มทร.ล้านนา ผนึกกำลัง สวทช. ร่วมวิจัยและขยายผลสู่ชุมชน อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) : ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. ลงนามความร่วมมือร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) โดย รศ. ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มทร.ล้านนา ในการพัฒนา “จากพันธุกรรม สู่นวัตกรรม เพื่อชุมชน” เพื่อร่วมกันยกระดับหน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมให้มีศักยภาพและมาตรฐานสูงขึ้น รวมทั้งร่วมกันพัฒนาและสร้างงานวิจัยนวัตกรรมบนฐานความรู้ และภูมิปัญญา อันจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการในการผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งและเกิดความยั่งยืน
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “สวทช. ให้ความสำคัญต่อการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนฐานเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอาหารซึ่งเป็นฐานสำคัญของประเทศ และเกี่ยวข้องประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ การดำเนินงานของ สวทช. จำเป็นต้องมีพันธมิตรร่วมทาง และให้ความสำคัญใน 4 พันธกิจ ทั้งด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม การพัฒนาด้านกำลังคน การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและเกษตรกร ตัวอย่างความร่วมมือที่ผ่านมาระหว่าง สวทช. และ มทร.ล้านนา ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อสังคม ชุมชนและภาคอุตสาหกรรม เช่น ความร่วมมือในการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียว กข6 ต้านทานโรคไหม้ “ธัญสิริน” ซึ่งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ร่วมกับกรมการข้าว และ มทร.ล้านนา พัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวต้านทานโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับยีนต้านทานโรคไหม้และคุณภาพหุงต้ม ร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน ได้พันธุ์ข้าวเหนียว กข6 ต้านทานโรคไหม้ ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไหม้ ซึ่งได้ร่วมกันขยายผลในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์พืช ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์บ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง และกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร เป็นต้น”
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า “นอกจากการขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีในเรื่องข้าวแล้ว ยังมีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในเรื่องอื่นๆ เช่น ข้าวไร่ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง และการผลิตพริกเพื่อลดต้นทุน เป็นต้น รวมทั้งความร่วมมือในด้านการบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมพืชในวงศ์แตง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเครือข่ายหน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมภายใต้ คลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ของประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ทั้งความมั่นคงด้านอาหารและเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเมล็ด พันธุ์ไทย โดยหน่วยบริการเชื้อพันธุกรรมมีหน้าที่เก็บรวบรวมเชื้อพันธุกรรมพืชวงศ์แตง เช่น แตงกวา ฟักทอง ทำการประเมินเชื้อพันธุกรรมและให้บริการแก่นักปรับปรุงพันธุ์ทั้งภาครัฐและ เอกชน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นพันธุ์การค้า และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ทั้งนี้ นอกจากด้านการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านหน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมแล้ว ยังได้ร่วมกันพัฒนาบุคลากรของประเทศ อาทิ การสร้างนักปรับปรุงพันธุ์รุ่นใหม่ โดยจัดฝึกอบรมนักปรับปรุงพันธุ์และจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ในด้านการจัดการน้ำ และธาตุอาหารพืช เป็นต้น”
ด้าน รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านาเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อชุมชน” มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมีสถาบันวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร และสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โดยมีพันธกิจที่มุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยองค์ความรู้และนวัตกรรมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่การให้บริการทางวิชาการเพื่อชุมชน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ มทร.ธัญบุรี, มทร.กรุงเทพ, มทร.ตะวันออก, มทร.สุวรรณภูมิ, มทร.ศรีวิชัย, มทร.พระนคร, มทร.อีสาน, มทร.รัตนโกสินทร์ และ มทร.ล้านนา ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการ Research for Community ให้เกิดความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง และชุมชน เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ทรัพยากรทั้งด้านบุคคลและวัสดุอุปกรณ์อย่างมีคุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนการนำความรู้และเทคโนโลยีไปขยายผลสู่เกษตรกรในวงกว้างและขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพของ ชชุมชน”
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ มทร.ล้านนา ในการร่วมกันพัฒนา “จากพันธุกรรม สู่นวัตกรรม เพื่อชุมชน” มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อพัฒนาสังคม ชุมชน และเกษตรไทยให้เข้มแข็งและมีความยั่งยืน และสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตรไทยต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ดังนี้
1. เพื่อยกระดับหน่วยบริหารจัดการเชื้อพันธุกรรมที่ได้จัดตั้งขึ้นมาแล้ว ให้มีศักยภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้นในระดับชาติและระดับนานาชาติ
2. เพื่อพัฒนาและสร้างงานวิจัยนวัตกรรมบนฐานความรู้ และภูมิปัญญา ที่เหมาะสมกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ที่ชุมชนและภาคเอกชนสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก
3. เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ ในการผลิตภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมด้วยการเพิ่มพูนความรู้ที่เหมาะสมและทันสมัย
4. เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษา ให้มีความรู้ในวิชาการด้านการพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรม ให้ก้าวหน้า ทันสมัย และตระหนักในความเป็นสังคมภาคเกษตรของไทยให้คงอยู่ตลอดไป