หน้าแรก สวทช. จับมือ สรพ. หนุนโรงพยาบาลระยองใช้ “ริสแบนด์” ตัวช่วยแพทย์ระบุตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน ตอบโจทย์ “ถูกต้อง-รวดเร็ว-แม่นยำ” เตรียมก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ
สวทช. จับมือ สรพ. หนุนโรงพยาบาลระยองใช้ “ริสแบนด์” ตัวช่วยแพทย์ระบุตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน ตอบโจทย์ “ถูกต้อง-รวดเร็ว-แม่นยำ” เตรียมก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ
28 ต.ค. 2563
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ริเริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข หรือ 2P @Safety Tech (Patient and Personnel at Safety Technology Awards)  จับคู่ธุรกิจซอฟต์แวร์กับโรงพยาบาลระยอง พัฒนา“ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน” ช่วยลดความเสี่ยง ลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวถึงแนวคิดโครงการ 2P @Safety Tech ว่า สวทช. ร่วมกับ สรพ. ในการประสานความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลและผู้ประกอบการเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการแพทย์ เพื่อนำนวัตกรรมมาช่วยให้ระบบงานบริการในโรงพยาบาลสะดวกและง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรการแพทย์ ซึ่งโครงการฯ นี้เริ่มเมื่อปี 2561 โดย สรพ. ได้เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลที่มีความต้องการจะยกระดับการบริการได้ระบุปัญหาในรูปแบบข้อเสนอโครงการที่มีโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าโรงพยาบาลจะต้องมีความพร้อมที่จะนำไปใช้ให้แก้ปัญหาและเกิดประโยชน์ได้จริง จากนั้นทาง สรพ. และ สวทช. จะนำข้อเสนอโครงการมาพิจารณาคัดเลือกและจับคู่กับ นักวิจัย นวัตกรหรือผู้ประกอบการเทคโนโลยีที่ สวทช.มี เพื่อนำเทคโนโลยีไปใช้แก้ปัญหาและยกระดับการบริการตามข้อเสนอโครงการของโรงพยาบาล


สวทช. นำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาช่วยวิเคราะห์ปัญหาให้ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และนักนวัตกรได้ร่วมคิดร่วมทำงานกัน เกิดความคิดริเริ่มในการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบหรือนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและสอดคล้องกับบริบทปัญหาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการฯ จะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี ออกแบบโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน รวมถึงยังคอยเสาะหาและดึงกลไกให้ทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้แนวคิด Open Innovation

แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า สรพ. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนมาตรฐานคุณภาพการให้บริการในสถานพยาบาลทั่วประเทศ และโครงการฯ นี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้โรงพยาบาลในโครงการ 2 P Safety Hospital ได้พัฒนานวัตกรรมสำหรับแก้ไขปัญหา อุบัติการณ์ความเสี่ยงตามแนวทางเป้าหมายความปลอดภัย Patient and Personnel Safety Goal (SIMPLE) 2 ภายใต้แนวคิด Human Factor Engineering “วิศวกรรมปัจจัยมนุษย์” ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลดความผิดพลาดในการทำงานของมนุษย์ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ “ผู้ป่วยปลอดภัย เราก็ปลอดภัย”
จากความร่วมมือกับ สวทช. ที่ผ่านมา ได้มีโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 2P@Safety แล้วจำนวน 37 แห่ง จากที่สมัครมามากกว่า 120 แห่ง พร้อมด้วยบริษัทเทคโนโลยี 15 ราย ขณะนี้สามารถพัฒนานวัตกรรมต้นแบบที่นำไปใช้จริงในโรงพยาบาลรวม 14 ผลงานแล้ว ซึ่งทำให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก โรงพยาบาลระยองก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของโครงการที่นำนวัตกรรมมาให้แก้ไขปัญหาของบุคลากรที่ปฎิบัติงานห้องฉุกเฉินได้อย่างเหมาะสมและตอบโจทย์ตรงกับความต้องการ สามารถระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น

นายแพทย์ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง กล่าวถึงแนวคิดสำคัญของ “ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน” ว่า ด้วยนวัตกรรมริสแบนด์นั้น เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินที่ต้องการระบุตัวผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาการระบุตัวผู้ป่วยได้แม่นยำและสามารถใช้ข้อมูลในการระบุตัวตน บันทึกการทำหัตถการต่างๆ และนำข้อมูลสำคัญมาวิเคราะห์การทำงานร่วมกัน ทำให้ลดการบันทึกซ้ำที่ไม่จำเป็น ซึ่งอุปกรณ์ต้องมีความสะดวกต่อผู้ใช้งาน และมีความคุ้มทุนต่อโรงพยาบาล โดยระบบฯ สามารถระบุข้อมูลพื้นฐานสำคัญของผู้ป่วยอย่างน้อย 13 ฐานข้อมูล ซึ่งจากการเก็บข้อมูลวิจัยพบว่ามีความแม่นยำถึง 100% และสามารถลดระยะเวลาการสอบถามประวัติพื้นฐานผู้ป่วย ทำให้การรักษารวดเร็วแม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นในการระบุตัวผู้ป่วย ซึ่งในปัจจุบันมีการนำมาใช้กับผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินทุกประเภทความรุนแรง โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน ทำให้เกิดการพัฒนาในตัวอุปกรณ์และระบบ เพื่อสอดคล้องกับการทำงานมากขึ้น เป็นต้นแบบให้กับทุกโรงพยาบาลที่เข้ามาศึกษาดูงานและนำไปปรับใช้กับโรงพยาบาลของตนจนทำให้เกิดกระแส 2P safety ที่มากขึ้นในห้องฉุกเฉินของทุกโรงพยาบาล

 

“โรงพยาบาลมีแผนจะนำระบบฯ ไปใช้กับทุกหน่วยงานและติดตัวผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉินจนถึง หอผู้ป่วยในหรือกลับบ้าน นอกจากนี้ยังพัฒนาในส่วนของการการระบุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญว่าอยู่  ส่วนไหนของโรงพยาบาล  เพื่อเพิ่มประสิทธิในการค้นหาที่รวดเร็วมากขึ้น ส่วนทางด้านห้องฉุกเฉินจะพัฒนาในการช่วยบันทึกข้อมูลการทำหัตถการต่าง ๆ การบันทึกเหตุการณ์การรักษา ลดการจดกระดาษและนำข้อมูลมาวิเคราะห์แบบเรียลไทม์มากยิ่งขึ้น  และที่สำคัญจะมีแผนพัฒนาปรับใช้ในการเก็บข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มโรงงานที่สามารถนำไปใช้กับพนักงานที่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงกับสุขภาพ นำไปสู่ข้อมูลการดูแลสุขภาพและโรคที่มีโอกาสเกิดกับวัยทำงาน โดยผ่านโครงการ HTE (Health promotion, Tertiary care and Emergence response project : HTE) ของโรงพยาบาลที่มีการผลักดันนโยบายและให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ด้วย”นายแพทย์ไชยสิทธิ์ กล่าว

นายเอกศักดิ์ โอศิริพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเทลลิเจ็นซ์ ซิสเท็ม คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับทีมแพทย์แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลระยองพบว่า “ถ้าระบุตัวคนไข้ผิด การรักษาที่ให้ก็จะผิดตามไปด้วย” ดังนั้น “การระบุตัวตนคนไข้ให้ถูกต้อง” ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดของการเริ่มต้นการรักษา จึงเป็นที่มาของการใช้ริสแบนด์ “ระบบระบุตัวตนผู้ป่วยแผนกฉุกเฉิน”(RFID Patient Tracking & Identification) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 4 ส่วน คือ 1) ระบุตัวตนผู้ป่วย ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถแยกประเภทผู้ป่วยได้ตั้งแต่แรก โดยแบ่งสีของริสแบนด์ตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วยเป็น สีแดง-ชมพู-เหลือง-เขียว และขาว ทำให้ลดขั้นตอนการตรวจสอบและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา 2) ติดตามการรักษา ระบบสามารถเก็บบันทึกประวัติการรักษาและประวัติความรุนแรงของผู้ป่วยเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ดูรายงานสถานะคนไข้แบบเรียลไทม์ 3) นำข้อมูลการรักษามาวิเคราะห์ เพื่อสรุปผลการทำงานและปรับปรุงพัฒนาการรักษาให้ดีขึ้น 4) มีหน้าแสดงผลหน้าจอ เพื่อสะท้อนภาพรวมการทำงาน

 

“เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นและสามารถกลับบ้านได้แล้ว ทางโรงพยาบาลก็จะนำ ริสแบนด์มาลบข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยทันที และสามารถนำริสแบนด์กลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 200,000 ครั้ง ในอนาคตหากมีการขยายผลการใช้ไปยังแผนกอื่นๆ ของโรงพยาบาลแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยลดขั้นตอนการทำงานของทีมแพทย์ ผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นมาตรฐานการทำงานเดียวกันทั้งโรงพยาบาล และเตรียมขยายผลไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อใช้ในงานส่งเสริมสุขภาพของบุคลากรในโรงงานต่อไป” นายเอกศักดิ์กล่าวในตอนท้าย

28 ต.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: