วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม 2563
การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในยุโรป และมาตรการการจัดการจากคณะกรรมาธิการยุโรปและเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยด้านโรคติดเชื้อระหว่างประเทศ (GloPID-R)
การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) เริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2562 ในนครอู่ฮั่น ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณภาคกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในลักษณะที่มีกลุ่มคนซึ่งมีอาการของโรคปอดอักเสบอย่างไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน โดยเริ่มพบผู้ป่วยโรค มีอาการไข้สูง ไอแห้ง และอ่อนเพลีย มาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนหลายราย ส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงไปถึงร้านแผงลอยในตลาดค้าอาหารทะเลหวาหนาน ซึ่งนอกจากอาหารทะเลแล้วยังเป็นตลาดค้าสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิต อาทิ ค้างคาว งู และสัตว์อื่นๆ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ป่วยทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโรคและไม่สามารถประเมินถึงอันตรายและความรุนแรงในการแพร่กระจายของไวรัสได้ โดยพบว่ามีการแพร่ระบาดมาจนถึงช่วงปีใหม่และช่วงเทศกาลตรุษจีน 2563 โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนที่ชาวจีนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาไปยังเมืองอื่นๆ รวมถึงเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้มีการแพร่ระบาดในวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น
จากการทดสอบปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (Polymerase chain reaction, PCR) ซึ่งเป็นการวินิจฉัยโดยเฉพาะสำหรับการติดเชื้อของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างกว้างขวางและพบผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วเป็นจำนวนมาก บางส่วนเป็นบุคลากรด้านการสาธารณสุข นอกจากนี้ยังพบการแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ไปยังประเทศอื่นๆ ได้แก่ ประเทศไทย ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน มาเลเซีย มาเก๊า ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แคนาดา เวียดนาม กัมพูชา ฟินแลนด์ อินเดีย เนปาล ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา ซึ่งล่าสุดพบว่าในสาธารณรัฐประชาชนจีนมีผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 9 พันคนแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2563)
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าก่อกำเนิดมาจากสัตว์ชนิดใด เพราะมีข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยออกมาน้อยมาก แต่มีผลการทดสอบจากสารพันธุกรรมพบว่าสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีลักษณะคล้ายไวรัสโคโรนาที่อยู่ในกลุ่มค้างคาว อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด เพราะมีโอกาสเกิดจากค้างคาวแล้วติดต่อกันในสัตว์ตัวอื่นและพัฒนามาสู่คนได้ ดังเช่น โรคซาร์ส ซึ่งเดิมก่อกำเนิดจากค้างคาวมาติดต่ออีเห็นแล้วมาติดต่อสู่คนอีกทีหนึ่ง โดยมีลักษณะการติดต่อส่งกันมาเป็นทอดๆ ส่วนใหญ่มักเกิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ข้อสังเกตของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่พบว่ากรณีการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเป็นหลัก ฉะนั้นอาจจะสันนิษฐานได้ว่า บุคคลที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อไวรัสชนิดนี้และมีโอกาสนำไปสู่การเสียชีวิตสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้เป็นโรคหัวใจ โรคปอด หรือ กลุ่มคนกินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ซึ่งมีปัจจัยทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายน้อยลง เมื่อติดเชื้อก็มีโอกาสเสียชีวิตสูงจากความรุนแรงของอาการได้
อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ ผู้ป่วยบางคนที่ติดเชื้อเล็กน้อยแต่ยังไม่แสดงอาการป่วย สามารถแพร่กระจายเชื้อสู่บุคคลอื่นหรือในพื้นที่อื่น โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศที่สะดวกและรวดเร็วด้วยสายการบิน อาจส่งผลให้การแพร่ระบาดเกิดได้ง่ายและรวดเร็วตามมาเช่นกัน ด้วยเหตุนี้หลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมไปถึงสหภาพยุโรป จึงได้ออกมาตรการเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ดังนี้
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO)
เมื่อเดือนธันวาคม 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับการแจ้งข้อมูลจากทางการจีนเกี่ยวกับการระบาดของโรคปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่องค์การอนามัยโลกตัดสินใจไม่ประกาศให้การระบาดนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขซึ่งเป็นความกังวลระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) เพราะมองว่าเป็นการระบาดปกติตามฤดูกาล แต่หลังจากพบว่ายอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเรื่อยๆและแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศมากขึ้น ทางองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า คณะกรรมการฉุกเฉินจะรีบทบทวนการตัดสินใจอย่างทันทีหากจำเป็น แม้ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกจะเตือนว่าอาจมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างขึ้นได้ก็ตาม และยังมีความกังวลว่าจะมีการแพร่กระจายของเชื้อมากขึ้นในช่วงตรุษจีนซึ่งเป็นฤดูการท่องเที่ยวของชาวจีนอีกด้วย โดยในรายงานสถานการณ์จากองค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2563 ระบุว่าความเสี่ยงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ในระดับ “สูงมาก” ในจีน “สูง” ในระดับภูมิภาค และ “สูง” ในระดับโลก แต่อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกชี้ว่าการแก้ไขการประเมินความเสี่ยงทั่วโลกสำหรับไวรัสดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศแต่อย่างใด โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่ายังคงต้องการข้อมูลมากขึ้นและสถานการณ์ที่แน่ชัดมากกว่านี้ ก่อนที่จะประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินในระดับโลก
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อสนับสนุนการต่อต้านการแพร่ระบาดของไวรัสและหารือกับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยองค์การอนามัยโลกต้องการที่จะทำความเข้าใจความคืบหน้าล่าสุด และเสริมสร้างความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในการรับมือกับโรคระบาดต่อไป รวมไปถึงพิจารณาทางเลือกของความเป็นไปได้ในการอพยพพลเมืองต่างชาติออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในขณะนี้องค์การอนามัยโลกอยู่ระหว่างการจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญ เป้าหมายหลัก คือ การเรียนรู้จากวิธีการดำเนินงานจากจีน เนื่องจากเมืองอู่ฮั่นเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังได้ปรับฐานข้อมูลเกี่ยวกับรายการอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์และยาที่จำเป็นสำหรับการรักษาผู้ป่วย (Disease Commodity Package) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการรับมือกับการแพร่ระบาด โดยมาตรการที่องค์การอนามัยโลกผลักดันและปฏิบัติในตอนนี้มีดังนี้
1. การแลกเปลี่ยนข้อมูล – เน้นเรียนรู้จากประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ เพื่อพยายามสร้างมาตรฐานของการรักษา สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสให้ลึกซึ้งมากขึ้น อาทิ สัญญาณแจ้งเตือนและอาการผู้ป่วย เพื่อติดตามและคาดเดาพัฒนาการของการแพร่ระบาด
2. การแลกเปลี่ยนไวรัส – โดยจีนไม่ขัดข้องต่อการแบ่งปันข้อมูลลำดับทางพันธุกรรมของไวรัส และตัวอย่างเชื้อไวรัส โดยองค์การอนามัยโลกยืนยันว่าการดำเนินการของจีนมีความโปร่งใสและทางการอู่ฮั่นก็เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยรายวัน
3. บทบาทของสื่อ – องค์การอนามัยโลกได้เน้นถึงความสำคัญของสื่อในการให้ข้อมูลอย่างถูกต้องและให้ความร่วมมือในการรายงานข่าวอย่างมีความรับผิดชอบไม่บิดเบือน เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนและวิธีรักษาโรค
4. การจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญ – โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกเป็นหลัก ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชาวจีน ทั้งนี้ประเทศอื่นสามารถให้ความร่วมมือแบบทวิภาคีได้
5. การอพยพพลเมืองกลับประเทศ – องค์การอนามัยโลกไม่แสดงความเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดีหรือไม่ หรือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสฯ แต่ได้เน้นว่าประเทศนั้นๆ ควรเตรียมการอย่างรอบคอบและรอบด้าน
6. การแก้ไขปัญหาขาดแคลนหน้ากาอนามัยและอุปกรณ์อื่น – องค์การอนามัยโลกกำลังทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชน เพื่อขอรับความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาดังกล่าว
7. ข้อแนะนำต่อประเทศที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ – แต่ละประเทศควรพยายามตรวจหากรณีผู้ป่วยติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และให้การรักษา โดยต้องวิเคราะห์ตัวอย่างเชื้อในห้องวิจัยเพื่อรับการยืนยัน ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดจากมนุษย์สู่มนุษย์
8. การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน – องค์การอนามัยโลกได้หารือกับองค์กรพันธมิตรที่เกี่ยวข้องแล้วเพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือ
9. การตรวจหาเชื้อในพื้นที่ที่ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อ – การที่ยังไม่มีการรายงานผู้ป่วยในทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกาอาจสะท้อนความไม่โปร่งใสของการให้ข้อมูล ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลกอยู่
ระหว่างการทำงานร่วมกับประเทศแถบแอฟริกาเพื่อตรวจวินิจฉัยกรณีผู้ต้องสงสัย ข้อห่วงกังวลหลักขององค์การอนามัยโลก ได้แก่เรื่องขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้อและรับมือกับเชื้อ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากเชื้อโรค แต่จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้ องค์การอนามัยโลกจึงเชิญชวนให้ประเทศเหล่านี้ขอรับความช่วยเหลือด้านการเงิน
ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศ ณ วันที่ 31 มกราคม 2563 ให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 “เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก (global emergency)” หลังจากมีการแพร่กระจายไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมีรายงานพบผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เดินทางไปที่จีน ได้แก่ เยอรมนี เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น และเป็นการติดต่อของเชื้อไวรัสจากคนสู่คน (human to human transmission)
สหภาพยุโรป
สำหรับประเทศในสหภาพยุโรปต่างเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นและภาคกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเข้มงวด ในการสกัดกั้นไม่ให้เชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่กระจายในประเทศของตน โดยมีการประกาศให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปเมืองอู่ฮั่นทันที หลังจากมีการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี นอกจากนี้สหภาพยุโรปและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร สเปน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเยอรมนี ต่างพิจารณาเตรียมแผนอพยพพลเมืองออกจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว
ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในยุโรป
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (The European Centre for Disease Prevention and Control, ECDC) ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในยุโรปอย่างใกล้ชิดและทำการประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ แต่ยังมีข้อจำกัดด้านการประเมิน เนื่องด้วยการเข้าถึงและการแบ่งปันข้อมูลทางระบาดวิทยายังมีไม่เพียงพอ จากการประเมินความเสี่ยงของ ECDC พบว่า
– ความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ของพลเมืองชาวยุโรปที่อาศัยหรือเดินทางไปยังนครอู่ฮั่นอยู่ในระดับ “ปานกลาง”
– ความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากต่างประเทศสู่ประเทศในสหภาพยุโรปอยู่ในระดับ “ปานกลาง”
– ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากผู้ติดเชื้อไปยังบุคคลใกล้ชิดในสหภาพยุโรปอยู่ในระดับ “ต่ำ”
มาตรการจัดการความเสี่ยงของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในยุโรป
คณะกรรมธิการยุโรปด้านสุขภาพและความปลอดภัยทางอาหาร (Directorate-General for Health and Food Safety, DG SANTE) ได้ทำการประเมินเบื้องต้นต่อข้อมูลที่ได้รับจากแต่ละประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยพบว่าสหภาพยุโรปมีการเตรียมความพร้อมในระดับสูงในการจัดการกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยมีการจัดการให้ทุกประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงบริการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากห้องปฏิบัติการ เผยแพร่ข้อควรปฏิบัติให้แก่นักท่องเที่ยวและบุคลากรทางสาธารณสุข และร่างแผนระบบสุขภาพเพื่อบริหารจัดการกรณีการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยขณะนี้ยังไม่มีประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปที่เรียกขอความช่วยเหลือพิเศษทางด้านอุปกรณ์จากคณะกรรมาธิการยุโรป
เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ห้องปฏิบัติการในแต่ละประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปให้สามารถตรวจจับการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
– เกณฑ์การคัดกรองทางระบาดวิทยา :
– บุคคลใดก็ตามที่มีประวัติการเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วง 14 วัน ก่อนเริ่มมีอาการป่วย
– บุคคลใดก็ตามที่มีการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการ ในช่วง 14 วัน ก่อนเริ่มมีอาการป่วย
– เกณฑ์การคัดกรองทางคลินิก :
– บุคคลใดก็ตามที่มีอาการทางคลินิกที่เหมือนได้จากการติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันและรุนแรงที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือหรือจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องด้วยผลพิสูจน์ทางคลินิกหรือจากการฉายรังสีว่ามีอาการของโรคปอดบวม
– บุคคลใดก็ตามที่มีไข้หรือมีประวัติว่ามีไข้สูงกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส และพบการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน (มีการแสดงอาการอย่างฉับพลันของการติดเชื้อทางเดินหายใจอย่างน้อยอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ การหายใจถี่ ไอ หรือ เจ็บคอ) โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ECDC) แนะนำว่าหากพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะต้องแจ้งในระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการตอบสนอง (Early Warning and Response System, EWRS) อย่างทันที เพื่อกระจายข่าวการพบและการกระจายที่มาของเชื้อ
สาธารณรัฐฝรั่งเศส
สาธารณรัฐฝรั่งเศสถือเป็นชาติแรกของยุโรปที่สั่งอพยพพลเมืองของตนออกจากสาธารณรัฐประชาชนจีนหลังจากที่พบผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ภายในประเทศ ซึ่งต่างมีประวัติเดินทางกลับมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศส ส่งเครื่องบินเที่ยวแรกเข้ารับพลเมืองออกจากเมืองอู่ฮั่น โดยเที่ยวบินแรกที่จะไปรับเฉพาะที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ อย่างไรก็ดีฝรั่งเศสได้จัดเตรียมสถานที่รองรับและกักกันโรคเพื่อเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน หลังการอพยพพลเมืองชุดนี้กลับมายังฝรั่งเศส
สำหรับการจัดการกับการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ในฝรั่งเศส สำนักงานสาธาณสุขของฝรั่งเศสได้เร่งกำลังตรวจสอบด้านระบาดวิทยา เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยติดเชื้อได้สัมผัสกับผู้อื่นหรือไม่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดต่อไป โดยสำนักงานสาธารณสุขของฝรั่งเศสกล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในฝรั่งเศสมีประสิทธิภาพและรู้ผลได้เร็ว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฝรั่งเศสสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกในยุโรป
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นประเทศที่ 2 ในทวีปยุโรปถัดจากฝรั่งเศส ที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หัวหน้าสำนักงานความปลอดภัยสุขภาพและอาหาร รัฐบาวาเรียของเยอรมนี แถลงยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเยอรมนี โดยเผยว่าชายคนนี้ไม่เคยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ติดเชื้อจากเพื่อนร่วมงานชาวจีนที่มาทำงานในเยอรมนี โดยคณะแพทย์กำลังติดตามดูอาการของผู้ติดเชื้อเหล่านี้และได้แยกตัวออกจากผู้ป่วยคนอื่นๆ นอกจากนี้ทางรัฐบาลเยอรมนีได้ติดตามตรวจสอบร่างกายผู้ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ว่าได้รับการแพร่กระจายเชื้อด้วยหรือไม่ ตามมาตรการเฝ้าระวัง ในขณะที่บริษัทที่ผู้ติดเชื้อทำงานอยู่ได้ประกาศปิดให้บริการ 2 สัปดาห์ เพื่อเป็นการกักบริเวณและให้มีการฆ่าเชื้อ และระงับการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับสำนักงานในสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างไม่มีกำหนด
ราชอาณาจักรเบลเยียม
ถึงแม้ในเบลเยียมจะยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่มหาวิทยาลัย KU Leuven กำลังพัฒนาวัคซีนสำหรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย KU Leuven ได้อาศัยเทคโนโลยี passe-partout ในการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ โดยเริ่มแรกเทคโนโลยี passe-partout มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคไข้เหลือง แต่ทว่าสามารถนำไปใช้จัดการเชื้อโรคชนิดอื่นได้เช่นกัน ซึ่งในการทดสอบในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย KU Leuven พบว่าเทคโนโลยีนี้สามารถใช้จัดการไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า อีโบลา และซิกาได้เช่นกัน โดยชณะนี้นักวิจัยกำลังสร้างแบบจำลองและคาดว่าจะสามารถทดสอบวัคซีนชนิดใหม่ในสัตว์ได้ภายในไม่กี่อีกสัปดาห์ข้างหน้า
เครือข่ายวิจัย Global Research Collaboration for Infectious Disease Preparedness (GloPID-R)
เครือข่ายวิจัย Global Research Collaboration for Infectious Disease Preparedness (GloPID-R) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยด้านโรคติดเชื้อระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ ที่ระบาดในโลก ได้ทำงานร่วมกับสมาชิกของเครือข่ายและองค์การอนามัยโลกเพื่อกำหนดหัวข้อการวิจัยที่สำคัญที่จะสนับสนุนให้ทุนโดยขณะนี้จะมุ่งเน้นการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการวินิจฉัย การรักษา และการพัฒนาวัคซีน พร้อมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางสาธารณสุขต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ เพื่อจำกัดอัตราการป่วยและเสียชีวิต ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเบื้องต้นทางสมาชิกของเครือข่าย GloPID-R ได้ระบุแผนปฏิบัติการสำคัญเพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อ 3 ประการดังนี้
– การส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั่วโลก โดยส่งเสริมการสื่อสารและการปรึกษาหารือระหว่างองค์กรทั่วโลกถึงการใช้ประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนาเพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อ
– กำหนดหัวข้อหรือสาขาการวิจัยที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการจัดการกับเชื้อไวรัสเพื่อให้เกิดการลงทุนทางการวิจัยที่มีประสิทธิผลโดยจะมีการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญอิสระและจัดการประชุมระหว่างผู้แทนระดับสูงเพื่อกำหนดความเร่งด่วนของการวิจัย
– จัดทำแพลตฟอร์มเพื่อกำหนดกระบวนการระเบียบวิธี และเครื่องมือมาตรฐานที่ชัดเจน เช่น กรอบกำกับดูแลในการประเมินทางคลินิกของวัคซีน วิธีการรักษา และวิธีการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้หน่วยงานระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ทุกหน่วยงาน ได้ดำเนินงานตามอย่างสอดคล้องกัน รวมถึงเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลและตัวอย่างระหว่างสมาชิกทั่วโลกอีกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสมาชิกของเครือข่ายวิจัย GloPID-R โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข (ส่วนกลาง) และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนภูมิภาคเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าวจะให้บริการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างที่น่าสงสัยต่อการติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์การคัดกรองของกรมควบคุมโรค ซึ่งสามารถตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสได้อย่างแม่นยำ มีความจำเพาะสูง เชื่อถือได้ และรู้ผลภายใน 3 ชั่วโมง หลังจากห้องปฏิบัติการได้รับตัวอย่าง โดยใช้การตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสด้วยเทคนิค หากผลการตรวจเป็นลบ สามารถรายงานผลได้ทันที แต่หากผลการตรวจเป็นบวก จะดำเนินการตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ (Nucleotide sequencing) โดยใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้การสรุปผลการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสมีความชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการรักษา โดยห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีส่วนทำให้การทำงานของเครือข่ายวิจัย GloPID-R ในการตรวจหาเชื้อไวรัสมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมของประเทศไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายวิจัย GloPID-R
สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้ประสานงานกับเครือข่ายวิจัย GloPID-R มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องกับเครือข่ายวิจัย GloPID-R ตลอดจนได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์สำหรับนักวิจัยไทยที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการต่างๆ ในกรอบความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม Horizon 2020 ของสหภาพยุโรป ภายหลังจากการเข้าร่วมประชุมหารือดังกล่าว สำนักงานฯ ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงอุดมศึกษาฯ (กระทรวงวิทย์ฯ(เดิม)) และได้รับมอบหมายจากท่านปลัดกระทรวง ให้อัครราชทูตที่ปรีกษา (ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ประจำกรุงบรัสเซลส์ เป็นผู้แทนไทยที่ประจำอยู่ในยุโรป ทำหน้าที่ประสานงาน (coordinator) และในส่วนของผู้แทนไทยที่ประจำอยู่ในประเทศไทย เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข อันได้แก่ นางสาวนภวรรณ เจนใจ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายในประเทศไทย
การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์
ทีมนักวิจัยจาก Johns Hopkins Center for Systems Science and Engineering (CSSE) ได้พัฒนาแผนที่ติดตามเรียลไทม์ (dashboard) สำหรับติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสทั่วโลก เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสอย่างใกล้ชิดและทันท่วงที โดยในแผนที่ติดตามเรียลไทม์ จะมีการแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด ระบุเมืองและภูมิภาคที่ผู้ป่วย ยิ่งพบมากในภูมิภาคใด จะยิ่งมีจุดบนแผนที่มากขึ้น และมีแผนภูมิช่วยแสดงผลให้เห็นว่ามีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่าใด มีจำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้รอดชีวิตหรือหายจากการติดเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งข้อมูลต่างๆ นำมาจากรายงานขององค์กรสาธารณสุขระดับโลก เช่น WHO CDC NHC และ Dingxiangyuan เป็นต้น ข้อมูลได้ถูกรวบรวมและสรุปให้ดูง่ายและมีการอัพเดตข้อมูลแบบรายวัน นักวิจัยและผู้เกี่ยวข้องสามารถ download ติดตามได้ที่ https://gisanddata.maps.arcgis.com/apps/opsdashboard/index.html#/bda7594740fd40299423467b48e9ecf6
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2020/20200225-newsletter-brussels-no01-jan63.pdf