สวทช. จัดทำหนังสือเล่มนี้ในโอกาสครบรอบ 30 ปี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงผลกระทบในวงกว้าง โดยคัดเลือกหัวเรื่องต่าง ๆ จากผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการนำไปใช้ประโยชน์จริง มีผลกระทบต่อประเทศ ได้รับการเผยแพร่และการกล่าวถึงจากสื่อมวลชน รวมถึงผลงานที่ได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาติ
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำบทสัมภาษณ์ผู้บริหารในการถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จ ทิศทาง และวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ประเทศในด้านต่าง ๆ อาทิ ทิศทางการเกษตรและอาหาร สุขภาพการแพทย์ ดิจิทัล และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้ทราบถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของ สวทช. และแนวคิดของผู้บริหารในการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาที่สร้างประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อประเทศ
30 ปีที่ผ่านมา สวทช. มีการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานอย่างสม่ำเสมอ ด้วยจุดแข็งด้านกำลังคน ที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพ สามารถสร้างงานวิจัยที่เข้มแข็ง สร้างผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ สวทช.ยังมีเครือข่ายความร่วมมือและพันธมิตรที่เข้มแข็งเสมอมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เป็นพลังในการขับเคลื่อนการทำงานให้ “สวทช. เป็นองค์กรเปิดด้านการวิจัยและพัฒนาที่ประเทศขาดไม่ได้” โดยได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์และเป็นที่ประจักษ์ ประกอบด้วย 7 ด้านหลัก ดังนี้
1.ด้านเกษตรและอาหาร
สวทช. มุ่งใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการปรับปรุงพันธุ์พืช โดยมี “ข้าว” เป็นผลงานวิจัยที่สำคัญ ซึ่งการเข้าร่วม “โครงการวิจัยจีโนมข้าวนานาชาติ” ในปี พ.ศ. 2542 และการดำเนินโครงการจีโนมข้าวไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเพิ่มศักยภาพ สร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านจีโนมให้กับทีมนักวิจัย นำไปสู่การปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีคุณลักษณะที่ดีขึ้นและสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างของความสำเร็จของการวิจัยได้แก่ การจดสิทธิบัตรยีนความหอม การพัฒนาข้าวเหนียวพันธุ์ “กข 6 ต้นเตี้ยต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง” ข้าวธัญสิริน ข้าวเหนียวพันธุ์ “น่าน 59” และข้าวเหนียวพันธุ์ “หอมนาคา”
จากข้าวมีการพัฒนาไปสู่พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น “ยางพารา” ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ประโยชน์จากน้ำยางมาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยางอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตน้ำยางจากเกษตรกรโดยพัฒนาสารยืดอายุน้ำยางสดเพื่อการผลิตยางแผ่น (BeThEPS), น้ำยางข้นสำหรับทำผลิตภัณฑ์โฟมยาง ParaFIT, น้ำยางโลมาร์ (LOMAR) สำหรับทำถนนลาดยางมะตอย ยางล้อตันรถฟอร์กลิฟต์ประหยัดพลังงาน ไปจนถึงการจัดการของเสียในโรงงานผลิตน้ำยางข้นที่มีประสิทธิภาพสูง (GRASS) และสร้างนวัตกรรมเพื่อให้เกิดการใช้งานยางพาราในประเทศมากขึ้น ส่วน “มันสำปะหลัง” มีทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ การแก้ปัญหาโรคระบาดด้วยพัฒนาน้ำยาสำหรับตรวจสอบไวรัสใบด่าง การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และพัฒนากระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังที่มีปริมาณไซยาไนด์ต่ำและปลอดภัยต่อการบริโภคในระดับอุตสาหกรรม ขณะที่ “อ้อย” ได้มีการนำเทคโนโลยีจีโนมมาใช้ในการค้นหายีนที่กำหนดความหวานในอ้อยและการปรับปรุงพันธุ์อ้อยแบบบูรณาการ รวมถึงชุดตรวจวิเคราะห์เดกซ์แทรน (Dextran) ปนเปื้อนในกระบวนการผลิตน้ำตาล
สำหรับ “อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์” สวทช. ได้พัฒนาชุดตรวจไฮบริดชัวร์ เพื่อทดสอบเอกลักษณ์พันธุ์พืช ทำให้สามารถแยกความแตกต่างของสายพันธุ์ลูกผสมได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ใน “อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ” สวทช. พัฒนาทั้งระบบบำบัดไนเตรตแบบท่อยาว และเทคโนโลยีระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำระบบปิดที่มีการต่อยอดพัฒนาเป็น “ถังเลี้ยงปลานิลความหนาแน่นสูงระบบน้ำหมุนเวียน” นอกจากนี้ยังมีการวิจัยและพัฒนาการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งปลอดโรค การพัฒนาชุดตรวจเชื้อก่อโรคตับตายฉับพลันสาเหตุหนึ่งของโรคกุ้งอีเอ็มเอส (Amp-Gold) และการพัฒนาไฮโดรเจลกักเก็บโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์น้ำ
อย่างไรก็ดีเพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ “สมาร์ตฟาร์มเมอร์” ได้อย่างรวดเร็ว สวทช. ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นทำให้เกิดการวางแผนจัดการการผลิตที่ดี ทั้งปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดและการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะมีทั้งแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลสภาพแวดล้อมทางด้านการเกษตร ระบบควบคุมการเกษตรแม่นยำ ระบบตรวจสอบสภาพของพืชและสภาพแวดล้อม และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ ที่มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เข้ามาช่วย อย่างเช่น “HandySense” ระบบเกษตรแม่นยำ “Aqua Grow” (อะควาโกรว์) ระบบอัจฉริยะที่ช่วยเกษตรกรติดตามดูแลคุณภาพน้ำ และได้พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำการเกษตรในภาพรวม เช่น “What2Grow เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร” และ “ FAARMis” (ฟาร์มมิส) แอปพลิเคชันสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรแบบเชิงรุก รวมถึงจัดทำ “โครงการโรงงานผลิตพืช” หรือ “Plant Factory” ขึ้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เพื่อพลิกโฉมการปลูกพืชจากดั้งเดิมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติมาสู่การปลูกในระบบปิดที่ควบคุมสภาพแวดล้อม ทำให้ปลอดภัยสูง ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง มีปริมาณผลผลิตที่คงที่ และยังสามารถปลูกได้ทั้งปีโดยไม่ขึ้นกับฤดูกาล นอกจากนี้ได้ต่อยอดงานวิจัยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพพัฒนาสารชีวภัณฑ์เพื่อช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชทดแทนสารเคมีอันตรายที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น การผลิตไวรัสเอ็นพีวี และวิปโปร เป็นต้น
สำหรับการวิจัยและพัฒนาอาหาร สวทช. เริ่มต้นจากเทคโนโลยีการหมัก เนื่องจากมีองค์ความรู้ด้านจุลินทรีย์ จึงมีการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในประเทศไทย ซึ่งเริ่มจากการหมักอาหารพื้นบ้าน โดยเทคโนโลยีการใช้ต้นเชื้อบริสุทธิ์ ซึ่งจากการหมักต่าง ๆ ทำให้ทีมวิจัยเข้าใจและมีองค์ความรู้ของเชื้อแต่ละกลุ่มในอาหารแต่ละอย่างมากขึ้น เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตต้นเชื้อบริสุทธิ์สำหรับหมักแหนม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา“ไข่ออกแบบได้” หรือ “สารเสริมอาหารสำหรับไก่เพื่อเพิ่มคุณภาพไข่ไก่” ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบนำส่งยา หรือสารสำคัญ ให้อยู่ในรูปแบบที่นำไปใช้ได้สะดวกต่อการเป็นสารเสริมอาหารในไก่ และฟิล์มบรรจุภัณฑ์หายใจได้ ยืดอายุผัก-ผลไม้สด ActivePAKTM และ ActivePaKTM Ultra
2. ด้านวัสดุ พลังงานและสิ่งแวดล้อม
สวทช. มุ่งวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การพัฒนามาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยงานวิจัยด้านวัสดุครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาวัสดุ การขึ้นรูปวัสดุให้เป็นชิ้นส่วนที่มีรูปร่างและสมบัติตามความต้องการในการใช้งานซึ่งมีหลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ
ที่ผ่านมา สวทช. มีผลงานเด่นด้านวัสดุ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เช่น การพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิด ที่ได้รับการต่อยอดขยายการผลิตในระดับอุตสาหกรรมและมีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว การพัฒนา “กราฟีน” วัสดุแห่งอนาคต ซึ่งมีการต่อยอดไปผลิตหมึกนำไฟฟ้าจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และนำไปทำเซนเซอร์ พัฒนาเป็นชุดตรวจต่าง ๆ รวมถึงประยุกต์ใช้ในการพัฒนาอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน และสร้างต้นแบบแบตเตอรีต่าง ๆ
นอกจากนี้ สวทช. ยังได้การพัฒนาสารเคลือบอนุภาคนาโน เพื่อใช้งานกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการพัฒนาต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้า ซึ่งเป็นยานพาหนะสมัยใหม่ประหยัดพลังงานและร่วมวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานน้ำมันดีเซล B10 อย่างแพร่หลาย โดยนำเทคโนโลยี H-FAME มาใช้ ซึ่งมีการทดสอบร่วมกับบริษัทผู้ผลิตรถกระบะและเป็นที่ยอมรับทั่วไป
ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนา “เอนไซม์เอนอีซ” (ENZease) หรือเอนไซม์ดูโอที่สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียว นอกจากนี้ สวทช. ได้สร้าง “ห้องทดสอบการย่อยสลายได้ทางชีวภาพของวัสดุ” เพื่อให้บริการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุการเสื่อมสภาพของวัสดุอันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบพยากรณ์และจำลองเหตุการณ์เพื่อบริหารจัดการปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มสำหรับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
3. ด้านสุขภาพและการแพทย์
ที่ผ่านมา สวทช. มีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับด้านสุขภาพและการแพทย์ทั้งการพัฒนาชุดตรวจ วัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาวัคซีน การรับมือโรคอุบัติใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพสารสกัดสมุนไพรและตำรับเวชสำอางต่าง ๆ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมรับมือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยมีผลงานเด่น ๆ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เช่น ความสำเร็จในการพัฒนาสารต้านมาลาเรียชนิดใหม่ของโลก ที่มีชื่อเรียกว่า “สาร P218” ซึ่งเป็นสารต้านมาลาเรียตัวแรกที่นักวิจัยไทยออกแบบและสังเคราะห์ขึ้นเอง และการพัฒนา“เดนตีสแกน” (DentiiScan) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบลำแสงทรวงกรวยสำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้าขึ้นเป็นรายแรกในไทย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาชุดตรวจอย่างง่ายเพื่อคัดกรองผู้เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย และการพัฒนา “มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์” เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยีกล้องอินฟราเรดผนวกระบบตรวจจับใบหน้าบุคคลอัตโนมัติ สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วภายใน 0.1 วินาที
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งเตียงตื่นตัว (JOEY) และ M-Wheel อุปกรณ์พ่วงต่อเปลี่ยนรถเข็นธรรมดาเป็นรถเข็นไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมอาหาร เช่น ผงปรับความหนืดในอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบาก ช่วยลดอาการสำลัก นวัตกรรมอาหารที่บดเคี้ยวและกลืนง่ายสำหรับผู้สูงอายุ และขนมปังแซนด์วิชและครัวซองปราศจากกลูเตน ที่ใช้ฟลาวข้าวเจ้าเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อลดการเกิดอาการแพ้ต่อผู้บริโภค
ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสกัดและกักเก็บสารออกฤทธิ์สำคัญในอนุภาคระดับนาโน สวทช.ได้มีการวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพสารสกัดจากสมุนไพรไทยในอาหารเสริมและตำรับเวชสำอางต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากน้ำมันเมล็ดงาม้อนบรรจุแคปซูลนิ่ม ที่อุดมไปด้วยปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพลิโคซานอลจากสารสกัดไขอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาล ช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด เจลลดการอักเสบสิวจากบัวบก มังคุด และกานพลู การพัฒนาเซรั่มบำรุงผิวหน้าเซริซิน และอนุภาคสารสกัดใบหมี่และบัวบกสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
4. ด้านดิจิทัล
ที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาด้านดิจิทัลของ สวทช. มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างสมองค์ความรู้ นักวิจัย และสร้างระบบนิเวศให้งานวิจัยเพื่อให้เทคโนโลยีไปถึงมือผู้ใช้มากขึ้น และที่สำคัญ สวทช. ได้มีโอกาสทำงานสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ใน “โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งมี สวทช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการฯ โครงการนี้มีการดำเนินกิจกรรมในการใช้เทคโนโลยีเพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมทั้งเด็กในชนบท ผู้พิการ เด็กป่วยในโรงพยาบาล และผู้ต้องขัง
นอกจากนี้ สวทช. มีส่วนช่วยในการลดความเหลื่อมล้ำและลดช่องว่างในการศึกษาหาความรู้ของนักเรียนไทยทั่วประเทศด้วย “SchoolNet Thailand: โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย” และร่วมดำเนินการโครงการจัดทำเนื้อหาระบบ e-Learning ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ขึ้น หรือ “อีดีแอลทีวี” (eDLTV) รวมถึงมีการต่อยอดการพัฒนาบทเรียนออนไลน์ให้อยู่ใน “ระบบการศึกษาออนไลน์แบบเปิดเพื่อมหาชน” (MOOC) พร้อมทั้งเปิดให้เชื่อมต่อกับ “ระบบคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด” (OER) อีกทั้งยังร่วมมือกับพันธมิตรริเริ่มสนับสนุนด้านไอทีให้กับโรงเรียนมัธยมในจังหวัดแม่ฮ่องสอนใน “โครงการแม่ฮ่องสอนไอทีวัลเล่ย์” เพื่อสร้างคน สร้างงาน และสร้างเครือข่ายให้กับพื้นที่ห่างไกล
ขณะเดียวกัน สวทช. ได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านภาษาโดยริเริ่มวิจัยและพัฒนาการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) เป็นรายแรก ๆ ในประเทศไทย ซึ่งมีผลงานเด่นที่รู้จักกันดีจนถึงปัจจุบัน เช่น ภาษิต (PARSIT) ซอฟต์แวร์แปลภาษา วาจา (VAJA) ซอฟต์แวร์สังเคราะห์เสียงพูดภาษาไทย และพาที (PARTY) ระบบรู้จำเสียงพูดภาษาไทย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงการ “Size Thailand” เพื่อสำรวจและวิจัยมาตรฐานขนาดรูปร่างของคนไทย การพัฒนาบอร์ดสมองกลฝังตัว ”KidBright” (คิดไบร์ท) ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือให้เด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องโค้ดดิ้งได้โดยง่ายและสามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มระดับใช้งานในระดับประเทศ เช่น Thai School Lunch ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ “eMENSCR” ระบบสารสนเทศที่ใช้ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานผ่านแผนงาน โครงการ หรือการดำเนินงานต่างๆ ของประเทศ “TPMAP” ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า และ “AI FOR THAI” แพลตฟอร์มเอไอสัญชาติไทยที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรเอไอเชิงลึกให้กับประเทศอีกด้วย
5. ด้านความมั่นคงของประเทศ การรับมือโรคระบาดและภัยพิบัติ
สวทช. ทำงานทางด้านความมั่นคงมาระดับหนึ่ง ตั้งแต่สมัยที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ร่วมมือกับสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม ในการพัฒนาเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า “ทีบ็อกซ์” เครื่องรบกวนสัญญาณไร้สาย เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยมากขึ้น และทดแทนเทคโนโลยีนำเข้าราคาแพงจากต่างประเทศ จากผลงาน “ทีบ็อกซ์” ที่สามารถใช้งานได้จริง ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศเกิดความเชื่อมั่นในผลงานของนักวิจัยไทยและต่อยอดความร่วมมือไปยังเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น เกราะกันกระสุน เสื้อเกราะกันกระสุน วิจัยและพัฒนาคุณภาพใบพัดยางและยางกันกระแทกท่าเรือ ต้นแบบคัพปลิ้งแบบยืดหยุ่นที่ใช้ในเรือตรวจการณ์ ต้นแบบอาหารพลังงานสูงน้ำหนักเบาสำหรับพกพา E-nose ในการตรวจวัดกลิ่นแทนสุนัขทหาร และระบบติดตามผุ้ต้องสงสัย เป็นต้น
สวทช. ยังสร้างความปลอดภัยให้กับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน Traffy ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในงานด้านสมาร์ตซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ เช่น Traffy Waste” (ทราฟฟี่ เวสต์) หรือ ระบบจัดการการเก็บขยะอัจฉริยะ และ “Traffy Fondue” (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) แพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ พร้อมด้วยการออกแบบและพัฒนา “ห้องโดยสารรถพยาบาลให้ได้โครงสร้างความแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับแรงกระทําที่เกิดขึ้นกรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ” และระบบ “SOS Water” เพื่อแก้ปัญหาน้ำดื่มยามประสบภัยพิบัติ
สำหรับในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 สวทช. ได้ประยุกต์ใช้ “Traffy Fondue” ในแพลตฟอร์มไลน์แชตบอท เพื่อให้ประชาชนใช้ในการรายงานข้อมูลบุคคลเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดโควิด-19 และพื้นที่กรุงเทพมหานคร เดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างรวดเร็ว และมีการพัฒนาแอปพลิเคชันดีดีซี-แคร์ ติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรควิด-19 ร่วมกับกรมควบคุมโรค
นอกจากนี้เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในยามเผชิญภาวะวิกฤต สวทช. ได้วิจัยและพัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาการตรวจคัดกรองผู้ป่วยเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ด้วยวิธีสกัด RNA เชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 แบบง่าย และเทคโนโลยีโคซี-แอมป์ ชุดตรวจโรคโควิด-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว ซึ่งช่วยให้การตรวจคัดกรองมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ยับยั้งการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนานวัตกรรมสำหรับการป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น “PETE เปลปกป้อง” เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแรงดันลบแบบปลอดภัย อุปกรณ์ “MagikTuch” ปุ่มกดลิฟต์ไร้สัมผัส และ “นวัตกรรมอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี (Girm Zaber Robot) ซึ่งมีทั้งรุ่นที่เป็น Station และหุ่นยนต์ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยแสงยูวี – ซี (UV-C) สามารถเข้าถึงการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เฉพาะและจุดเสี่ยงโรคต่าง ๆ ได้ดี
6. ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สวทช. ริเริ่มการสนับสนุนภาคเอกชนด้วยการพัฒนาโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือไอแทป (ITAP ) ภายใต้การดูแลของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ในการสนับสนุนและผลักดันให้เอสเอ็มอี สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม สามารถยกระดับการผลิต สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ และมีการวิจัย พัฒนาและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างรายได้ที่แท้จริง และต่อยอดส่งเสริม สนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างขีดความสามารถเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศด้วยนิคมวิจัยสำหรับเอกชนแห่งแรกในไทย “อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย” ซึ่งเป็นนิคมวิจัยที่มีความสำคัญและขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน
TMC สวทช. ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงงานวิจัยกับผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอุตสาหกรรมและมีบริการสนับสนุนที่ครบวงจรทั้งด้านการพัฒนาธุรกิจและด้านการเงิน เช่น ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ให้การสนับสนุนบ่มเพาะและเป็นพี่เลี้ยงให้กับสตาร์อัปด้านเทคโนโลยีที่มีไอเดียแล้วต้องการต่อยอดธุรกิจ การร่วมลงทุน การดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) และการอนุญาตใช้สิทธิผลงานวิจัย (Licensing) ซึ่งเป็นกลไกผลักดันงานวิจัยสู่ตลาด การประเมินจัดลำดับเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการไทยฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรับทราบถึงขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ และบัญชีนวัตกรรมไทย
นอกจากนี้ สวทช. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยของประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เป็นตัวเชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ประกอบการแล้ว ยังมีโครงการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัย ทดสอบ ประเมินความเป็นไปได้สู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์
ภายใต้การดำเนินงานของ สวทช. ยังมี “ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย” (TBRC) ศูนย์กลางในการให้บริการชีววัสดุที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ ครอบคลุมบริการชีววัสดุประเภทต่าง ๆ แบบครบวงจร “ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ” (NBT) ที่ให้บริการและเป็นแหล่งจัดเก็บรักษาทรัพยากรชีวภาพระยะยาว และการพัฒนา “ฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลาง ในการเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สวทช. ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (NQI) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถสินค้าและบริการไทย โดยจัดตั้งห้องปฏิบัติการให้บริการด้านการวิเคราะห์และทดสอบตามมาตรฐานสากล เช่น ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านและเซรามิกอุตสาหกรรม (CTEC) ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NCTC) ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) และศูนย์ทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา (TBES)
7.ด้านการพัฒนากำลังคน
นอกจากการวิจัยและพัฒนาแล้ว สวทช. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ด้วย ที่ผ่านมาสามารถแยกภารกิจด้านการพัฒนากำลังคนของ สวทช. ได้เป็น 3 ด้านหลักคือ การพัฒนาบุคลากรวิจัย การสร้างแรงบันดาลใจ และการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม หรืออัพสกิล-รีสกิล สำหรับผู้ที่ใช้ วทน. ทั้งในภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ สวทช. ได้พัฒนาบุคลากรวิจัยผ่านกลไกในการให้ทุน ซึ่งมีทั้งการบ่มเพาะเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาผ่านโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน” (JSTP) โครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน (YSTP) สำหรับนำนักศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยมาบ่มเพาะให้มีทักษะกระบวนการวิจัยที่มีความสามารถในการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ สำหรับระดับปริญญาโท – ปริญญาเอก มีจะทุนการศึกษาที่เรียกว่า โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST) ซึ่งโปรแกรมการให้ทุนหลัก ๆ เหล่านี้ สวทช. ให้ทุนไปแล้วกว่า 3,000 ทุน และจบการศึกษาแล้วกว่า 2,200 คน
สวทช.ยังมีทุนที่เป็นความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ รวมถึงทุนที่เกิดจากความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาบุคลากรด้าน STEM รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพื่อพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูง
สำหรับการสร้างแรงบันดาลใจ สวทช. เน้นการให้ความรู้ที่เสริมกับการเรียนในห้องเรียนผ่านกิจกรรมค่ายต่าง ๆ ของบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และเฟ้นหานักวิทย์รุ่นเยาว์ผ่านการอบรมและการประกวดที่สามารถต่อยอดไปสู่เวทีนานาชาติได้ เช่น การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) โครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) โครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย (RDC) นอกจากนี้ยังร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยไทย จัดกิจกรรมในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เพื่อปูพื้นฐานเด็กไทยให้รักและสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุยังน้อย ตลอดจนเกิดแรงบันดาลใจที่จะไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต
ส่วนการอัพสกิล-รีสกิล สวทช. มีหลักสูตรการอบรมและการสอบมาตรฐาน ที่จะช่วยส่งเสริมและเพิ่มทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงนักวิจัยที่ใช้ วทน. ในการประกอบอาชีพอีกด้วย