หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.3 – เมกเกอร์ไทย ส่อง เมกเกอร์โลก
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.3 – เมกเกอร์ไทย ส่อง เมกเกอร์โลก
5 มิ.ย. 2561
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

เมกเกอร์ไทย ส่อง เมกเกอร์โลก

เมื่อเหล่าเยาวชนนักเมกเกอร์ไทยที่คิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหา “ความปลอดภัยในชุมชน” มีโอกาสเข้าร่วมงาน Maker Faire Bay Area 2018 มหกรรมแสดงสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ระดับโลก ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้นตำหรับการจัดงาน Maker Faire ของโลก

ประสบการณ์และจินตนาการที่พร้อมจะแปรเปลี่ยนเป็นไอเดีย น่าจะเป็นเป้าหมายที่ช่วยต่อยอดความคิดให้พวกเขาได้ไม่น้อย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานชั้นยอดในอนาคต

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตร ผู้แทนจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นำคณะอาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ในฐานะ 2 โรงเรียนผู้ชนะการประกวดโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปี 2 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เดินทางเข้าร่วมงาน Maker Faire Bay Area 2018 มหกรรมแสดงสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ อารีนา เบย์ แอเรีย เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศต้นตำรับการจัดงาน Maker Faire มานานนับ 10 ปีแหล่งรวมนักประดิษฐ์ของโลกที่พร้อมแบ่งปันความรู้ เพื่อให้นักประดิษฐ์นำผลงานมาแลกเปลี่ยนแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน โดยได้เผยแพร่ลิขสิทธิ์การจัดงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ไปแล้วหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

นางกุลประภา เปิดเผยว่า จากการที่ สวทช. ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หน่วยงานพันธมิตร และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จัดงาน ‘Maker Faire Bangkok 2018: ลานอวดของ ประลองไอเดีย’ ปีที่ 2 ในประเทศไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และได้ผู้ชนะการประกวดโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปี 2 และได้สิทธิร่วมงาน Maker Faire Bay Area ประกอบด้วย นักเรียนสายสามัญ ได้แก่ ด.ช.พิวัฒน์ ศุภวิทยา และ ด.ช.ศุภสิทธิ์ พัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จากผลงาน BCC E-TM อุปกรณ์จัดระเบียบช่องจราจรบนท้องถนนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดหน้าโรงเรียน ส่วนสายอาชีวศึกษา ได้แก่ นายเตมีย์ เนตรพุกกณะ และนายวีระพล บุญจันทร์ นักศึกษา ปวส. 2 สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จากผลงาน ทุ่นเตือนภัยร่องน้ำและแนวปะการัง เพื่อป้องกันแนวปะการังชายฝั่งจากเรือท่องเที่ยวและเรือประมง

ด.ช.พิวัฒน์ ศุภวิทยา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กล่าวว่า ชอบผลงานสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ปลาหมึกชื่อ Mechateuthis บางท่านอาจจะมองว่าเป็นแค่ของเล่นเด็กที่หมุนๆ แล้วหนวดของปลาหมึกจะหมุนตาม แต่แท้ที่จริงแล้วมีส่วนประกอบของการใช้แมคคานิค เครื่องกล และอิเล็กทรอนิกส์มาผสมกันได้อย่างลงตัวมากๆ

“การที่เราจะขึ้นรูปชิ้นส่วนโลหะให้เป็นรูปหนวดปลาหมึก ต้องใช้ขั้นตอนและกระบวนการทำมากๆ ส่วนกลไกอิเล็กทรอนิกส์ ก็ต้องเขียนโปรแกรมที่บังคับทิศทางของหนวด ตามแรงที่เราจะหมุน ซึ่งผมคิดว่าสิ่งประดิษฐ์นี้นอกจากเป็นเครื่องเล่นเด็กแล้ว ก็จะยังสามารถที่จะบ่งบอกนักเมกเกอร์ นักประดิษฐ์ หรือผู้ที่ไม่ได้เป็นนักประดิษฐ์ ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้กระบวนการเหล่านี้ มาทำสิ่งประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ บอร์ด หรือจะเป็นเครื่องเล่นต่างๆ ก็ใช้กระบวนการเหล่านี้ได้เช่นกัน”

นายเตมีย์ เนตรพุกกณะ นักศึกษา ปวส. 2 สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ชอบผลงานหุ่นยนต์ FURRION EXO-BIONIC ใช้กำลังคนควบคุม 100% สิ่งประดิษฐ์ไฮไลต์ของงาน Maker Faire Bay Area 2018 เนื่องจากเป็นการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความสมดุลทั้งด้านโครงสร้างรูปแบบ และการจัดวางสายอุปกรณ์ต่างๆ แม้จะระเกะระกะไปหน่อย แต่คือเสน่ห์ของความเป็น Maker ที่เป็นชิ้นงานมีความเฉพาะไม่สมบูรณ์แบบจนเกินไป ทำให้มีเสน่ห์ของความเป็นงานทำมืออยู่ในชิ้นงาน อย่างไรก็ตามด้วยความชื่นชอบส่วนตัวที่ชอบหุ่นยนต์บังคับดัวยคนอยู่แล้ว จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ดีเยี่ยมและมองเห็นประโยชน์ที่จะนำไปต่อยอดในประเทศไทย โดยสามารถนำไปพัฒนาใช้คนบังคับยกสิ่งของขนาดใหญ่จากที่หนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยไม่เปลืองแรงงานคน ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและแรงงานคนได้อย่างดี นอกจากนั้นแล้วภายในงานยังมีผลงานต่างๆ ทั้งหุ่นยนต์กู้ภัย และหุ่นยนต์จากอุปกรณ์เหลือทิ้ง รถบังคับพลังงานแสงอาทิตย์ การแสดงต้นแบบจากเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printing) รวมทั้งการจัดโซนโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชน

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามการทัศนศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีแก่วงการนักเมกเกอร์ไทยและประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเยาวชนไทยทั้ง 4 คนได้รับเชิญให้ขึ้นพูดนำเสนอผลงานในเวทีใหญ่ระดับโลก โดยนำเสนอผลงานและแนวความคิดการสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยในชุมชนของพวกเขาให้ปรากฏสู่สายตาชาวโลก ซึ่งเยาวชนไทยทั้ง 4 คน สามารถนำเสนอผลงานผ่านไปด้วยความราบรื่นและได้รับเสียงชื่นชมจากเมกเกอร์มืออาชีพระดับโลก ถึงความกล้าคิดกล้าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมส่วนรวม ทั้งนี้เชื่อว่าประสบการณ์ที่เยาวชนทั้ง 4 คน ได้รับครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นแรงบันดาลใจผ่านความคิดและสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์สังคมจากฝีมือเมกเกอร์มืออาชีพในเวทีระดับโลกซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยาก อย่างไรก็ดีความร่วมมือของในโครงการดังกล่าว ถือเป็นข้อพิสูจน์ความร่วมมือตามแนวทาง “รัฐร่วมเอกชน” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยสนใจวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ “STEM” ทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งทุกหน่วยงานควรหันมาร่วมมือกันสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ ให้ได้รับโอกาสทำกิจกรรมเมกเกอร์ในลักษณะ Maker Space ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อเพิ่มศักยภาพเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และช่วยต่อยอดความสำเร็จให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการประดิษฐ์ขยายวงกว้างผลักดันประเทศไทยสู่สังคมแห่งนวัตกรรม 4.0 ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

สิ้นสุดการรอคอยสำหรับการประกวด Young Makers Contest ปี 3 ได้เริ่มขึ้นแล้ว

โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ขอเชิญน้องๆ นักเรียน นักศึกษา ทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา ร่วมส่งไอเดียประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับเมกเกอร์รุ่นใหม่ ในหัวข้อ “Green Innovation” นวัตกรรมโลกสีเขียว ชิงรางวัลใหญ่บินลัดฟ้าไปร่วมงาน Maker Faire Bay Area ที่สหรัฐอเมริกา ต้นตำรับของงานเมกเกอร์แฟร์ทั่วโลก และทุนการศึกษา รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท ส่งใบสมัครพร้อมไอเดียได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 กรกฎาคม 2561

ใครมีไอเดียเจ๋งๆ ส่งใบสมัคร คลิ๊ก http://www.bangkokmakerfaire.com/ymc3/

5 มิ.ย. 2561
0
แชร์หน้านี้: