อนเข้ารับการรักษาจริงได้ เลือกรับวิธีการรักษาที่เหมาะกับเราที่สุดได้  หรือกระทั่งทราบถึงความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ ได้ล่วงหน้า เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือเตรียมพร้อมเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที ภาพฝันเหล่านั้นเป็นจริงได้ด้วยแฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ (Digital Twin in Healthcare)

 

 

เทคโนโลยีแฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ คือ ระบบที่ทำหน้าที่ดึงฐานข้อมูลดิจิทัลของผู้ป่วย เช่น ข้อมูลประวัติการตรวจสุขภาพและเข้ารับการรักษากับสถานพยานพยาบาล ข้อมูลดิจิทัลที่ผู้ป่วยบันทึกพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อสุขภาพ ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่ได้จากการตรวจวัดและบันทึกข้อมูลอัตโนมัติผ่านอุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ เช่น สมาร์ตวอตช์ มาประมวลผลร่วมกับฐานข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อให้การตรวจ รักษา และพยากรณ์โรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

การมีฐานข้อมูลของผู้ป่วยที่มีความจำเพาะมาประมวลผลร่วมกับฐานข้อมูลทางการแพทย์จะก่อให้เกิดประโยชน์ถึง 4 ด้านใหญ่ ด้านแรกคือการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค ด้านที่สองคือการจำลองผลการรักษาโรคก่อนลงมือดำเนินการรักษาจริงได้ ด้านที่สามคือการช่วยให้การพยากรณ์โรคแม่นยำยิ่งขึ้น ส่วนด้านสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กันคือการช่วยลดค่าใช้จ่ายระบบสาธารณสุขในระยะยาว ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการรักษามากยิ่งขึ้น

 

 

ตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยี Digital Twin in Healthcare อย่างเป็นรูปธรรมตัวอย่างแรก คือ บริษัททวินเฮลท์ (Twin Health) จากสหรัฐอเมริกาที่ได้พัฒนาระบบแฝดดิจิทัลสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้น โดยใช้ AI จำลองระบบเผาผลาญพลังงานของผู้ป่วยขึ้นจากข้อมูลต่าง ๆ อาทิ ผลตรวจทางการแพทย์ ข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์ IoT ที่ผู้ป่วยสวมใส่ รวมถึงข้อมูลพฤติกรรมที่ได้จากแบบสอบถาม โดยเมื่อผู้ดูแลระบบได้แบบจำลองระบบเผาผลาญพลังงานของผู้ป่วยมาแล้ว จะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ออกแบบแผนการดูแลสุขภาพที่มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยได้ เช่น แผนการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การนอน

 

 

ตัวอย่างที่สอง บริษัทคิวไบโอ (Q Bio) จากสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเครื่อง MRI ชนิดสแกนร่างกายของผู้เข้ารับการประเมินทั้งตัวด้วยเวลาเพียง 15 นาทีขึ้น เพื่อนำข้อมูลร่างกายของผู้เข้ารับการประเมินมาให้ AI ประมวลผลร่วมกับข้อมูลด้านสุขภาพด้านอื่น ๆ อาทิ ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลสุขภาพ รวมถึงข้อมูลได้จากอุปกรณ์ IoT ประเภทสวมใส่ติดตัว เพื่อสร้างชุดข้อมูลสุขภาพของผู้เข้ารับการประเมิน พร้อมทั้งช่วยพยากรณ์ความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ด้วย

 

 

ตัวอย่างสุดท้าย บริษัทเมชไบโอ (Mesh Bio) จากประเทศสิงคโปร์ ผู้พัฒนาระบบ HealthVector® Diabetes หรือแบบจำลอง AI เพื่อวิเคราะห์ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เพื่อทำนายความเสี่ยงการเป็นโรคไตเรื้อรังของผู้ป่วยโรคเบาหวาน และปรับแผนการรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไต ระบบนี้ผ่านการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ที่สิงคโปร์เรียบร้อยแล้ว ทำให้ถือได้ว่าเป็นระบบ Digital Twin แรกของโลกที่ใช้งานทางคลินิกได้จริง โดยบริษัทมีแผนที่จะขยายการใช้งานในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

 

แชร์หน้านี้: