หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.8 – เอ็มเทค สวทช. พัฒนานวัตกรรม ‘ช่วยชีวิต’
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.8 – เอ็มเทค สวทช. พัฒนานวัตกรรม ‘ช่วยชีวิต’
15 พ.ย. 2561
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย
บทความ

alt

เอ็มเทค สวทช. พัฒนานวัตกรรม ‘ช่วยชีวิต’

เพราะเหตุฉุกเฉินไม่คาดคิดเกิดได้กับทุกชีวิต ซึ่งหลายคนอาจมีประสบการณ์นาทีชีวิตจากวิกฤติสุขภาพของตนเอง หรือประสบอยู่ในเสี้ยวนาทีชี้เป็นชี้ตายของผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งแรกที่ต้องมีก่อนทำการใดๆ ก็คือ ‘มีสติ’ เพื่อโทรศัพท์แจ้งหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน หมายเลข 1669

แต่กระนั้นระหว่างรอหน่วยกู้ชีพฯ จำเป็นต้องเข้าไปเช็กโดยเขย่าตัวเรียกผู้ที่นอนหมดสติ หากไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองเสียงเรียก และมีภาวะหัวใจหยุดเต้นด้วยแล้ว จึงทำการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) ซึ่งการทำซีพีอาร์นั้น ประกอบไปด้วยการกดหน้าอก การเป่าปากช่วยหายใจ เพื่อช่วยให้หัวใจปล่อยเลือดออกไปเลี้ยงทั่วร่างกาย โดยต้องมีการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัติโนมัติหรือ เครื่องเออีดี:AED (ใช้ได้กับผู้ที่อายุเกิน 8 ปีขึ้นไป) ควบคู่กัน ซึ่งเครื่องเออีดีจะช่วยรักษาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจได้ด้วย

ทั้งนี้ตามหลักการแพทย์ระบุว่าหากสมองคนเราถ้าขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกินกว่า 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปได้อย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้สมบูรณ์ดังเดิมอีก ดังนั้นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือ ซีพีอาร์ จึงถือเป็นหนึ่งวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดีการฝึกฝนเพื่อทำซีพีอาร์แบบเดิมๆ ต้องใช้วิธีการฝึกฝนบ่อยครั้งจนเกิดความชำนาญ เพราะนอกจากแรงกดที่ต้องสม่ำเสมอแล้ว จังหวะในการกดนวดหัวใจ ก็ยังมีเทคนิคที่การยึดหลักการจำที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจส่งผลให้การช่วยฟื้นคืนชีพทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ดังนั้นเพื่อให้การฝึกช่วยชีวิตผู้มีภาวะหยุดหายใจทำได้โดยง่ายขึ้น นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้ออกแบบอุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับหุ่นฝึกช่วยชีวิตที่ผลิตจากยางพารา สามารถโชว์ “สมรรถนะของผู้ฝึก” ผ่านจอแสดงผลขณะฝึก ช่วยผู้ฝึกเห็นข้อมูลได้ทันที

ดร. ทิพย์จักร ณ ลำปาง หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีน้ำยาง หน่วยวิจัยยาง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อธิบายว่า เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พัฒนาอุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับหุ่นฝึกช่วยชีวิตผลิตจากยางพาราที่มีฟังก์ชันอุปกรณ์แสดงข้อมูลขณะฝึก รวมทั้งพัฒนาเครื่องฝึกการใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าแบบสาธิต (เออีดี:AED Training) ผลงานนี้ได้จัดแสดงในงาน ASEAN Federation of Cardiology Congress (AFCC 2018) เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องมาตรฐานการช่วยชีวิตให้แก่ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน

ดร. ทิพย์จักร กล่าวว่า เนื่องจากการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้มีการหายใจกลับคืนสู่สภาพเดิมได้นั้น วิธีการคือ การผายปอดและการนวดหัวใจ แต่หากทำการนวดหัวใจโดยไม่มีความรู้และไม่ได้ผ่านการฝึกฝนก็จะทำให้การช่วยชีวิตไม่ได้ผล หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือได้ ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการสอนการช่วยชีวิตที่ได้มาตรฐาน เอ็มเทค สวทช. เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา จึงได้ร่วมมือกับ คณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต พัฒนาหุ่นจำลองสำหรับการฝึกช่วยฟื้นคืนชีพที่ทำจากยางพารา หุ่นจำลองมีผิวสัมผัสนุ่มคล้ายร่างกายมนุษย์ มีราคาถูกกว่าหุ่นที่นำเข้าจากต่างประเทศราว 3-7 เท่า อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ

“เอ็มเทค สวทช. เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ได้คิดค้นโดยพัฒนาชุดอุปกรณ์ตรวจจับระยะที่ถูกต้องแม่นยำ และแสดงข้อมูลระยะลึกของการกดขณะฝึกนวดหัวใจสำหรับใช้งานร่วมกับหุ่นฝึกช่วยชีวิตผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งจอแสดงข้อมูลสรุปหลังจากการฝึกในแต่ละครั้งด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกช่วยฟื้นคืนชีพ โดยผู้ฝึกสามารถรับทราบข้อมูลที่สำคัญต่างๆ เช่น ความลึกและอัตราเร็วในการนวดหัวใจ ทำให้สามารถตอบสนองและปรับปรุงการนวดหัวใจในระหว่างการฝึกได้ ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวได้รับคำแนะนำการใช้งานให้เหมาะสมกับการฝึกสอนจริงจากคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต”

พร้อมกันนี้ทีมวิจัยเอ็มเทค ยังได้ออกแบบ “อุปกรณ์ช่วยฝึกการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ” เพื่อช่วยฝึกการใช้งานเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศ

“เอ็มเทคได้พัฒนาเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติแบบสาธิต (AED) พร้อมด้วยแผ่นอิเล็กโทรดที่ใช้สำหรับสาธิตที่มีราคาย่อมเยา เพื่อทดแทนการนำเข้าเครื่องจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงกว่า 2-5 เท่า ซึ่งได้รับการแนะนำขั้นตอนการใช้งาน (AED Training) จากคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต เพื่อใช้ในการฝึกอบรมจริงในหลักสูตรการช่วยชีวิต โดยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติแบบสาธิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่สามารถใช้ช่วยฝึกสอนการใช้งานเครื่อง AED ของจริง ที่มีหน้าที่วิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจและสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวอย่างเป็นจังหวะ หรือช็อกกล้ามเนื้อหัวใจที่สั่นพลิ้วให้หยุดสั่นแล้วกลับมาทำงานปกติอีกครั้ง ซึ่งอุปกรณ์นี้อยู่ระหว่างขอจดสิทธิบัตรและขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อให้แพทย์ พยาบาล ผู้ฝึกช่วยชีวิตและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย” ดร. ทิพย์จักร กล่าวทิ้งท้าย

ล่าสุด ดร. ทิพย์จักร ยังเข้ารับมอบใบประกาศเกียรติคุณบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ในการสนับสนุนและให้ความรู้ด้านการกู้ชีพฉุกเฉิน โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง ในฐานะคณะกรรมการบูรณาการประสานงาน กรณีกู้ชีพฉุกเฉิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีและมอบใบประกาศเกียรติคุณด้วย

ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่าง เอ็มเทค สวทช. เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา และคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต ถือเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาออกแบบโครงสร้างเชิงวิศวกรรมและนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกอบรมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้จักและเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนเกิดความเข้าใจวิธีการที่ถูกต้องในการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ในภาวะวิกฤติได้เป็นอย่างดี

เรียบเรียงโดย อาทิตย์ ลมูลปลั่ง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวทช.

15 พ.ย. 2561
0
แชร์หน้านี้: