หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 3 เดือน มีนาคม 2564
วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 3 เดือน มีนาคม 2564
17 ก.ย. 2564
0
นานาสาระน่ารู้

สหภาพยุโรปเสนอแผนกลยุทธ์ ประจำปี ค.ศ. 2021 – 2024 ของกรอบโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรปฉบับที่ 9 หรือ โครงการ Horizon Europe

ในปี ค.ศ. 2021 นี้ เป็นปีแรกที่จะเริ่มมีการดำเนินการภายใต้กรอบโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรปฉบับที่ 9 หรือ Horizon Europe ซึ่งจะกำหนดแนวทางและเป้าหมายของงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมในยุโรปรวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศนอกสมาชิกฯ ในระยะเวลา 4 ปี นับจากปัจจุบัน ซึ่งในปี ค.ศ. 2019 ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป ผ่านแบบสอบถามออนไลน์และงานประชุมสัมมนา นำมาใช้ในการออกแบบและกำหนดแผนกลยุทธ์

กลยุทธ์เป้าหมาย 4 ประการ

ภายใต้กรอบโครงการ Horizon Europe สหภาพยุโรปได้กำหนดกลยุทธ์เป้าหมายไว้ 4 ประการ ดังนี้
– การส่งเสริมนโยบาย open strategic autonomy ซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของสหภาพยุโรปต่อประเทศอื่น ๆ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีอุบัติใหม่ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว รวมไปถึงการพัฒนาของภาคส่วนต่าง ๆ และห่วงโซ่อุปทานในยุโรป คาดว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยเร่งกระบวนการสังคมดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างเต็มรูปแบบ

– ฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในยุโรป และส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาระดับความมั่นคงทางอาหารและสร้างสังคมไร้มลพิษให้แก่ประชาชน

– ขับเคลื่อนสหภาพยุโรปสู่การเป็นสังคมดิจิทัล สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน สังคมเศรษฐกิจแบบยั่งยืน และสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แห่งแรกของโลก

กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย

กรอบโครงการ Horizon Europe ที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอ ประกอบด้วยองค์ประกอบขั้นพื้นฐานสามเสาคือ

– ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ (Excellent Science)

– ความท้าทายระดับโลกและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในยุโรป (Global Challenges and European Industrial Competitiveness) และ

– นวัตกรรมแห่งยุโรป (Innovative Europe)

กลยุทธ์เป้าหมาย 4 ประการจะถูกนำไปปฏิบัติและดำเนินการผ่านการพัฒนากลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมาย 6
คลัสเตอร์ มีดังนี้

  • สุขภาพ
  • วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วมของสังคม
  • ความมั่นคงของพลเมืองเพื่อสังคม
  • ดิจิทัล อุตสาหกรรม และอวกาศ
  • สภาพภูมิอากาศ พลังงาน และการขนส่ง
  • อาหาร เศรษฐกิจชีวภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม

 แผนการสร้างพันธมิตรด้านการวิจัยและนวัตกรรมในยุโรป

สหภาพยุโรปได้กำหนดสาขาหลักในการสร้างพันธมิตรด้านการวิจัยและนวัตกรรมในยุโรปไว้ 10 สาขาดังนี้

  • การสร้างความร่วมมือด้านสุขภาพระดับโลก
  • นวัตกรรมสุขภาพ
  • เทคโนโลยีดิจิทัล
  • เศรษฐกิจฐานชีวภาพแบบหมุนเวียน
  • พลังงานไฮโดรเจนสะอาด
  • อุตสาหกรรมการบินไร้มลพิษ
  • เทคโนโลยีด้านระบบรถไฟ
  • เทคโนโลยีน่านฟ้า
  • เครือข่ายและการบริการอัจฉริยะ
  • มาตรวิทยา

รูปแบบการสร้างพันธมิตรด้านการวิจัยและนวัตกรรมในยุโรป

แผนการสร้างพันธมิตรด้านการวิจัยและนวัตกรรมในยุโรปได้กำหนดรูปแบบของการสร้างความร่วมมือเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • Co-programmed European Partnerships
  • Co-funded European Partnerships
  • Institutionalized European Partnerships

แผนการสร้างความร่วมมือกับประเทศนอกสมาชิกภายใต้โครงการ Horizon Europe

แผนการดำเนินการจะมุ่งเน้นการเชื่อมโยงภารกิจและการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาในระดับประเทศ ภูมิภาคและของโลก เช่น นโยบาย Green Deal การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล และเสริมสร้างศักยภาพให้ยุโรปสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ดีขึ้น สรุปได้เป็น 4 แนวทางหลัก ๆ ดังนี้

  • ความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม
  • การแลกเปลี่ยนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ และส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐาน
  • การเข้าร่วมของสหภาพยุโรปและการเป็นผู้นำในโครงการความร่วมมือแบบพหุภาคี
  • การหารือด้านนโยบายกับประเทศนอกสมาชิกฯ และภูมิภาคอื่น ๆ

การหารือทวิภาคีระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน ในประเด็นเทคโนโลยีสีเขียวและแผนที่นวัตรกรรม

โครงการ GreenTech มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ

1) การหารือความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างผู้พัฒนานวัตกรรมในยุโรปและอาเซียน
2) การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยียั่งยืนระหว่างสองภูมิภาค
3) การมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมขีดความสามารถ

การถ่ายทอดเทคโนโลยีสีเขียว

การถ่ายทอดเทคโนโลยีสีเขียวจากยุโรปไปยังอาเซียนจะต้องตอบโจทย์ในประเด็นต่อไปนี้

  • ระบุและกำหนดเทคโนลีสีเขียวที่สำคัญตอบโจทย์ต่อความต้องการและความสำคัญเร่งด่วนของประเทศสมาชิกอาเซียน และสามารถช่วยจัดการกับปัญหาในภูมิภาคได้
  • วิเคราะห์ความเป็นไปได้พร้อมส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสีเขียวจากยุโรปไปแก้ไขในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างประสบผลสำเร็จ
  • ระบุและกำหนดเทคโนโลยีสีเขียวที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ในเมือง พื้นที่ชนบท เขตอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคส่วนพลังงาน และภาคการขนส่ง
  • พัฒนากลยุทธ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs)
  • ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาระดับเทคโนโลยีสีเขียวของบริษัทต่าง ๆ ในชุมชน และสามารถนำเทคโนโลยีสีเขียวเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลสำเร็จ

ตัวอย่างมาตรการและกิจกรรมภายใต้นโยบาย Green Deal ของสหภาพยุโรป

ในการประชุมมีการนำเสนอถึงวิสัยทัศน์ของแผนนโยบาย Green Deal ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี ค.ศ. 2030 และ 2050 การจัดหาพลังงานสะอาดที่มีราคาย่อมเยา ความมั่นคงทางพลังงาน การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน การพัฒนาประสิทธิภาพทางพลังงานและทรัพยากร การเปลี่ยนถ่ายสู่สังคมไร้มลพิษ การรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

ยุทธศาสตร์พลาสติก

“ยุทธศาสตร์พลาสติก (European Plastics Strategy)” โดยมุ่งปรับเปลี่ยนวิธีการออกแบบ การใช้ การผลิตและการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกในสหภาพยุโรป เน้นการออกแบบที่ดีขึ้น การเพิ่มอัตราการรีไซเคิลพลาสติก การสนับสนุนการรีไซเคิล และการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกในสหภาพยุโรปให้มีความยืดหยุ่นและมีศักยภาพในการแข่งขัน

ปัจจุบันประเทศไทยมี แผนงานการจัดการขยะพลาสติกสำหรับปี 2561-2573 จัดทำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการรีไซเคิลขยะพลาสติกเป้าหมายให้ได้ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รวมถึงมาตรการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การนำหลักการด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในกระบวนการการผลิต ตลอดจนมาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายด้านขยะพลาสติดของสหภาพยุโรป

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaiscience.eu/uploads/journal_20210416074155-pdf.pdf

 

 

17 ก.ย. 2564
0
แชร์หน้านี้: