หน้าแรก สวทช. และภาคีเครือข่าย ร่วมกับ GYA จัดงานประชุมนานาชาติดึงนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จาก 50 ประเทศทั่วโลกหารือเรื่องการรองรับสังคมผู้สูงอายุ
สวทช. และภาคีเครือข่าย ร่วมกับ GYA จัดงานประชุมนานาชาติดึงนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จาก 50 ประเทศทั่วโลกหารือเรื่องการรองรับสังคมผู้สูงอายุ
11 พ.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับภาคีเครือข่าย และ The Global Young Academy (GYA) หรือองค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมนานาชาติ Global Young Academy Annual General Meeting 2018 (GYA AGM 2018)

ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีของ GYA ภายใต้หัวข้อ “Forever Young? : Sustainable and Healthy Longevity through Science and Technology” (“หนุ่มสาวตลอดกาล? : อายุยืนยาวและสุขภาพดีด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”) ระหว่างวันที่ 7 – 11 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมดุสิตธานีพัทยา จ.ชลบุรี โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ดร.ฟลาเวีย ชเลเกล ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไป องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และ ศาสตราจารย์ ดร.ลุย ดีเพ ประธาน The Interacademy Partnership กล่าวเปิดการประชุม

 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า งานประชุมนานาชาติ Global Young Academy Annual General Meeting 2018 ถือเป็นโอกาสสำคัญยิ่งในการที่บุคลากรวิจัยรุ่นใหม่จากทั่วโลกจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และเปิดโอกาสนักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยพบปะนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและเก่งระดับโลก

 

มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 190 คนจาก 50 ประเทศ โดยปีนี้จะมุ่งสร้างความตระหนักในเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นของหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย หัวข้อเสวนาและการระดมสมองจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านการแพทย์ เครื่องมืออุปกรณ์ ที่พักสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ การอุปโภคบริโภค การบริการ ตลอดจนนโยบาย เพื่อมองเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศและโลกต่อไป

 

ดร.อรกนก พรรณรักษา ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า การจัดงาน GYA AGM ครั้งนี้ เป็นปีที่ 8 สลับเหย้าเยือนระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา สวทช. เป็นหน่วยงานสนับสนุนงานนี้ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ โดยหัวข้อครั้งนี้คือเรื่อง Forever Young? : Sustainable and Healthy Longevity through Science and Technology” หรือ หนุ่มสาวตลอดกาล? : อายุยืนยาวและสุขภาพดีด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ในเป้าหมายที่ 3 จาก 17 ข้อ ของสหประชาชาติ ในการรับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากแต่ละประเทศที่มาร่วมงาน จะมีโอกาสไปนำเสนอในเวทีนานาชาติ เพราะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในแต่ละประเทศ ขณะที่ในประเทศไทย สามารถสร้างความตระหนักให้คนไทยได้เห็นความสำคัญของเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้”

 

ด้านหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ดร.สัญชัย คูบูรณ์ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้สูงอายุขึ้นมาก โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้สามารถดูแลกลุ่มผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านเทคโนโลยีที่ช่วยในเรื่องการเดินทาง การสื่อสาร สุขภาพ การแพทย์ และการส่งเสริมให้ใช้ความรู้ความสามารถของผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณค่า เช่น เทคโนโลยีที่ช่วยในเรื่องการเดินทางได้สะดวกไม่ต้องพึ่งคนรอบข้าง อุปกรณ์หุ่นยนต์ที่คุยเป็นเพื่อนได้ ช่วยสื่อสาร ลดความเครียด ตอนบุตรหลานไปทำงาน และการพัฒนาเซ็นเซอร์ ที่ทำให้ทราบว่าผู้สูงอายุนอนติดเตียงหรือเสี่ยงต่อการตกเตียงหรือไหม เป็นต้น ประเทศไทยยังต้องมีการเตรียมตัวเพื่อรองรับเข้าสู่สังคมสูงอายุพอสมควร สิ่งที่ทำให้มีความพร้อมมากขึ้น คือ การสร้างความตระหนักในเรื่องสังคมผู้สูงอายุว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน เมื่อทุกคนตระหนักแล้วทุกภาคส่วนจะให้ความสนใจในการดูแลและเอาใจใส่กลุ่มคนส่วนนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงจะเกิดโอกาสทางการตลาดให้แก่ภาคธุรกิจได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน”

ในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญคือ การเสวนาในเรื่องการรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเด็นต่างๆ เช่น การเสวนาเรื่อง “สูงวัยอย่างมีสุขภาพที่ดี มีความสำคัญอย่างไร” ซึ่ง ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. ร่วมนำเสนอและกล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลมีอายุยืนยาว 3 ปัจจัย ได้แก่ พันธุกรรมและการแสดงออกของสารพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และแนวทางการใช้ชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพ

 

โดยมีผลการศึกษาจากบลูโซน (Blue zones) ซึ่งเป็นแหล่งที่มีคนอายุยืนของโลก เช่น เมือง Loma Linda ประเทศสหรัฐอเมริกา เมือง Sardinia ประเทศอิตาลี เมือง Okinawa ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ Dr. Suraj Bhattarai ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต จาก London School of Hygiene & Tropical Medicine พูดถึงความสำคัญของการสูงวัย เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอัตราส่วนของประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในปี ค.ศ. 2050 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน และได้กล่าวว่าการมีสุขภาพดีประกอบไปด้วย 3 หลัก ได้แก่ สุขภาพกายที่ดี สุขภาพจิตที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม

 

ในส่วนหัวข้อเสวนาเรื่อง “ชุมชนของการมีชีวิตยืนยาวและสุขภาพดีสำหรับทุกช่วงวัย” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ลุย ดีเพ ประธาน The Interacademy Partnership และ Chinese Academy of Medical Sciences, Peking Union Medical College บรรยายถึงการสูงวัยซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในมนุษย์ การสูงวัยเกิดขึ้นใน 4 ระดับ ไล่ตั้งแต่ระดับที่เล็กที่สุดคือ โมเลกุล ไปจนถึงระดับใหญ่ที่ปรากฏออกมาให้เห็นอาการเจ็บป่วย วิธีการรักษาโรค นอกจากจะทำการรักษาตามอาการแล้ว ยังสามารถป้องกันการเกิดโรคหรือชะลอความสูงวัยได้โดยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่บ่อนทำลายสุขภาพ ขณะที่ รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บรรยายว่าในปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลแล้ว ควรส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่คนเดียวในพื้นที่ห่างไกล จากกรณีศึกษาล่าสุดที่ อ.บางแสน จ.ชลบุรี ได้มีการศึกษาการใช้อุปกรณ์พกพาติดตัวที่สามารถติดตามกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุได้ ทำให้ผู้ดูแลสามารถเฝ้าติดตามสุขภาวะของผู้สูงอายุได้แม้จะไม่ได้อยู่ในสถานที่นั้น อีกทั้งยังสามารถแจ้งเตือนในกรณีฉุกเฉินได้ด้วย

นอกจากนี้ Assoc. Prof. Dr. Naoki Kondo จาก The University of Tokyo ได้บรรยายถึงประเทศญี่ปุ่นว่าเป็นประเทศที่มีอายุไขเฉลี่ยสูงสุดในโลก และกำลังประสบปัญหาจากจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลต่อระบบประกันสุขภาพของประเทศที่ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องความยั่งยืนของระบบฯ ในอนาคต วิธีการแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องแก้ที่ระดับนโยบายของประเทศ ให้มีการวางแผนและทิศทางที่ชัดเจนและเข้มแข็ง นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยสูงวัยที่รักษาหายแล้วไม่กลับมาป่วยอีกครั้ง คือการสร้างชุมชนที่ดีและเหมาะสมสำหรับกลุ่มคนสูงวัย (Community Salon) โดยการสร้างพื้นที่สำหรับให้ผู้สูงอายุในชุมชนสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้
Dr. Daniel Ochieng Orwenjo จาก The Technical University of Kenya บรรรยายถึงเรื่องการมีชีวิตยืนยาว ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้สูงวัยประสงค์จะมี เนื่องจากการสูงวัยจะมาพร้อมกับความเจ็บป่วย ความอ่อนแอของร่างกาย ความรู้สึกไร้ค่าในสังคมหลัง ความสูญเสียเพื่อนหรือคนรัก เนื่องจากความตายและนำมาซึ่งความรู้สึกเดียวดาย ในทวีปแอฟริกามีหลายคำสุภาษิตที่กล่าวเกี่ยวกับผู้สูงวัยไว้ เช่น คนสูงวัยไร้คนชื่นชม เมื่อยามสิงโตแก่แม้แต่ฝูงแมลงวันก็ยังสามารถจู่โจมได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการยกย่องและอาจเป็นภาระของสังคม บางชนเผ่ามีการฆ่าผู้สูงวัยโดยอ้างว่าเป็นแม่มด สำหรับประเทศเคนย่า พ่อแม่มักจะคาดหวังลูกหลานว่าจะมาดูแลตนเองเมื่อยามสูงวัย แต่ในปัจจุบันการระบาดของโรคเอดส์เป็นปัญหาใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุบางคนต้องมาดูแลลูกหลานของตน นอกจากนี้มีประชากรเพียงส่วนน้อยที่มีการวางแผนทางการเงินหลังเกษียณไว้ วิธีการแก้ปัญหาคือ การที่รัฐบาลต้องให้การศึกษากับประชาชนและผู้ดูแลผู้สูงวัยให้ดีขึ้น และเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานผู้สูงวัย มีการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม หรือ ควรต้องมีระบบประกันสุขภาพที่ครบถ้วน

 

ศาสตราจารย์ ดร.ฮาราล์ ซู เฮาเซ่น นักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา หรือการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2551 กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “มะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อและวิธีป้องกัน” พร้อมด้วยการเสวนาในหัวข้อ “มนุษย์กับธรรมชาติเพื่อการมีสุขภาพดีและอายุยืนในมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ภาวิณี ชินะโชติ อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย หัวข้อ มุมมองด้านอาหารของเอเชียในปี พ.ศ. 2593 ถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหารซึ่งเกิดจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ภาวะโลกร้อน อาหารที่มีราคาสูงขึ้น และความแตกต่างของมาตรฐานอาหารในแต่ละภูมิภาค ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ เช่น กระบวนการแปรรูปอาหารและการทำเกษตรอัจฉริยะโดยใช้เครื่องจักร หุ่นยนต์ และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอาหารได้ รวมถึงการบรรยายของ Asst. Prof. Shallini Arya จาก Institute of Chemical Technology เรื่อง “บทบาทของอาหารต่อความเยาว์วัยตลอดกาล” ในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นสำหรับประชากรที่กำลังจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ปัญหาสำคัญที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ โรคหัวใจ การเสื่อมของกระดูก การมองเห็น โรคทางสมองต่าง ๆ และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อีกทั้งยังได้บรรยายถึงวิธีการที่จะชะลอการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยการให้ความสำคัญกับโภชนาการ และการออกกำลังกาย

 

โดยหัวข้อสุดท้าย Prof. Dr. Kevin Marsh จาก University of Oxford บรรยายเรื่อง “สุขภาพและสิ่งแวดล้อมในแอฟริกา” การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในแอฟริกาในอนาคตที่แตกต่างจากทวีปอื่นๆ ได้แก่ การลดลงอย่างชัดเจนของอัตราการเสียชีวิตในวัยเด็ก จำนวนประชากรในแอฟริกาที่จะเพิ่มขึ้น พีรามิดของประชากรที่มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการขยายตัวของชุมชนเมือง สภาพอากาศจะแห้งแล้งมากขึ้น ส่งผลต่อการขยายตัวของทะเลทราย อย่างไรก็ตามทวีปแอฟริกายังมีโอกาสที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกมากเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ

11 พ.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: