กลุ่มเพื่อนสวทช. FoN เดินหน้าช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วม แจกถุงฟื้นฟูบ้าน พร้อมแพคเกจดูแลบ้านและธุรกิจหลังน้ำลด แก้ปัญหาตื่นตูมซ่อมบ้านจนถูกผู้รับเหมาโขกราคา ดันกลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีช่วยเหลือ SMEs รับซ่อม ตรวจสอบ แจกซอฟต์แวร์ หางานให้ฟรี
ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่และมีการเร่งฟื้นฟูอยู่ในขณะนี้ ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือสวทช. (NSTDA) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมมือกับกลุ่มองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเทคโนโลยีร่วมกันตั้งกลุ่มเพื่อนสวทช. หรือ Friends of NSTDA (FoN) ขึ้น เพื่อระดมเทคโนโลยี เชื่อมโยงกับทรัพยากรอื่นๆ ในการเข้าช่วยเหลือปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ โดยจะเน้นการเป็นโซลูชัน การให้ความรู้และหวังผลที่จะให้รวมกลุ่มกันดำเนินการต่อไปในระยะยาว
กลุ่ม FoN จะแบ่งออกตามกลุ่มของปัญหาคือ กลุ่มบ้าน และกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ด้วยการตั้งโจทย์แรกก็คือ การเข้าร่วมฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ เป็นแกนหลักในการทำงาน ด้วยการเน้นบูรณาการระหว่างกัน นั่นหมายถึงการนำเทคโนโลยีจากหลายๆ แห่งมารวมเข้าไว้ด้วยกัน และนำเสนอการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ สร้างโซลูชันใหม่ ต่อยอดจากโซลูชันเดิมให้ครบรอบด้าน โดยไม่มีนโยบายปิดกั้น และทางผู้ประสบภัยสามารถร้องขอความต้องการให้ช่วยเหลือใหม่ๆ เข้ามาได้
ปัจจุบันกลุ่ม FoN มีสมาชิกอยู่ทั้งหมดประมาณ 20 ราย มีโครงการที่เข้าร่วม FoN ในรอบสามเดือนนี้ประมาณ 20 กว่าโครงการ ซึ่งมีหลายโครงการที่จะดำเนินการต่อไปในระยะยาว
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า แผนงานในระยะสั้นของ FoN คือ การฟื้นฟูบ้านและธุรกิจด้วยเทคโนโลยี โดยกลุ่มบ้าน จะเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ในการเข้าบ้านอย่างปลอดภัย จนถึงการทำความสะอาดในแบบต่างๆ การใช้อุปกรณ์และวัสดุที่เป็นเทคโนโลยีในการฆ่าเชื้อโรค ฯลฯ เทคนิคการซ่อมบ้านในช่วงฟื้นฟู ต่อเนื่องไปจนถึงการจับคู่ผู้ประสบภัยกับช่างซ่อมบ้านและผู้จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ ผ่านโครงข่าย Social Network โดยจุดประสงค์หลักๆ คือ การเป็นแนว BiG Bag ให้กับประชาชนไม่ให้เกิดตื่นตระหนกจากการที่ต้องแย่งชิงทรัพยากร และความรู้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านของตนเอง ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มธุรกิจ ที่เน้นในระดับ SMEs โดยจะมีทั้งแผนฟื้นฟูตั้งแต่ทำความสะอาด ต่อเนื่องไปจนถึงกู้คืนอุปกรณ์ทั้งเครื่องจักร และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครือข่าย เชื่อมต่อไปยังแผนระยะยาวในด้านอื่น เช่น ซอฟต์แวร์การบริหารงาน เป็นต้น
จากปัญหาการเข้าฟื้นฟูบ้านและสถานที่ทำงานหลังน้ำลดของภาคประชาชนและภาคธุรกิจนั้น มีตั้งแต่การไม่มีความรู้ การไม่มีอุปกรณ์ และวัสดุที่ถูกต้อง การขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนการจัดการ เช่น การกำจัดของเสียอันเกิดจากน้ำท่วม กลุ่ม FoN จึงได้จัดทำ ถุงฟื้นฟูบ้าน หรือ Home Recovery Kit ขึ้นมาเป็นต้นแบบ และได้ผลิตขึ้นมาในจำนวนหนึ่ง เพื่อหวังให้การฟื้นฟูของประชาชนดำเนินการไปได้อย่างถูกต้อง ในถุงฟื้นฟูจำนวน 500 ชุดที่กลุ่ม FoN ร่วมกันจัดทำนั้น จะประกอบด้วย กางเกงแก้ว, หน้ากากกันเชื้อรา, แป้งกันยุง, หนูสะอาด, ผงกำจัดเชื้อโรคด้วยจุลินทรีย์, น้ำยาทำความสะอาด, คู่มือการทำความสะอาด และการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ และอื่นๆ
การรับถุงฟื้นฟูบ้านของ FoN ในครั้งนี้ ในครั้งนี้จัดเตรียมให้กับ เอสเอ็มอี ที่ประสบภัยน้ำท่วม สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่เว็บไซต์ของกลุ่ม FoN www.friends-nstda.com หรือ โทรศัพท์ 02-564-8000, 083-840-6995 เพียงลงทะเบียนให้ข้อมูลตามแบบฟอร์ม และแจ้งปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือ สวทช. จะประสานผู้เชี่ยวชาญเครือข่ายของ สวทช. , มจธ. และเครือข่ายเพื่อน สวทช. ในการให้ความช่วยเหลือต่อไป สำหรับ Recovery Kit ของแต่ละรายอาจมีบริการอื่นๆ เสริม ตามความต้องการของแต่ละรายที่แตกต่างกันไปได้ เช่น บางรายเครื่องคอมพิวเตอร์จมน้ำ และต้องการกู้ฮาร์ดดิสก์คืน
สำหรับแผนในระยะยาวนั้น จะมีการเพิ่มทั้งในส่วนของเทคโนโลยี อุปกรณ์ องค์ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีรายใหม่ๆ เพื่อทำให้การช่วยเหลือทางด้านต่างๆ มีความหลากหลาย และทำให้ภาคเอกชนรายเล็กๆ สามารถจับมือร่วมกันทำ CSR ต่อไปในอนาคตได้ โดยมีสวทช.คอยเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน
นายพงศ์วัฒน์ กฤษณามระ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิลค์ เอเชีย ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม FoN เปิดเผยว่า ในส่วนของการฟื้นฟูบ้านนั้นจะเริ่มจาก NSTDA Academy ที่จัดทำสื่อเผยแพร่เกี่ยวกับการฟื้นฟูบ้านที่ถูกต้อง โดยจะมีคลิปวิดีโอสั้นๆ เพื่อทำให้คนเข้าใจง่ายๆ ประมาณ 5 ตอน คาดว่าจะเริ่มเผยแพร่วีดีโอดังกล่าว ผ่านทางสื่อมวลชนและทาง http://www.youtube.com/user/nstda ตลอดจนทยอยผลิตแจกจ่ายให้กับหน่วยงาน องค์กรและประชาชนที่สนใจได้ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป ตามด้วยบริษัท เอนคอน โซลูชั่น จำกัด ได้มอบจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำความสะอาดและขจัดกลิ่นจากคราบสกปรกทุกชนิดโดยไม่มีสารตกค้าง จำนวน 1 แสนลิตร ซึ่งจะมอบให้กับวัดหรือโรงเรียนเพื่อนำไปใช้ได้ทันที
อีกโครงการหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนคือ การซ่อมแซมบ้าน ซึ่งทาง บิลค์ เอเชีย ได้ริเริ่มโครงการ “ซ่อมๆไปก่อน” เพื่อที่จะคอยให้คำแนะนำในการซ่อมแซมบ้านโดยทีมหมอบ้านอาสาซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งสถาปนิกและวิศวกรจำนวน 30 กว่าคน เพื่อที่จะพยายามไม่ให้ผู้ประสบภัยตื่นตระหนกตกใจ กับการซ่อมแซมบ้านและเป็นการป้องกันในส่วนของการไม่ให้ความต้องการอุปกรณ์ที่ซ่อมแซมบ้านมีราคาสูงจนเกินไปอันเนื่องมาจากความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้นโดยใช้เครือข่าย Social Network ในการตอบคำถามตลอด 24 ชั่วโมง ที่ http://www.facebook.com/HomeFirstAid ส่วนแผนในระยะยาวนั้นจะใช้เครือข่ายของเว็บไซต์ ้http://www.Builk.com ในการจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการซ่อมแซมบ้านกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้ในเว็บไซต์มีผู้รับเหมาที่มีความน่าเชื่อถือกว่าหนึ่งพันรายรองรับอยู่ โดยผู้ใช้สามารถค้นหาผู้รับเหมาที่ใกล้บ้าน หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในราคาที่ต้องการได้ รวมถึงการจับคู่กับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างในราคาและสเป็คที่ต้องการ
นอกจากนั้นยังมีบริษัท เบ็ทเทอร์ฟาร์ม่า จำกัด เครือเบทาโกร และ บริษัท ไฮกริม เอ็นไวรอนเมนทอลแอนด์ รีเสิร์ช จำกัด ได้เข้าร่วมนำสารเคมีในการทำความสะอาดบ้านมาสนับสนุน และยังมีโครงการ i lert u ที่เป็นระบบแจ้งขอความช่วยเหลือที่จะคอยเข้ามาประสานในรายละเอียดให้กับ FoN อีกด้วย และคาดว่าจะมีกลุ่มบริษัทและองค์กร รวมถึงจิตอาสาเข้าร่วมกับส่วนนี้อีกจำนวนมาก
นายชวลิต จรรยารักษ์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูบีซิมเปิล ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม FoN เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วมแต่มีกำลังฟื้นฟูไม่มากคือกลุ่มธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นทางกลุ่ม FoN จึงเห็นว่าแม้ความต้องการด้านนี้อาจจะไม่เร่งด่วน แต่ก็มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการของ SMEs อย่างยิ่ง
ขณะนี้ FoN ได้รวบรวมบริการต่างๆ ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย 1. ในส่วนของกลุ่มที่สามารถให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ 2. กลุ่มที่สามารถให้คำปรึกษาที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ และ 3. กลุ่มที่สนับสนุนด้านต่างๆ หลังจากการฟื้นฟูสภาพเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในปัจจุบันมีภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประมาณ 10 ราย และยังเปิดโอกาสให้มีรายใหม่เข้ามาได้ตลอดเวลา
การช่วยเหลือในเบื้องต้นของกลุ่มอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จะประกอบด้วย การเป็นที่ปรึกษาดูแล ร่วมทำเครื่องมือวิเคราะห์หรือทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจักรต่างๆ หลังน้ำลด การตรวจสอบระบบไฟฟ้า พร้อมข้อแนะนำสำหรับการใช้สารดูดความชื้นให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ในแต่ละอุตสาหกรรม โดยบริษัท บาราไซแอนติฟิค และมีศูนย์เทคโนโลยีอิเลิกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC จะเข้ามาดูแลเรื่องการอบรมสัมมนาการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในกรณีที่ฮาร์ดดิสก์ถูกน้ำท่วม และยังบริการกู้ข้อมูลให้กับ SMEs ที่ประสบปัญหา ผ่านกลุ่มบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนั้นยังมีศูนย์ทดสอบความเข้ากันได้ทางสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC Testing Center) หรือ PTEC จะเข้ามาดูแลด้านการสอบเทียบ (Calibration) เครื่องมืออุตสาหกรรม ซึ่งมักจะเสียหายจากน้ำ ซึ่งการเสียหายมักดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น โดยการทดสอบจะเน้นที่ความเที่ยงตรงของเครื่องมือเหล่านั้น และยังจะช่วยทดสอบความเข้ากันได้ทางสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นที่ปรีกษาด้านการจัดการและทดสอบ ระบบกราวด์ รวมถึงให้บริการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือทดสอบด้าน EMC Product Safety อีกด้วย
สำหรับในกลุ่มซอฟต์แวร์นั้น จะเริ่มจากการให้คำปรึกษาในการวางระบบไอทีให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม, ตรวจสอบการรักษาปลอดภัยคอมพิวเตอร์และเครือข่ายหลังน้ำท่วมว่ามีช่องโหว่หรือความเสี่ยงอะไรบ้าง และให้คำปรึกษาในการวางแผนสำรองฉุกเฉิน (BCP) การปรับปรุงแผนสำรองฉุกเฉินที่ได้มีการนำมาใช้ในระหว่างเกิดน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้คำปรึกษาในการวางแผนระยะยาวเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 เดือน จากบริษัท ทีเน็ต จำกัด (T-NET)
จากนั้นจะมีตัวแทนจาก 2 บริษัทในการช่วยเหลือให้ใช้งานซอฟต์แวร์ฟรี คือ จากบริษัท บิสซิเนส คอมเพ็ดทิทีฟ อินเทลลิเจนซ์ หรือ BCI ที่ได้นำซอฟต์แวร์ทางด้านการบริหารจัดการโรงงาน หรือ MRP (Manufacturing Resource Planning) รวมถึง PP (Production Plan), MCM (Material & Cost Management) และ CRM (Customer Relationship Management) มาให้กลุ่ม SMEs ใช้ฟรี ส่วนทางด้านการจัดการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นจะมีบริษัท เน็ตก้า ซิสเต็ม เข้ามาให้คำปรึกษาด้านการบริการจัดการเครือข่ายฟรี ระยะเวลา 3 เดือน และยังมอบส่วนลด 40% ในการซื้อ NETKA Network Manager
ส่วนกลุ่มฟื้นฟูสภาพหลังน้ำลด จะเริ่มจากการเข้าไปแก้ไขปัญหาทางด้านแรงงาน โดยบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือไอเน็ต ได้จัดทำโครงการ Thai.com รวมน้ำใจจ้างงานยามวิกฤต เพื่อเป็นศูนย์กลางประกาศรับสมัครและฝากประวัติสำหรับผู้ว่างงานที่ประสบภัยทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นช่องทางเปิดรับสมัครของกลุ่มคนที่ตกงานในช่วงประสบอุทกภัย ระบบจะทำการคัดสรรตำแหน่งงานตามคุณสมบัติหรือที่ระบุด้วยระบบคัดกรองที่มีประสิทธิภาพและส่งรายงานผลทางอีเมล์ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ประกาศรับสมัครบุคลากรของกลุ่มธุรกิจที่ต้องการฟื้นฟู ขยายกิจการหลังอุทกภัย สามารถลงประกาศตำแหน่งว่างงานฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำกัดคุณสมบัติและจำนวน โดยระบบจะขึ้นข้อมูลที่กรอกโดยอัตโนมัติให้ทันที ปัจจุบัน Thai.com มีตำแหน่งงานลงประกาศรับสมัครแล้วกว่า 1,000 ตำแหน่งจากองค์กรธุรกิจชั้นนำ และจะมีตำแหน่งงานรับสมัครอย่างน้อย 8,400 ตำแหน่งเพื่อเฉลิมฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2554
นอกจากการลงทะเบียนและลงประกาศออนไลน์แล้ว Thai.com ยังมีช่องทางการรับสมัครอื่นๆ เช่น การออกพื้นที่ของคาราวาน Thai.com Job Day ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. 2554 เพื่อรับสมัครตามศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับผู้ประสบภัยที่กลับภูมิลำเนาต่างจังหวัดที่ไม่สะดวกสมัครผ่านเว็บไซต์ สามารถติดต่อสมัครงานได้ด้วยตัวเองที่สำนักงานสาขาของไอเน็ต 7 สาขา
หากกลุ่มธุรกิจ SMEs ต้องการสร้างระบบการค้าขายออนไลน์ ทางบริษัท ทูบีซิมเปิล จะได้จัดทำระบบของ www.digitdi.com ที่สามารถทำงานได้บนระบบต่างๆมากกว่า 10 แพลตฟอร์ม โดยใช้เพียงโทรศัพท์มือถึอที่ต่ออินเทอร์เน็ตบวกกับจิตอาสาที่ต้องการช่วยเหลือผู้ทำมาค้าขายรายย่อยต่างๆ และใช้เครื่องมือช่วยสร้างระบบสารบรรณแบบดิจิตอล ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นของแต่ละร้านค้าและบริษัทต่างๆ ทั้งในรูปแบบของตัวหนังสือ ภาพนิ่งหรือแม้แต่ วีดีโอลิงค์บน youtube ของแต่ละร้านนั้นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มลูกค้าต่างๆได้ทราบว่า ร้านเหล่านี้ได้เปิดบริการแล้ว พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เจ้าของร้านและบริษัทสามารถแจ้งเวลาเปิดปิด ประเภทสินค้า, เมนูอาหาร, ที่พัก และข้อมูลอื่นๆ อีกมากมาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังสามารถปรับปรุงแก้ไขข้อมูลของตนเองได้ฟรีตลอดสามเดือนแรกของการใช้งาน
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการสำรองข้อมูล (Back Up & Disaster Recovery) ทาง True Internet Data Center (True IDC) มีโครงการ "Free True Cloud Services for Flood Crisis" โดยจะให้บริการ True Cloud Services พร้อมระบบสำรองข้อมูล ฟรี 60 วันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ประสบภัยสามารถจัดการด้วยตนเองทันที พร้อมทั้งระบบสำรองข้อมูลเพื่อให้ธุรกิจไม่สะดุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:
ฝ่ายประสานงาน
คุณธีรนิตย์ รัตนวราห
โทร. 02-644-8150 ต่อ 120
โทรศัพท์มือถือ 0818140886
อีเมล์ teeranit@nstda.or.th