หน้าแรก REnovanic, Sence-Care และ Codi คว้า 3 ทุนพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ในเวที Digital Innovation Startup Apprentice Batch 4
REnovanic, Sence-Care และ Codi คว้า 3 ทุนพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ในเวที Digital Innovation Startup Apprentice Batch 4
29 ส.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

เมื่อเร็วๆ นี้ (27 ส.ค. 61) ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) จัดประกวดการแข่งขันรอบสุดท้าย (demo day) ในโครงการพัฒนาทักษะการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจเริ่มต้น รุ่น 4 หรือ Digital Innovation Startup Apprentice Batch 4 (DISA B4)

โดยมีน้องๆ เยาวชนที่เข้าร่วมบ่มเพาะการเป็นสตาร์ทอัพและได้รับคัดเลือกจำนวน 12 ทีม ร่วมนำเสนอผลงานในลักษณะเวทีพิชชิ่งทีมละ 7 นาที ต่อหน้าคณะกรรมการ เพื่อค้นหา 3 ทีมที่มีผลงานโดดเด่นและน่าลงทุนให้ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ โดยผลงานจากน้องๆ มจธ. มจพ. วิทยาเขตระยอง และสถาบันปัญญาภิวัฒน์เข้าตา คว้าทุนทีมละ 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัล เพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานต่อไป โดยมีคุณเฉลิมพล ตู้จินดา รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค เป็นประธานเปิดงานและร่วมเป็นกรรมการตัดสิน พร้อมด้วยคุณปฤษฎา หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. และคุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวคิว ประเทศไทย จำกัด

 

ทั้งนี้ ทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบทีมละ 10,000 บาท โดยโครงการมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมที่เป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา นักศึกษาจบใหม่ หรือนักพัฒนาอิสระได้มีความรู้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ และสามารถเติบโตไปเป็นวิสาหกิจเริ่มต้นด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Technology Startup ได้ต่อไปในอนาคต
สำหรับ 3 ผลงานจาก 12 ทีมรอบสุดท้ายที่ได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย

ผลงานแรก คือ REnovanic: Turn Waste into Clean Energy จากน้องๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นพลังงานสะอาด โดยใช้หลักการหมักให้เกิดก๊าซธรรมชาติและนำไปใช้ประโยชน์ พัฒนาต่อยอดมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านโดยใช้ IoT เทคโนโลยี ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น ปลอดภัย ใช้งานง่าย และสามารถแบ่งปันพลังงานให้คนอื่นได้ด้วย

ผลงานที่ 2 คือ Sence-Care จากน้องๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) วิทยาเขตระยอง เป็นอุปกรณ์ช่วยในการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ อุณภูมิร่างกาย ตรวจจับการเคลื่อนไหว และเตือนให้ผู้ป่วยพลิกตัวนอน หรือเตือนในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ แพทย์และพยาบาลสามารถติดตามดูอาการได้ตลอด 24 ชั่วโมง แบบ real time ผ่านจอมอนิเตอร์หรือ smartphone ทำให้สะดวก เพิ่มความปลอดภัยในการรักษามากยิ่งขึ้น รวมถึงผู้ป่วยได้รับการดูแลและพักฟื้นได้อย่างเต็มที่

และผลงานที่ 3 คือ Codi: Code it your way จากน้องๆ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็น Platform สำหรับการเขียนชุดคำสั่งโปรแกรม IoT ในรูปแบบของบล็อกลากวาง (Graphic Programming) ที่มีชุดคำสั่งสำเร็จรูปให้บริการ โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเขียนชุดคำสั่งเองให้เสียเวลา รวมถึงมีฟังก์ชัน Community และฟังก์ชัน e-learning เพื่อการศึกษาสำหรับการฝึกพื้นฐานการเขียนชุดคำสั่งโปรแกรมในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับผู้เริ่มต้นเรียนรู้ด้านการเขียนชุดคำสั่งโปรแกรม โดยมีภาษา JavaScript / Python ซึ่งเป็นภาษาพื้นฐานในการพัฒนาโปรแกรม

29 ส.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: