ข่าวกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 5 พฤษภาคม 2561
การประชุมวิชาการนักเรียนไทยในทวีปยุโรป (TSAC2018) ครั้งที่ 7 ประจำปี 2561
เมื่อวันที่ 18-20 พ.ค.61 สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ได้ร่วมกับสำนักงาน ก.พ. จัดประชุมวิชาการนักเรียนไทยในทวีปยุโรป (TSAC2018) ครั้งที่ 7 ประจำปี 2561 ในหัวข้อ “การมุ่งเน้นนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” ภายใต้แนวคิด “Bridging Academic Research and Practical Impleicatain : knowledge creation and transferring”พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ : ทิศทางและนโยบายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาประเทศไทยโดยการใช้นวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap)
งานประชุมวิชาการนักเรียนไทยในทวีปยุโรปจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2555 โดยสมาคมนักเรียนไทยในราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และมีการจัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีหมุนเวียนไปตามประเทศต่างๆ เป้าหมายเพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในงานวิจัย ประสบการณ์จากการเรียน และการใช้ชีวิตในต่างประเทศ สิ่งสำคัญอีกประการของการประชุมคือ การสร้างเครือข่ายนักเรียนและนักวิจัยในทวีปยุโรป โดยการประชุมวิชาการนักเรียนไทยในทวีปยุโรปครั้งที่ 7 จัดขึ้น ณ ประเทศเบลเยียม เนื่องจากได้ให้ความสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง โดยมีการจัดตั้งหน่วยงานและความช่วยเหลือในการจัดตั้ง บริษัท Startup และ Spin-off ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยนักเรียนไทยที่กำลังศึกษาและทำวิจัยในทวีปยุโรประดับปริญญาโท-เอก จำนวน 62 คน
Fraunhofer Institute Center Schloss Birlinghoven (IZB)
สถาบันฟรอนโฮเฟอร์ IZB เป็นศูนย์วิจัยด้านสารสนเทศและคณิตศาสตร์ประยุกต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี เพื่อวิจัยถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมและสังคม
1. Fraunhofer-Institute for Algorithms and Scientific Computing (SCAI) ดำเนินการวิจัยในด้านการจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต รวมถึงการออกแบบและเพิ่มประสิทธิภาพของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม และทำการคำนวณผ่านการใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computer) นอกจากนี้ยังมีฝ่ายชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ที่มุ่งเน้นพัฒนาวิธีการเพื่อใช้สำหรับการสกัดข้อมูลและเคมีสารสารสนเทศ
2. Fraunhofer Institute for Applied Information Technology (FIT) จะดำเนินการวิจัยในรูปแบบบูรณาการระหว่างสาขา โดยจะบูรณาการความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
3. Fraunhofer Institute for Intelligent Analysis and Information Systems (IAIS) พัฒนานวัตกรรมในการวิเคราะห์และสร้างข้อมูล โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสาขาการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) ซึ่งเป็นกระบวนการใช้ข้อมูลจำนวนมากเพื่อค้นหารูปแบบและความสัมพันธ์ และสาขาธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence, BI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำหรับการรวบรวมข้อมูล จัดเก็บ วิเคราะห์ และการเข้าถึงข้อมูลนำมาพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ บริการและกระบวนการผลิต
4. Fraunhofer Institute for Secure Information Technology (SIT) ดูแลเรื่องการจัดการความปลอดภัยของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
สาขางานวิจัยที่มุ่งเน้นของสถาบันฟรอนโฮเฟอร์ IZB
1 ระบบกริดและการคำนวณแบบกลุ่มก้อนเมฆ (Grid and Cloud Computing) โดยจะต่อยอดการใช้เทคโนโลยีเว็บไซต์ไปยังการบริการอื่นๆ ในสาขาเทคโนโลยีเว็บไซต์
2 การทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) เป็นกระบวนการที่ใช้ข้อมูลจำนวนมากเพื่อค้นหารูปแบบและความสัมพันธ์ แล้วสกัดพร้อมแปลผลข้อมูลออกมา
3 การออกแบบระบบโต้ตอบระหว่างเครื่องจักรกับมนุษย์ (Man-machine interaction, MMI)
ข้อมูลสถานภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม (วทน.) ของประเทศออสเตรีย
ประเทศออสเตรียมีจุดแข็งด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน นวัตกรรมด้านการคมนาคมโดยเฉพาะขนส่งระบบราง ชีววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านการแพทย์และเภสัชศาสตร์ชีวภาพฯ ประเทศออสเตรีย มี 3 กระทรวงที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ประกอบด้วย
1 กระทรวงวิทยาศาสตร์ วิจัย และเศรษฐกิจ เป็นกระทรวงที่สร้างแนวทางให้กับบริษัทและภาคเอกชน ผ่านการสนับสนุนด้านการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีพันธกิจหลักในด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษาระดับอุดมศึกษา การวิจัย การวางนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนานวัตกรรม นโยบายการค้าระหว่างประเทศ
2 กระทรวงขนส่ง นวัตกรรม และเทคโนโลยี เป็นกระทรวงที่สร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม รับผิดชอบ 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านคมนาคม ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และด้านโทรคมนาคม
3 กระทรวงเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและการจัดการน้ำ ทำหน้าที่ในการดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การดูแลป่าไม้และสิ่งแวดล้อม โดยมีพันธกิจหลัก 6 อย่างคือ
– การผลักดันการใช้พลังงานทดแทนในกิจการและคาร์บอนไดออกไซด์
– การนำนวัตกรรมด้านต่างๆ มาใช้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
– การให้ความรู้ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อและตัดสินใจในการซื้อสินค้า
– การปลูกจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากร น้ำ ป่าไม้ อากาศ
– ส่งเสริมกิจกรรมการเกษตรและกสิกรรมในชนบทเพื่อเป็นฐานความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
– การจัดการอุทกภัย เช่น น้ำท่วม ระบุความเสี่ยงด้านอุทกภัยและตำแหน่งที่เกิด นโยบายและมาตรการป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดอุทกภัย
ความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่างประเทศไทยและประเทศออสเตรีย
ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างประเทศไทยและประเทศออสเตรียดำเนินการผ่าน องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพ.) และ Natural History Museum Vienna โดยรูปแบบของความร่วมมือมีทั้งการจัดแสดงผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนบุคลากรและ
นักวิจัย
ปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกจากยุโรปเข้าสู่ประเทศไทย
เมื่อปี 2560 ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม สหราชอาณาจักรได้ส่งออกขยะพลาสติกมายังประเทศไทยเป็นจำนวน 51,000 กิโลกรัม แต่ในช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่าขยะพลาสติกถูกส่งมาสูงขึ้นเป็น 5,473,440 กิโลกรัม นอกจากนี้มีรายงานการนำเข้าขยะพลาสติกโดยไม่ถูกกฎหมาย มีสารเคมีปนเปื้อน มีกลิ่นเหม็น รวมถึงมีโลหะปะปน
การพิจารณาการออกกฎระเบียบห้ามนำเข้าขยะพลาสติกของประเทศไทย
โดยปกติการนำเข้าจะต้องทำการขออนุญาต ผู้ประกอบการต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอนำเข้าเศษพลาสติก พร้อมเอกสารหลักฐานไปยังสำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2019/20190617-newsletter-brussels-v5-may61.pdf