หน้าแรก รัฐมนตรีวิทย์ฯ ร่วมดีเบตบนเวที GBS 2018แจงกลยุทธ์สร้างเศรษฐกิจฐานชีวภาพในประเทศไทย
รัฐมนตรีวิทย์ฯ ร่วมดีเบตบนเวที GBS 2018แจงกลยุทธ์สร้างเศรษฐกิจฐานชีวภาพในประเทศไทย
22 เม.ย. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

20 เม.ย. 2561 ณ อาคาร Telekom Forum กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี : ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อภิปรายเชิงกลยุทธ์ (debate) หัวข้อความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำกับดูแลเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ในงาน Global Bioeconomy Summit (GBS 2018) ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์จากประเทศเอกวาดอร์ อาร์เจนติน่า อดีตรัฐมนตรีจากเยอรมนี และผู้บริหารภาคเอกชน ชี้โมเดลไทยแลนด์ 4.0

ที่มุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (new s-curve) จะช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bioeconomy ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ จากนั้นได้นำคณะผู้บริหาร สวทช. ภาครัฐและเอกชน เยี่ยมชมสถาบันฟรอนโฮเฟอร์ CBP ศึกษาดูงานการใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการของเหลือทิ้งทางการเกษตรเพิ่มมูลค่าเป็นโพลิเมอร์ วัสดุชีวภาพ และชีวเคมีภัณฑ์ที่ใช้ต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมได้ เพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทยตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และการดำเนินงานของ EECi

 

ในการอภิปรายเชิงกลยุทธ์ (debate) หัวข้อ “ความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำกับดูแลเศรษฐกิจฐานชีวภาพ” ภายใต้งาน Global Bioeconomy Summit (GBS 2018) หรือการประชุมสุดยอดด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพโลก ประจำปี 2561 ในวันที่ 2 ของการจัดงาน (งานจัดขึ้นวันที่ 19 – 20 เมษายน 2561) ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศเข้าร่วมอภิปรายถึงบทบาทสถานการณ์และความท้าทายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพของแต่ละประเทศ โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อภิปรายว่า “สถานการณ์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bioecomny ของประเทศไทย มีเป้าหมายร่วมกันเช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับศักยภาพและคุณค่าของมนุษย์ การรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในสังคม รวมถึงเปลี่ยนแนวคิดจากการแข่งขันให้เป็นความร่วมมือและเครือข่ายมากขึ้น เปลี่ยนการบริโภคเหลือทิ้งเหลือขว้างให้เป็นการบริโภคแต่พอดี ตลอดจนให้ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในฐานะที่เป็นแหล่งของพลังงานไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทภาคเอกชนต่างๆ ควรส่งเสริมให้มีการสร้างความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือ CSR ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

ขณะที่ความท้าทายของประเทศไทยในการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีกับดักอยู่ 3 ประการ คือ ประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ความเหลื่อมล้ำ (Inequality Trap) และความไม่สมดุลของการพัฒนา (Imbalance Trap) ในการนำประเทศให้หลุดพ้นกับดักทั้ง 3 ประการ พร้อมนำประเทศสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานชีวภาพที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโมเดล“ประเทศไทย 4.0” ที่ขับเคลื่อนโดย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ซึ่งมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานชีวภาพด้วยกันถึง 5 กลุ่มอุตสาหกรรม นับเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำและกับดักที่กล่าวข้างต้น รวมถึงจะมุ่งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนใน อุตสาหกรรมแต่ละประเภทให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560 – 2579) เพื่อสร้างการแข่งขันอย่างยั่งยืนด้วย ได้แก่ เศรษฐกิจหมุนเวียน (The Circular Economy) ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ (Inclusive Economy) และเศรษฐกิจที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า (Regenerative Economy)

 

ภายหลังการร่วมดีเบตและกิจกรรมภายในงาน GBS 2018 แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมด้วย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. คณะผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และภาคเอกชน เข้าเยี่ยมชมสถาบันฟรอนโฮเฟอร์ CBP (Fraunhofer CPB) ในเมืองลูน่า เพื่อศึกษาดูงานและแสวงหาความร่วมมือและเครือข่าย

 

ซึ่งสถาบันแห่งนี้มีการนำของเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศ เช่น ข้าวโพด ฟาง ไม้ เป็นต้น มาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการนำของเหลือทิ้งดังกล่าวมาคัดกรองและแยกส่วนประกอบ จากนั้นทำการย่อยสลายด้วยเอนไซม์ และหมักด้วยจุลินทรีย์ซึ่งเป็นวิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้ได้สารตั้งต้นสำหรับไปพัฒนาเป็นวัตถุดิบในรูปแบบต่างๆ เพื่อการใช้งานที่เหมาะสม เช่น โพลิเมอร์ วัสดุทางชีวภาพ และชีวเคมีภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้เพราะของเหลือทิ้งทางการเกษตรมีความใกล้เคียงกัน

22 เม.ย. 2561
0
แชร์หน้านี้: