หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2564 โดย IMD (2021 IMD World Digital Competitiveness Ranking)
ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล ประจำปี 2564 โดย IMD (2021 IMD World Digital Competitiveness Ranking)
3 ธ.ค. 2564
0
นานาสาระน่ารู้

ในปี 2564 IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของ 64 ประเทศทั่วโลก และได้เผยแพร่ไว้ที่ https://www.imd.org/centers/world-competitiveness-center/rankings/world-digital-competitiveness/ โดยมีผลการจัดอันดับดังนี้

ตารางผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศ 5 อันดับแรกและประเทศไทย ปี 2563-2564 โดย IMD

 ประเทศ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สวีเดน เดนมาร์ก สิงคโปร์ ไทย
ปี 2564 2563 2564 2563 2564 2563 2564 2563 2564 2563 2564 2563
อันดับรวม 1 1 2 5 3 4 4 3 5 2 38 39
1. ความรู้ 3 1 5 7 2 4 8 6 4 2 42 43
1.1 ความสามารถพิเศษ 13 14 6 7 7 9 5 4 2 1 39 36
1.2 การฝึกอบรมและการศึกษา 24 24 1 5 2 2 4 9 13 7 56 55
1.3 ความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ 2 1 14 17 4 6 17 15 11 10 36 37
2. เทคโนโลยี 4 7 1 2 8 6 9 9 3 1 22 22
2.1 โครงสร้างการควบคุม 12 22 6 7 3 5 4 4 5 1 29 31
2.2 เงินทุน 1 1 7 12 5 4 13 23 14 11 19 17
2.3 โครงสร้างเทคโนโลยี 9 7 1 2 13 11 6 6 2 1 22 25
3. ความพร้อมในอนาคต 1 2 10 10 6 7 2 1 11 12 44 45
3.1 ทัศนคติที่ปรับตัวได้ 1 3 3 4 5 8 4 2 11 20 53 53
3.2 ความคล่องตัวทางธุรกิจ 1 2 9 14 13 10 7 5 12 11 34 44
3.3 การรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ 3 10 17 19 5 4 1 1 7 3 43 43

สหรัฐอเมริกาได้อันดับ 1 เหมือนปีที่แล้ว รองลงมาคือ ฮ่องกง เลื่อนขึ้นมา 3 อันดับจากปีที่แล้ว ถัดมาเป็นสวีเดน ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ เดนมาร์กได้อันดับ 4 ในปีนี้ตกลงมาจากปีที่แล้ว 1 อันดับ อันดับ 5 คือ สิงคโปร์ มีอันดับเลื่อนลง 3 อันดับจากปีที่แล้ว ส่วนไทยได้อันดับ 38 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ

สหรัฐอเมริกายังคงรักษาอันดับ 1 ได้อย่างเดิม เป็นผลมาจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยความรู้ 2 อันดับ จากอันดับ 1 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 3 ในปีนี้ และการเลื่อนอันดับขึ้นของ 2 ปัจจัย ที่เหลือ คือ ปัจจัยเทคโนโลยีและปัจจัยความพร้อมในอนาคต มีอันดับเลื่อนขึ้น 3 และ 1 อันดับ เป็นอันดับ 4 และ 1 ในปีนี้ ตามลำดับ การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยความรู้เกิดจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ 1 อันดับ จากอันดับ 1 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 2 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ คือ ตัวชี้วัดการจ้างงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีอันดับเลื่อนลงถึง 17 อันดับ ปีที่แล้วมีอันดับ 1 ส่วนปีนี้มีอันดับ 18 การเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยเทคโนโลยี เนื่องจากการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยโครงสร้างการควบคุมถึง 10 อันดับ จากอันดับ 22 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 12 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยโครงสร้างการควบคุม คือ ตัวชี้วัดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ที่เลื่อนอันดับขึ้นถึง 26 อันดับ จากอันดับ 63 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 37 ในปีนี้ ทำให้ตัวชี้วัดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นตัวชี้วัดที่มีอันดับเลื่อนขึ้นมากที่สุด ปัจจัยย่อยหลักที่ทำให้ปัจจัยความพร้อมในอนาคตมีอันดับเลื่อนขึ้น คือ ปัจจัยย่อยการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีอันดับเลื่อนขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับ 10 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 3 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่ทำให้เกิดการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยการรวมกันของเทคโนโลยีสารสนเทศ คือ ตัวชี้วัดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน และตัวชี้วัดความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เลื่อนอันดับขึ้นถึง 8 และ 11 อันดับ จากอันดับ 19 และ 33 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 11 และ 22 ในปีนี้ ตามลำดับ

ฮ่องกงได้อันดับ 2 ในปีนี้ เลื่อนขึ้นมา 3 อันดับจากปีที่แล้ว เนื่องมาจากการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยความรู้และปัจจัยเทคโนโลยี 2 และ 1 อันดับ จากอันดับ 7 และ 2 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 5 และ 1 ในปีนี้ ตามลำดับ ส่วนปัจจัยความพร้อมในอนาคตยังคงครองอันดับ 10 ไว้เหมือนเดิมทั้งปีนี้และปีที่แล้ว การเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยความรู้เกิดจากการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยทั้งหมดซึ่งมีอยู่ 3 ปัจจัยย่อย ได้แก่ 1. ปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษ เลื่อนอันดับขึ้น 1 อันดับ เป็นอันดับ 6 ในปีนี้ 2. ปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษา เลื่อนอันดับขึ้น 4 อันดับ เป็นอันดับ 1 ในปีนี้ 3. ปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ เลื่อนอันดับขึ้น 3 อันดับ เป็นอันดับ 14 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่มีผลทำให้ปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษเลื่อนอันดับขึ้น คือ ตัวชี้วัดการไหลสุทธิของนักเรียนระหว่างประเทศ ที่เลื่อนอันดับขึ้นถึง 8 อันดับ จากอันดับ 43 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 35 ในปีนี้ ตัวชี้วัดหลักที่มีผลทำให้ปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษามีอันดับเลื่อนขึ้น คือ ตัวชี้วัดการฝึกหัดพนักงานและตัวชี้วัดรายจ่ายของรัฐทั้งหมดในเรื่องการศึกษา มีอันดับเลื่อนขึ้นถึง 16 และ 8 อันดับ เป็นอันดับ 14 และ 37 ในปีนี้ ตามลำดับ ทำให้ตัวชี้วัดการฝึกหัดพนักงานเป็นตัวชี้วัดที่มีอันดับเลื่อนขึ้นมากที่สุด การเลื่อนอันดับขึ้นเล็กน้อยของตัวชี้วัดบุคลากรทางด้านวิจัยและพัฒนาทั้งหมด และตัวชี้วัดการจ้างงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ ปัจจัยย่อยหลักที่มีผลทำให้ปัจจัยเทคโนโลยีเลื่อนอันดับขึ้น คือ ปัจจัยย่อยเงินทุน ที่เลื่อนอันดับขึ้น 5 อันดับ จากอันดับ 12 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 7 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่สำคัญที่มีผลทำให้ปัจจัยย่อยเงินทุนเลื่อนอันดับขึ้น คือ ตัวชี้วัดการให้ทุนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี ที่เลื่อนอันดับขึ้น 4 อันดับ จากอันดับ 15 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 11 ในปีนี้

สวีเดนได้อันดับ 3 ในปีนี้ ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ เกิดจากการเลื่อนอันดับดีขึ้นของปัจจัยความรู้และปัจจัยความพร้อมในอนาคต 2 และ 1 อันดับ จากอันดับ 4 และ 7 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 2 และ 6 ในปีนี้ ตามลำดับ ในขณะที่ปัจจัยเทคโนโลยีมีอันดับลดลง 2 อันดับ จากอันดับ 6 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 8 ในปีนี้ การเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยความรู้เกิดจากการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษและปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ 2 อันดับเท่ากัน เป็นอันดับ 7 และ 4 ในปีนี้ ตามลำดับ การเลื่อนอันดับขึ้นเล็กน้อยของตัวชี้วัดประสบการณ์ระหว่างประเทศ ตัวชี้วัดบุคลากรที่มีทักษะสูงเรื่องต่างประเทศ และตัวชี้วัดการไหลสุทธิของนักเรียนระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษ การเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์เกิดจากการเลื่อนอันดับขึ้นเล็กน้อยของตัวชี้วัดรายจ่ายทั้งหมดในการวิจัยและพัฒนา ตัวชี้วัดนักวิจัยผู้หญิง ตัวชี้วัดการจ้างงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และตัวชี้วัดการศึกษาวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ การเลื่อนอันดับดีขึ้นของปัจจัยความพร้อมในอนาคตเป็นผลจากการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้ 3 อันดับ จากอันดับ 8 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 5 ในปีนี้ ตัวชี้วัดที่มีผลต่อการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้ คือ ตัวชี้วัดทัศนคติต่อทั่วโลก ที่มีอันดับเลื่อนขึ้น 1 อันดับ จากอันดับ 2 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 1 ในปีนี้

เดนมาร์กได้อันดับ 4 ในปีนี้ ตกลงมาจากปีที่แล้ว 1 อันดับ เนื่องจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยความรู้และปัจจัยความพร้อมในอนาคต 2 และ 1 อันดับ จากอันดับ 6 และ 1 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 8 และ 2 ในปีนี้ ตามลำดับ ในขณะที่อีก 1 ปัจจัย คือ ปัจจัยเทคโนโลยียังคงครองอันดับ 9 ไว้เหมือนเดิมทั้งปีนี้และปีที่แล้ว การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยความรู้เกิดจากการเลื่อนอันดับลงเล็กน้อยของปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษและปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ จากอันดับ 4 และ 15 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 5 และ 17 ในปีนี้ ตามลำดับ การเลื่อนอันดับลงเล็กน้อยของตัวชี้วัดการไหลสุทธิของนักเรียนระหว่างประเทศ ทำให้ปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษมีอันดับลดลง การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์เกิดจากการเลื่อนอันดับลงเล็กน้อยของตัวชี้วัดรายจ่ายทั้งหมดในการวิจัยและพัฒนาและตัวชี้วัดบุคลากรทางด้านวิจัยและพัฒนาทั้งหมด การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยความพร้อมในอนาคตเกิดจากการเลื่อนอันดับลงเล็กน้อยของปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้และปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจ จากอันดับ 2 และ 5 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 4 และ 7 ในปีนี้ ตามลำดับ การเลื่อนอันดับลงเล็กน้อยของตัวชี้วัดการค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ต ตัวชี้วัดการเป็นเจ้าของแท็บเล็ต ตัวชี้วัดการเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน และตัวชี้วัดทัศนคติต่อทั่วโลก ทำให้เกิดการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้ การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจเกิดจากการเลื่อนอันดับลงเล็กน้อยของตัวชี้วัดโอกาสและอุปสรรค และตัวชี้วัดการใช้ big data และ analytics

สิงคโปร์ได้อันดับ 5 ในปีนี้ มีอันดับเลื่อนลง 3 อันดับจากปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยความรู้และปัจจัยเทคโนโลยี 2 อันดับเท่ากัน จากอันดับ 2 และ 1 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 4 และ 3 ในปีนี้ ตามลำดับ ส่วนปัจจัยความพร้อมในอนาคตมีอันดับเลื่อนขึ้น 1 อันดับ จากอันดับ 12 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 11 ในปีนี้ การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยความรู้เกิดจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยทั้งหมด ได้แก่ 1. ปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษ เลื่อนอันดับลง 1 อันดับ เป็นอันดับ 2 ในปีนี้ 2. ปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษา เลื่อนอันดับลง 6 อันดับ เป็นอันดับ 13 ในปีนี้ 3. ปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ เลื่อนอันดับลง 1 อันดับ เป็นอันดับ 11 ในปีนี้ ปัจจัยย่อยความสามารถพิเศษเลื่อนอันดับลงเกิดจากการเลื่อนอันดับลงเล็กน้อยของตัวชี้วัดประสบการณ์ระหว่างประเทศ ตัวชี้วัดการจัดการเมือง ตัวชี้วัดทักษะทางด้านเทคโนโลยีหรือดิจิทัล และตัวชี้วัดการไหลสุทธิของนักเรียนระหว่างประเทศ การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษาเกิดจากการเลื่อนอันดับลงของตัวชี้วัดการฝึกหัดพนักงานและตัวชี้วัดรายจ่ายของรัฐทั้งหมดในเรื่องการศึกษา 7 และ 2 อันดับ เป็นอันดับ 23 และ 63 ในปีนี้ ตามลำดับ ทำให้ตัวชี้วัดรายจ่ายของรัฐทั้งหมดในเรื่องการศึกษาเป็นตัวชี้วัดที่มีอันดับต่ำที่สุดจากตัวชี้วัดทั้งหมดทั้งในปีนี้และปีที่แล้ว ตัวชี้วัดหลักที่ทำให้เกิดการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ คือ ตัวชี้วัดการจ้างงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เลื่อนอันดับลงถึง 16 อันดับ จากอันดับ 11 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 27 ในปีนี้ ปัจจัยเทคโนโลยีเลื่อนอันดับลงเป็นผลมาจากการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยทั้งหมดซึ่งมีอยู่ 3 ปัจจัยย่อย ได้แก่ 1. ปัจจัยย่อยโครงสร้างการควบคุม เลื่อนอันดับลง 4 อันดับ เป็นอันดับ 5 ในปีนี้ 2. ปัจจัยย่อยเงินทุน เลื่อนอันดับลง 3 อันดับ เป็นอันดับ 14 ในปีนี้ 3. ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยี เลื่อนอันดับลง 1 อันดับ เป็นอันดับ 2 ในปีนี้ ตัวชี้วัดหลักที่ทำให้เกิดการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยโครงสร้างการควบคุม คือ ตัวชี้วัดกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ที่เลื่อนอันดับลงถึง 13 อันดับ จากอันดับ 48 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 61 ในปีนี้ การเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยเงินทุนเกิดจากการเลื่อนอันดับลงของตัวชี้วัดการลงทุนในโทรคมนาคมเป็นหลัก ที่เลื่อนอันดับลงถึง 14 อันดับ จากอันดับ 41 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 55 ในปีนี้ ตัวชี้วัดหลักที่ทำให้เกิดการเลื่อนอันดับลงของปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยี คือ ตัวชี้วัดผู้บอกรับเป็นสมาชิกบรอดแบนด์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้และตัวชี้วัดผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ที่เลื่อนอันดับลงถึง 19 และ 23 อันดับ จากอันดับ 1 เหมือนกันในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 20 และ 24 ในปีนี้ ตามลำดับ ทำให้ตัวชี้วัดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีอันดับเลื่อนลงมากที่สุด

ปีนี้ไทยได้อันดับรวมอยู่ที่อันดับ 38 ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 1 อันดับ เป็นผลมาจากการเลื่อนอันดับขึ้นของปัจจัยความรู้และปัจจัยความพร้อมในอนาคต 1 อันดับ จากอันดับ 43 และ 45 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 42 และ 44 ในปีนี้ ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่เหลือ คือ ปัจจัยเทคโนโลยี มีอันดับ 22 ทั้งปีนี้และปีที่แล้ว ดังนั้นไทยยังคงต้องพัฒนาด้านความรู้และด้านความพร้อมในอนาคต เนื่องจากยังคงมีอันดับค่อนไปในทางที่ไม่ดีในปีนี้ และทั้งสองปัจจัยเป็นเหตุดึงรั้งให้ไทยจัดอยู่ในอันดับ 38 ในปีนี้ ปัจจัยย่อยที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างมากซึ่งมีทั้งอันดับต่ำในปีนี้และปีที่แล้ว คือ 1. ปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษา อยู่ภายใต้ปัจจัยความรู้ ที่เลื่อนอันดับลง 1 อันดับ จากอันดับ 55 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 56 ในปีนี้ ทำให้ปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษามีอันดับต่ำสุดจากปัจจัยย่อยทั้งหมดทั้งปีนี้และปีที่แล้ว 2. ปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้ อยู่ภายใต้ปัจจัยความพร้อมในอนาคต มีอันดับ 53 ทั้งปีนี้และปีที่แล้ว ตัวชี้วัดหลักที่มีผลต่อปัจจัยย่อยการฝึกอบรมและการศึกษา คือ ตัวชี้วัดรายจ่ายของรัฐทั้งหมดในเรื่องการศึกษาและตัวชี้วัดจำนวนเฉลี่ยของนักศึกษาต่ออาจารย์ในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย มีอันดับ 58 และ 54 ในปีที่แล้ว ส่วนปีนี้มีอันดับ 59 และ 56 ตามลำดับ ทำให้ตัวชี้วัดรายจ่ายของรัฐทั้งหมดในเรื่องการศึกษาเป็นตัวชี้วัดที่มีอันดับต่ำที่สุดในบรรดาตัวชี้วัดทั้งหมดในปีนี้และปีที่แล้ว ตัวชี้วัดหลักที่มีผลต่อปัจจัยย่อยทัศนคติที่ปรับตัวได้ คือ ตัวชี้วัดการเป็นเจ้าของแท็บเล็ต มีอันดับ 58 ทั้งในปีที่แล้วและปีนี้ ทำให้ตัวชี้วัดการเป็นเจ้าของแท็บเล็ตเป็นตัวชี้วัดที่มีอันดับต่ำที่สุดในบรรดาตัวชี้วัดทั้งหมดในปีที่แล้ว ถึงแม้ปัจจัยเทคโนโลยียังคงรักษาอันดับ 22 ไว้ได้ทั้งปีนี้และปีที่แล้ว ซึ่งเป็นอันดับระดับปานกลาง แต่มีตัวชี้วัดภายใต้ปัจจัยย่อยเงินทุนและปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาอย่างมาก คือ ตัวชี้วัดการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศภายใต้ปัจจัยย่อยเงินทุนและตัวชี้วัดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างเทคโนโลยี ที่มีอันดับ 40 และ 54 ในปีที่แล้ว ในขณะที่ปีนี้มีอันดับ 42 และ 49 ตามลำดับ ส่วนตัวชี้วัดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากปีที่แล้วอย่างมาก ได้แก่ 1. ตัวชี้วัดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา มีอันดับเลื่อนขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับ 44 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 37 ในปีนี้ ตัวชี้วัดนี้อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยโครงสร้างการควบคุม ปัจจัยเทคโนโลยี 2. ตัวชี้วัดโอกาสและอุปสรรค มีอันดับเลื่อนขึ้นถึง 13 อันดับ จากอันดับ 38 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 25 ในปีนี้ ตัวชี้วัดนี้อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจ ปัจจัยความพร้อมในอนาคต 3. ตัวชี้วัดความคล่องตัวของบริษัท มีอันดับเลื่อนขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับ 36 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับ 29 ในปีนี้ ตัวชี้วัดนี้อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยความคล่องตัวทางธุรกิจ ปัจจัยความพร้อมในอนาคต ในขณะที่ตัวชี้วัดที่มีอันดับดีมากในปีนี้ คือ ตัวชี้วัดนักวิจัยผู้หญิงที่ยังคงครองอันดับดีที่สุดในบรรดาตัวชี้วัดทั้งหมดทั้งปีนี้และปีที่แล้ว โดยได้อันดับ 6 ทั้งปีนี้และปีที่แล้ว อยู่ภายใต้ปัจจัยย่อยความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์ ปัจจัยความรู้

คงเป็นข่าวดีสำหรับไทยที่มีอันดับเลื่อนขึ้น 1 อันดับ เป็นอันดับ 38 ในปีนี้ แต่ไทยยังคงต้องพัฒนาอีกหลายตัวชี้วัดดังที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากอันดับที่ได้ในปีนี้ยังคงเป็นอันดับค่อนไปในทางที่ไม่ดี โดยเฉพาะด้านรายจ่ายของรัฐทั้งหมดในเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่มีอันดับต่ำที่สุดในบรรดาตัวชี้วัดทั้งหมดทั้งในปีนี้และปีที่แล้ว เพื่อให้ในปีหน้าไทยจะมีอันดับเลื่อนขึ้นมาก

แชร์หน้านี้: