หน้าแรก เด็กไทยสุดเจ๋ง! คว้า 6 รางวัลใหญ่ จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel ISEF 2018
เด็กไทยสุดเจ๋ง! คว้า 6 รางวัลใหญ่ จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel ISEF 2018
21 พ.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

ตัวแทนเยาวชนไทยคว้า 6 รางวัลใหญ่ จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2018 (Intel ISEF ครั้งที่ 69) โดยมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เข้าร่วมนำเสนอโครงงาน 1,792 โครงงาน จาก 81 ประเทศทั่วโลกมาร่วมแข่งขัน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 18 พฤษภาคม 2561 ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ตัวแทนเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขัน Intel ISEF 2018 ในครั้งนี้ เป็นเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน จากเวที “การประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 20” (Young Scientist Competition: YSC 2018) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) และเวที “ค่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ” (Thai Young Scientist Festival: TYSF) ดำเนินการโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ Intel Foundation ซึ่งเด็กไทยสามารถคว้ารางวัลใหญ่ (Grand Awards) 3 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Awards) อีก 3 รางวัล พร้อมเงินรางวัลรวม 12,000 เหรียญสหรัฐ ดังนี้

  

1.รางวัล Grand Awards: Third Place Award ใน Category: Animal Sciences 
รางวัลที่ 3 สาขาสัตวศาสตร์
โครงงานเรื่อง “การพัฒนาถ้วยน้ำผึ้งเทียมเพื่อการขยายรังของชันโรง (Increasing the Honey Productivity of Stingless Bees (Tetragonula fuscobalteata) by Creating Pseudo Honey Pots)”
ผู้พัฒนา นายวิรชัช ศรีปุริ นางสาวจิตรลดา ไชยชมภู และ นายบุณยกร สอนขยัน
อาจารย์ที่ปรึกษา นายสุทธิพงษ์ ใจแก้ว
โรงเรียน ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
น้องๆ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “จริง ๆ แล้วที่บ้านทำสวนอยู่แล้ว โดยปกติแล้วเกษตรกรจะเลี้ยงตัวชันโรงเพื่อให้ผสมเกสรให้ แต่ตัวชันโรงจะทำรังนาน เราจึงคิดหาวิธีทำถ้วยน้ำผึ้งเทียมมาไว้ในรังเพื่อช่วยลดภาระของตัวชันโรง เมื่อชันโรงว่างก็จะออกไปผสมเกสรมากขึ้นช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร” นอกจากนั้นก่อนไปทำการแข่งขันต่อน้อง ๆ ได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงงานเพื่อให้มีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น “จริง ๆ ก็มีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมชันโรงเพิ่มเติม มีการศึกษาดูคุณสมบัติของน้ำผึ้ง และเปลี่ยนหัวข้อโครงการจากการทำเรื่องขยายรังมาเป็นการดูคุณสมบัติของน้ำผึ้งและการวัดการบินเข้าออกในรังแทน”

2.รางวัล Grand Awards: Fourth Place Award ใน Category: Mathematics 

รางวัลที่ 4 สาขาคณิตศาสตร์
โครงงานเรื่อง “การศึกษาสมการเชิงขั้วของการกระจายตัวของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดแบบต่างๆ (The Polar Equations of Water Distribution from Butterfly Sprinkler Heads)”
ผู้พัฒนา นายอดิศร ขันทอง นางสาววิชยา เนตรมนต์ประภา และ นางสาวกุลณัฐ บูรณารมย์
อาจารย์ที่ปรึกษา นายศักดิ์นรินทร์ จันทร์นาค
โรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี (ตัวแทนจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งเข้าร่วมแข่งขัน)

3.รางวัล Grand Awards: Fourth Place Award ใน Category: Plant Sciences 

รางวัลที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์พืช
โครงงานเรื่อง “หลักการการแตกของฝักส้มกบ (Dehiscence of Creeping Woodsorrel’s Capsule)”
ผู้พัฒนา นายณัฐบูรณ์ ศิริแสงตระกูล
อาจารย์ที่ปรึกษา นายอัครวัฒน์ ศรีสวัสดิ์
โรงเรียน สาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง)
และ รศ.ดร.วิวัธน์ ยังดี ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
(ตัวแทนจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งเข้าร่วมแข่งขัน)

นอกจาก 3 รางวัลใหญ่ข้างต้นแล้ว เยาวชนไทยยังได้รับรางวัล Special Awards ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษจากหน่วยงานและสมาคมวิชาชีพต่างๆ ในระดับโลกมอบให้ ได้แก่

1.รางวัลจาก United States Agency for International Development หรือ USAID 2018 Science for Development
First Place Award ในสาขา Humanitarian Assistance and Disaster Mitigation พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 5,000 เหรียญสหรัฐ
รางวัลที่ 1 สาขาการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย :
โครงงานเรื่อง “นวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำจากเนอสเซอรีอนุบาลโกงกางใบใหญ่ (Innovative Conservation of Wetland Resources with Rhizophora mucronata Nursery)”
ผู้พัฒนา นายกษิดิ์เดช สุขไกว นายพัทธดนย์ นามวงค์เนาว์ และ นางสาวชิดชนก อินทร์แก้ว
อาจารย์ที่ปรึกษา นางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ และ นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ โรงเรียน สุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นางสาวชิดชนก อินทร์แก้วได้ให้สัมภาษณ์ถึงโครงงานชิ้นนี้ว่า “ทุกครั้งที่มาร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนที่ทางโรงเรียนจัดให้ สังเกตว่าทำไมต้องไปปลูกป่าในที่เดิมๆ เสมอ แล้วมารู้ทีหลังว่าต้นที่ตัวเองปลูกนั้นตายไปแล้ว แต่เพราะอะไร ทำไม เป็นโจทย์ให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมทำให้รู้ว่า ต้นโกงกางโตช้าและปรับตัวยากต่อสภาพแวดล้อมทำให้มีโอกาสรอดได้ยาก จึงเกิดเนอสเซอรีโกงกางขึ้นในเวลาต่อมา โดยตัวเนอสเซอรี่จะเป็นรูปทรงกรวยคว่ำใส่ไว้ที่ต้นโกงกางเมื่อต้นโกงกางโตขึ้น เนอสเซอรรีจะค่อยๆ ย่อยสลายไปเองเพราะทำจากกระดาษ” 

นอกจากนี้น้องๆ ยังได้พูดถึงการเตรียมความพร้อมก่อนไปแข่งว่า มีการหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนโครงการบ้างแล้ว “มีการหาทฤษฎีเพิ่มเติมและตรวจวัดประสิทธิภาพของงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเวลาตรวจวัดจะไปทำการทดลองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพราะมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ที่นั่น” และการเตรียมตัวนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษนั่นน้อง ๆ กล่าวว่ามีความมั่นใจในระดับหนึ่ง เพราะได้อ่านบทความภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ทำให้รู้ศัพท์เฉพาะมากขึ้นและสามารถนำไปใช้ตอนตอบคำถามกรรมการได้ดียิ่งขึ้น
2.รางวัลจาก United States Agency for International Development หรือ USAID 2018 Science for Development
Second Place Award ในสาขา Humanitarian Assistance and Disaster Mitigation พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 3,000 เหรียญสหรัฐ
รางวัลที่ 2 สาขาการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย :
โครงงานเรื่อง “ระบบเครือข่ายเซนเซอร์สื่อสารไร้สาย เพื่อการแจ้งเตือนไฟป่า และการลักลอบตัดไม้ (Wireless Sensor Network for Illegal Logging and Wildfire Detection)”
ผู้พัฒนา นายญาณภัทร นิคมรักษ์ อาจารย์ที่ปรึกษา นายธีระวุฒิ จันทะพันธ์  โรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร(ตัวแทนจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งเข้าร่วมแข่งขัน)

3.รางวัลจาก Sigma Xi, The Scientific Research Honor Society รางวัลชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัลมูลค่า 2,000 เหรียญสหรัฐ ในฐานะโครงงานประเภททีมยอดเยี่ยม (Best Example of Team Science)
โครงงานเรื่อง “การศึกษาสมการเชิงขั้วของการกระจายตัวของน้ำจากหัวสปริงเกอร์ชนิดใบพัดแบบต่างๆ (The Polar Equations of Water Distribution from Butterfly Sprinkler Heads)”
ผู้พัฒนา นายอดิศร ขันทอง นางสาววิชยา เนตรมนต์ประภา และ นางสาวกุลณัฐ บูรณารมย์
อาจารย์ที่ปรึกษา นายศักดิ์นรินทร์ จันทร์นาค โรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี(ตัวแทนจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ส่งเข้าร่วมแข่งขัน)

ทั้งนี้ เยาวชนไทยจะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2561 เวลา 6.30 น. พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ถึงความสำเร็จในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในครั้งนี้

21 พ.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: