หน้าแรก สวทช. ร่วมสนับสนุนการจัดงานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018
สวทช. ร่วมสนับสนุนการจัดงานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018
30 มี.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

ณ สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน :  ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

และเป็นผู้สนับสนุนการจัดงาน และนายชัยวัฒน์ ทองคำคุณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แทนประธานคณะทำงานการจัดงาน ร่วมเปิดงานการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018 ที่มีขึ้นวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2561 ณ ฮอลล์แสดงสินค้า สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน กรุงเทพฯ

 

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ Rail Asia Expo 2018 หัวข้อจัดงาน “นวัตกรรมโลก นโยบายชดเชยการจัดซื้อจัดจ้าง และความเชี่ยวชาญไทย มุ่งสู่การพัฒนาระบบรางแห่งภูมิภาคอาเซียนแบบบูรณาการ” หรือ “ASEAN Integration of Global Innovation, Offset Policy and Thai Expertise in The Development of The Regional Rail Network” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 29 มีนาคม 2561 ณ ชั้น 2 สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์มักกะสัน แห่งนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดย กระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท) เป็นเลขานุการร่วมในการจัดงาน โดยได้รับความมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและต่างประเทศ และเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

 

ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้ประสานความร่วมมือกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางทั้งระบบ ทั้งในด้านการจัดหาแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศ ลดภาระการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งในด้านการยกระดับมาตรฐานชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบรางของประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรทางเทคนิควิศวกรรมระบบรางไทยควบคู่ไปกับการเร่งส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมระบบรางของไทย อันจะเห็นได้จากการที่กระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันนโยบายที่กล่าวมา ผ่านจัดตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนากำลังคน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 

ด้าน ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า “การผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งระบบรางให้เกิดขึ้นในประเทศไทย สามารถดำเนินการได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) การกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อให้ชัดเจนใน TOR เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น เงื่อนไขการประกอบตัวรถในประเทศไทย การกำหนดสัดส่วนชิ้นส่วนเพื่อการประกอบตัวรถและส่วนควบที่ต้องผลิตในประเทศไทย ดังนั้น การทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือ “Industrial Collaboration Programme (ICP)” จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าของการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกิจกรรมการชดเชย หรือ Offset Program เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ขายสู่ผู้ซื้อ และการพัฒนากำลังคน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ในส่วนของการวิจัยและพัฒนาระบบขนส่งทางรางนั้น สวทช. โดย ฝ่ายบริหารจัดการคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย (CPMO) และโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและพัฒนาจากรัฐบาล โดยความเห็นชอบสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินการบริหารงานแผนงานวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศด้านการคมนาคมระบบรางของประเทศ และสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาแก่นักวิจัยทั่วประเทศ มาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ และได้ส่งมอบให้กับผู้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยในงานฯ มีการนำเสนอผลงานวิจัยและพัฒนาด้านการคมนาคมระบบรางที่ได้ส่งมอบผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนารถยนต์รางขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” จากทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น โดยส่งมอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

30 มี.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: