10 นวัตกรรมใหม่จากบริษัทธุรกิจเทคโนโลยี ที่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน (10 Start – Ups That will change your life)
เป็นบทความที่น่าสนใจ จากแมกกาซีนชื่อดังระดับโลก ไทม์ ฉบับวันที่ 20 กันยายน 2553 นี้ (ไทม์ มีการตีพิมพ์แบบรายสัปดาห์) ในคอลัมน์ Global Business หัวข้อหลักคือ ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี (Technology Pioneers) 10 นวัตกรรมใหม่ จากเวทีเวิลด์อีโคโนมิกส์ฟอรัม ประจำปี 2011 สรุปรายละเอียด ของ 10 นวัตกรรม ได้ดังนี้
นวัตกรรมที่ 1 โดยบริษัท Spotify (UK) – ผู้ร่วมก่อตั้งคือ Daniel Ek ให้บริการฟังดนตรีผ่านทางอินเทอร์เน็ต (music streaming service) ที่มีผู้ใช้บริการกว่า 5 แสนคนซึ่งสามารถฟังเพลง (ไม่จำกัดจากฐาน ข้อมูล 8 ล้านเพลงและ 200 ล้านรายการเพลงที่ทำโดยผู้ใช้) ใช้ได้ทั้งอย่างฟรี ถูกกฎหมาย โดยมีโฆษณา หรือจ่ายค่าบริการ 460 บาทต่อเดือน ($US 15) EK กล่าวว่า บริการนี้ไม่ใช่การขายเพลงแต่เป็นการขายการเข้าถึง ( sell access)
นวัตกรรมที่ 2 โดยบริษัท Medicine in Need, MEND (South Africa) – เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร นำโดย CEO Andrew Schiermeier ใช้รูปแบบของบริษัทร่วมทุนในการพัฒนายาให้มีราคาถูกที่สุด เพื่อให้ประชากรในประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงได้ บริษัทได้ผลิตเข็มนาโน (nanoneedle) ชึ่งช่วยประหยัดตัวยาในการฉีดวัคซีนได้ถึงร้อยเท่า รวมถึงผลิตวัคซีนมาลาเรีย และโรทาไวรัสในราคาถูกด้วย
นวัตกรรมที่ 3 โดยบริษัท Scribd (US) – ก่อตั้งโดย Trip Adler และ Jared Friedman ในปี 2007 เป็นนวัตกรรมด้านการตีพิมพ์ (publishing) ที่ให้ผู้ใช้สามารถสร้างเอกสารรูปแบบ Scribd (scribd document) จากไฟล์เอกสารเดิมในรูปแบบใดๆ ก็ได้ อีกทั้งยังสามารถแบ่งปัน และตีพิมพ์ e-book ได้ภายในไม่กี่นาที บริษัทหัก 20% ออกจากราคาขาย เทียบกับ Amazon ที่หัก 30% ตอนนี้ Scribd มีเอกสารทั้งหมดกว่า 10 ล้านฉบับและ วางแผนว่าปีนี้จะตี พิมพ์ e-book กว่า 350,000 ฉบับ
ในปี ๒๐๐๙ ได้เปิดบริการ Scribd storeสำหรับบริการการจัดเก็บ
นวัตกรรมที่ 4 โดยบริษัท Flexoresearch (Thailand) – คุณไพจิต แสงชัย ได้พัฒนาเอนไซม์ 5 กลุ่ม ซึ่งสามารถกำจัดพลาสติก อะลูมิเนียม และสารอื่นๆ ออกจากระดาษ ที่มีชื่อว่า กระดาษลามิเนต ที่เดิมไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้แทนสาร asbestos ในวัสดุก่อสร้างที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย ราคาถูกกว่าเดิม
นวัตกรรมนี้ช่วยปกป้องป่าไม้ ลดของเสีย ลดมลพิษ
นวัตกรรมที่ 5 โดยบริษัท Neuronetics (U.S.) – Bruce Shook ได้พัฒนาการบำบัดโรคซึมเศร้า จากสถิติชาวอเมริกัน จำนวน ๑๕ ล้านคนที่ต่อสู้กับโรคซึมเศร้านี้ ด้วยวิธี Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) ซึ่งไปใช้แทน การบำบัดด้วยการใช้ไฟฟ้าซ๊อตแบบเดิม โดยระบบดังกล่าวจะใช้คลื่นแม่เหล็กในการทำให้เกิดประกายไฟฟ้าขนาดเล็กในสมอง ซึ่งประกายไฟฟ้าจะไปช่วยกระตุ้นให้รู้สึกดีขึ้นและผ่อนคลาย โดยในการเข้ารับการบำบัด แต่ละครั้งผู้ป่วยที่ไปนั่งสามารถนั่งพักผ่อนอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมได้ตามปกติจะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาชาหรือยาสลบ
นวัตกรรมที่ 6 โดยบริษัท Layar (The Netherlands) – CEO Raimo van der Klein ผู้ผลิตซอฟแวร์ทางด้าน mobile Augmented-Reality (AR) ซึ่งใช้ข้อมูล GPS เครื่องวัดความเร่ง เข็มทิศ และเครื่องวัดการหมุนวนใน smart phone เพื่อเรียกดูข้อมูลของสิ่งสร้างที่ปรากฏในจอของ smart phone ขณะนี้ Layar App มีใช้ทั้งใน Android smart phone และ iPhone ขณะนี้มีสมาชิก 9 แสนคน ให้บริการชื่อ layer 1,100 layer
นวัตกรรมที่ 7 โดยบริษัท Vortex (India) – ผู้ก่อตั้ง Lakshminarayan Kannan และ Vijay Babu ผลิตเครื่อง Gramateller ตู้เอทีเอ็มซึ่งมีราคาถูก ประหยัดไฟ ไม่ต้องคอยบำรุงรักษา มีความแข็งแรง กินไฟเท่ากับ หลอดไฟ 70 วัตต์ และยังมีแบตเตอร์รี่สำรองและแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในยามไฟดับ ซึ่งโดยปกติแล้วเครื่องเอทีเอ็มทั่วไปมีราคาอยู่ที่ 620,000 บาท ($US 20,000) แต่เครื่องผลิตใหม่ดังกล่าว มีราคาเพียง 220,000 บาท ($US 7,000)
นวัตกรรมที่ 8 โดยบริษัท Netqin (China) – Lin Yu ผลิตซอฟแวร์ป้องกันไวรัสสำหรับมือถือ (mobile antivirus software) ที่ขณะนี้มีผู้ใช้ราว 800 ล้านเครื่องในประเทศ ได้ร่วมมือกันบริษัทขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Dazhong เพื่อติดตั้งซอฟแวร์ดังกล่าวไปพร้อมกับมือถือ ใหม่ทุกเครื่อง Netqin หวังว่าความสำเร็จจากความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การเป็นพันมิตรกับ Nokia, China Mobile และ China Unicom
นวัตกรรมที่ 9 โดยบริษัท Novacem (UK) – CEO Stuart Evans อาจเป็นผู้ช่วยลด carbon footprint จากอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์ ที่คิดเป็นปริมาณเกือบร้อยละ 5 ของ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าอุตสาหกรรมการบินเสียอีก Novacem ได้ผลิตซีเมนต์ ด้วยวิธีใหม่ จากการผลิตซีเมนต์แบบเดิมต้องใช้อุณหภมิถึง 1,400 องศาเซลเซียส และใช้หินปูน และปล่อยคาร์บอนออกมา ในการผลิตของ Novacem ใช้ magnesium silicates ซึ่งไม่ปล่อยคาร์บอนออกมา และใช้อุณหภูมิ 700 องศาเซลเซียส แต่ตอนนี้ความแข็งแกร่งของ Novacem ซีเมนต์ ยังไม่เท่าซีเมนต์แบบเก่า แต่ก็สามารถนำไปใช้งานได้หลายแบบยกเว้นงานที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งมากเช่น การสร้างสะพานยาวๆ
นวัตกรรมที่ 10 โดยบริษัท Getjar (US) – ก่อตั้งโดย Ilja Laurs ในปี 2005 จากทุนก่อตั้งเพียงแค่ 310,000 บาท มีบริการให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของมือถือ ฟรี 70,000 แอพพลิเคชั่น ซึ่งแอพพลิเคชั่น ดังกล่าวสามารถใช้ได้กับมือถือเกือบ 2,500 รุ่น โดยตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งถึงปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นไปแล้วกว่า พันล้านครั้ง
อ้างอิงจาก แมกกาซีนไทม์ – 20 กันยายน 2553 หน้า 37-42
แปลและเรียบเรียงโดย -พรเทพ มีทุนกิจ
ศูนย์พันธุวิศวกรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
วันที่ 30 กันยายน 2553