ยุทธศาสตร์วิจัยและพัฒนาด้านเมล็ดพันธุ์ (พ.ศ. 2554-2559) ภายใต้แผนกลยุทธ์การวิจัยและพัฒนา สวทช. ระยะที่ 2 พ.ศ. 2554-2559
อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญ มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร มีความสำคัญในแง่ความมั่งคงของประเทศ ความมั่งคงด้านอาหาร โดยการพึ่งพาสายพันธุ์ที่พัฒนาเองในประเทศ พันธุ์ที่มีการปรับตัวได้ดีในการเพาะปลูกในประเทศ หรือในประเทศเขตร้อนเมล็ดพันธุ์เป็นสินค้าเกษตรที่เป็นผลิตภัณฑ์ปริมาณต่ำ มูลค่าเพิ่มสูง มีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และเทคโนโลยีมีบทบาทสูงต่อการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ ตัวอย่างเช่น เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศลูกผสมบางพันธุ์ราคากิโลกรัมละ 200,000 บาท การผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ผลตอบแทนสูงต่อเกษตรกรโดยสร้างรายได้ต่อครอบครัวตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท ภายในเวลา 4-5 เดือน ในพื้นที่เพาะปลูกเพียง 1-2 ไร่ จึงเหมาะกับเกษตรกรรายย่อยที่มีฝีมือ
เทคโนโลยีชีวภาพมีบทบาทสูงต่อการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ โดยช่วยร่นระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้พืชปรับตัวต่อผลกระทบ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งการต้านทานต่อโรคแมลง ทนร้อน ทนแล้ง หรือพันธุ์ที่มีการใช้น้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ
ดาวน์โหลดเอกสาร : PDF format [2.26 MB]