หน้าแรก จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.8 – นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. พัฒนาชุดทดสอบการกัดกร่อนแบบเร่งสำหรับหลากหลายสภาวะการใช้งาน ได้รับรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ ประจำปี 2560 (Young Outstanding Metallurgist Award 2017)
จดหมายข่าว สวทช. ปีที่ 4 ฉ.8 – นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. พัฒนาชุดทดสอบการกัดกร่อนแบบเร่งสำหรับหลากหลายสภาวะการใช้งาน ได้รับรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ ประจำปี 2560 (Young Outstanding Metallurgist Award 2017)
16 พ.ย. 2561
0
จดหมายข่าว สวทช. ย่อย

alt

alt

นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. พัฒนาชุดทดสอบการกัดกร่อนแบบเร่งสำหรับหลากหลายสภาวะการใช้งาน

ได้รับรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ ประจำปี 2560 (Young Outstanding Metallurgist Award 2017)

การประชุมวิชาการทางโลหวิทยาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 มอบรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นและรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ แก่นักวิจัยดีเด่น  3 ท่าน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติที่สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

การประชุมวิชาการทางโลหวิทยาแห่งประเทศไทย ได้ริเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2550 โดยความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค สวทช.) สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยดำเนินการจัดประชุมต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีและประสบความสำเร็จอย่างสูงในแวดวงวิชาการทางด้านโลหวิทยา ในปีนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับสถาบันอุดม ศึกษาในประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการทางโลหวิทยาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (TMETC11) ภายใต้หัวข้อ “Metallurgy for Thailand 4.0” ในระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2561 จังหวัดชลบุรี

สำหรับรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่น พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมได้รับรางวัล 3 รางวัล ได้แก่ นักโลหวิทยาดีเด่น  และรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ประเภทวิชาการและอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ ผู้ได้รับรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ประเภทอุตสาหกรรม ประจำปี 2560 ได้แก่ ดร.ณมุรธา สถิรจินดา พอลสัน จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค สวทช.) โดยผลงานวิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาความเสียหายและการกัดกร่อนในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ชุดทดสอบการกัดกร่อนแบบเร่งสำหรับหลากหลายสภาวะการใช้งาน อาทิเช่น การใช้งานในสิ่งแวดล้อมระบบของไหล และสิ่งแวดล้อมบรรยากาศเขตร้อนชื้น อันเนื่องมาจากปัญหาการกัดกร่อนของโครงสร้างและชิ้นส่วนโลหะ ที่เกิดจากการเลือกใช้วัสดุและระบบการป้องกันการกัดกร่อนที่ไม่เหมาะสม  ทำให้เป็นที่มาของการพัฒนาชุดทดสอบดังกล่าวเพื่อศึกษาการกัดกร่อนที่สอดคล้องกับสภาวะการใช้งานจริงเพื่อสร้างระบบข้อมูลสำหรับทำนายอัตราการกัดกร่อนของโลหะได้แม่นยำมากขึ้น

นอกจากนี้ ดร.ณมุรธา ยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ความเสียหายของวัสดุและเทคโนโลยีการกัดกร่อน จากผลงานต่างๆ เช่น ระบบประเมินระดับความเสี่ยงจากการกัดกร่อนในหน่วยกลั่นน้ำมันดิบอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ชุดอุปกรณ์ทดสอบการกัดกร่อนเฉพาะที่ของวัสดุภายใต้ความเค้นแรงดึงเพื่อตรวจประเมินการกัดกร่อนภายใต้แรงเค้นอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนกันยายน 2559 ชุดตรวจติดตามพฤติกรรมการกัดกร่อนของท่อโลหะใช้งานกับการไหลของสารละลายสำหรับชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในหน่วยผลิตไฟฟ้าอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนกันยายน 2560 และเครื่องจำลองการทดสอบการกัดกร่อนในบรรยากาศแบบเร่งเพื่อสร้างระบบข้อมูลในการเลือกใช้วัสดุ และประเมินอายุของโครงสร้างและชิ้นส่วน อาทิเช่น ระบบขนส่งราง และชิ้นส่วนยานยนต์ ใช้งานในบรรยากาศในเขตร้อนชื้น เครื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

16 พ.ย. 2561
0
แชร์หน้านี้: