หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 12 เดือน ธันวาคม 2562
วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 12 เดือน ธันวาคม 2562
7 เม.ย. 2563
0
นานาสาระน่ารู้

วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 12 เดือน ธันวาคม 2562

สหภาพยุโรปเปิดตัวแผนนโยบาย Green Deal เพื่อจัดการกับสภาวะโลกร้อนและสร้างบทบาทการเป็นผู้นำในเวทีโลกในด้านอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสะอาด
นโยบาย Green Deal ซึ่งเป็นนโยบายการลดและต่อสู้กับสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป โดยมีจุดมุ่งหมายขับเคลื่อนยุโรปสู่สังคมไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี ค.ศ.2050 อีกทั้งยุโรปจะต้องเป็นผู้นำในเวทีโลกด้านอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสะอาด

10 ประเด็นสำคัญของแผนนโยบาย Green Deal
1.การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral)
สหภาพยุโรปได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งระเบียบวาระดังกล่าวจะถูกบรรจุอยู่ในกฎหมายว่าด้วยสภาพภูมิอากาศซึ่งจะถูกนำเสนอในเดือนมีนาคม ค.ศ.2020 ระเบียบวาระดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย โดยมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 40 เพิ่มเป็นร้อยละ 50-55 ภายในปี ค.ศ.2030 (โดยใช้ฐานของปี ค.ศ. 1990 มาวัด) แต่ทว่ายังจะต้องมีการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ของเป้าหมายอีกทีหนึ่ง
2.แผนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่ (Circular Economy)
แผนนโยบายฉบับใหม่นี้จะครอบคลุมประเด็นผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยจะอธิบายถึงวิธีการผลิตที่จะลดการใช้วัสดุและทรัพยากร และการออกแบบเพื่อส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล เช่น กรณีของแบตเตอรี่ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และสิ่งทอ โดยจะเตรียมการให้มีการผลิตวัสดุเหล่านี้ด้วยพลังงานสะอาด เช่น ไฮโดรเจน ภายในปีค.ศ.2030
3.การปรับปรุงอาคารบ้านเรือน (Building renovation)
หนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้แผนนโยบาย Green Deal นั่นคือการเพิ่มอัตราการปรับปรุงอาคาร โดยเพิ่มเป็นจำนวนอย่างน้อย 2 ถึง 3 เท่า จากปัจจุบันที่อยู่ที่ร้อยละ 1
4.สังคมไร้มลพิษ (Zero-pollution)
แผนนโยบาย Green Deal ต้องการสร้างสังคมที่ไร้มลพิษ ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ดิน และน้ำ ต้องปลอดจากสารมลพิษภายในปี ค.ศ. 2050 โดยแผนนโยบายใหม่นี้จะครอบคลุมถึงกลยุทธ์การจัดการสารเคมีเพื่อสร้างสังคมที่ปราศจากสารพิษ
5.ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (Ecosystems & biodiversity)
ภายใต้แผนกลยุทธ์ใหม่สหภาพยุโรปต้องการเป็นผู้นำในการพัฒนามาตรการเพื่อจัดการกับปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น มาตรการจัดการมลพิษในดินและน้ำ และแผนกลยุทธ์ป่าไม้ฉบับใหม่ที่จะมุ่งเน้นการเพิ่มอัตราการปลูกป่าทั้งในเขตเมืองและชนบท และกฎการใช้ฉลากเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีกระบวนการผลิตปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า
6.แผนกลยุทธ์จากฟาร์มถึงปลายส้อม (From Farm to Fork Strategy)
แผนกลยุทธ์จากฟาร์มถึงปลายส้อมจะถูกเสนอแก่ที่ประชุมในปี ค.ศ. 2020 โดยมีจุดมุ่งหมายพัฒนาระบบเกษตรกรรมสีเขียวเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งจะมีการพิจารณาลดการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และยาต้านจุลชีพ อย่างมีนัยสำคัญ
7.ภาคขนส่ง (Transport)
ปัจจุบันเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งของสหภาพยุโรปอยู่ที่ 95gCO2/km ภายใน ค.ศ. 2021 แต่สหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นที่จะลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคส่วนนี้ให้เป็นศูนย์ในช่วงปี ค.ศ. 2030 โดยจะมีการกระตุ้นและส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าผ่านเป้าหมายการติดตั้งสถานีจ่ายไฟจำนวน 1 ล้านสถานีทั่วยุโรปให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2025 นอกจากนี้จะมุ่งเน้นการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบิน การเดินเรือ และ การขนส่งโดยยานยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าได้
8.การเงิน (Money)
สหภาพยุโรปเตรียมใช้เครื่องมือการเงิน Just transition Mechanism โดยจะระดมทุนจำนวน 1 แสนล้านยูโร เพื่อช่วยประเทศ ภูมิภาค และภาคธุรกิจ ที่มีความเสี่ยงสูงสุด ที่ยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลัก โดยงบประมาณ 1 แสนล้านยูโรนี้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
กองทุน
Just Transition เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม โดยจะดึงงบประมาณด้านนโยบายภูมิภาคของสหภาพยุโรปมาใช้
โครงการ
InvestEU ซึ่งงบประมาณมาจากธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (The European Investment Bank, EIB)
กองทุนธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป โดยทุกๆ ยูโรที่ถูกใช้จ่ายจากกองทุน จะถูกสบทบด้วยเงิน 2 ถึง 3 ยูโร จากงบประมาณส่วนภูมิภาค
9.การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (R&D and innovation)
ขอบข่ายโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมของสหภาพยุโรปฉบับที่ 9 หรือ Horizon Europe ซึ่งมีงบประมาณ 1 แสนล้านยูโร ครอบคลุมช่วงปี ค.ศ. 2021-2027 จะส่งเสริมแผนนโยบาย Green Deal เช่นกัน โดยร้อยละ 35 ของทุนวิจัยจะนำไปส่งเสริมการวิจัยด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม
10.ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ (External relations)
สหภาพยุโรปมุ่งใช้มาตรการทางการฑูต ในการสนับสนุนแผนนโยบาย Green Deal ซึ่งหนึ่งในมาตรการ คือ ข้อเสนอการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ณ ชายแดน ในขณะที่สหภาพยุโรปเพิ่มมาตรการต่างๆ ในการรักษาสิ่งแวดล้อม สหภาพยุโรปจึงอยากเห็นประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแสดงเจตจำนงที่สอดคล้องกันและสหภาพยุโรปจะป้องกันเศรษฐกิจในภูมิภาคจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อีกหนึ่งนโยบายการค้าที่สหภาพยุโรปนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปสีเขียวคือ การกำหนดให้คู่ภาคีที่จะเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปต้องให้สัตยาบันและปฏิบัติตามความตกลงปารีสอย่างเคร่งครัด

ข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย
จากแผนนโยบาย Green Deal หน่วยงานในไทยทั้งภาครัฐและเอกชนควรเตรียมความพร้อมและจัดเตรียมมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับแผนนโยบาย Green Deal โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มิฉะนั้นอาจจะทำให้ประเทศไทยเสียสิทธิประโยชน์ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เช่นในกรณีการเสียภาษีคาร์บอน นอกจากนี้ประเทศไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากแผนนโยบาย Green Deal ในการร่างมาตรการและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ของไทย หรือเป็นช่องทางในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยด้านพลังงานสะอาดในยุโรปได้อีกด้วย

ผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA
โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ได้ประกาศผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลประจำปี ค.ศ. 2018 ออกมาแล้ว ในระดับนานาชาติ พบว่า นักเรียนจากจีนในสี่มณฑล (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง) และสิงค์โปร์ มีคะแนนทั้งสามด้าน ได้แก่ ด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านการอ่านซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้ ได้แก่ จีนสี่มณฑล สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง และเอสโตเนีย ส่วนนักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่านมีคะแนนลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งในการทดสอบทางสถิติถือว่าด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรอบการประเมินที่ผ่านมา

การประเมิน PISA
โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยจะประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับอย่างต่อเนื่องทุกๆ 3 ปี และเน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า ความฉลาดรู้ (Literacy) ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (reading literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (mathematical literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (scientific literacy) การประเมินนักเรียนจะวัดทั้ง 3 ด้าน ดังกล่าวไปพร้อมกัน แต่จะเน้นหนักในด้านใดด้านหนึ่งในแต่ละรอบการประเมินซึ่งความฉลาดรู้ทั้งสามด้านนี้ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นสิ่งที่ประชากรจำเป็นต้องมีเพื่อการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

การประเมิน PISA สำคัญอย่างไรในเวทีโลก
สาเหตุที่เลือกนักเรียนในช่วงอายุ 15 ปี มาทำการประเมิน เพราะนักเรียนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สิ้นสุดการศึกษาภาคบังคับและจะต้องออกไปประกอบอาชีพในตลาดแรงงาน คุณภาพของนักเรียนในกลุ่มนี้จึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในอนาคต เนื่องจากนานาชาติถือว่าการประเมิน PISA เป็นข้อสอบที่มีคุณภาพและมีนักเรียนจำนวนมากจากทั่วโลกเข้าร่วมทดสอบ ผลการทดสอบจึงเป็นดัชนีบ่งบอกคุณภาพทางการศึกษาที่น่าเชื่อถืออันหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากหน่วยงานจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันต่างๆ เช่น World Competitiveness Center (IMD) หรือ World Economic Forum (WEF) ล้วนใช้ผลทดสอบการประเมิน PISA เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านทรัพยากรของประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทย ในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ได้ตั้งเป้าหมายให้เด็กไทยมีคะแนนการประเมิน PISA อยู่ในระดับมาตรฐานสากลหรือระดับค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD ให้ได้

การประเมิน PISA 2018
PISA 2018 มีการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวนมากกว่า 600,000 คน จาก 79 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจโดยประเทศที่เข้าร่วมการประเมินเป็นครั้งแรกใน PISA 2018 ได้แก่ เบลารุส บอสเนียและเฮร์เซโกวีนา บรูไนดารุสซาลาม โมร็อกโก ยูเครน ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย และมณฑลเจ้อเจียง(จีน) โดยการสอบครั้งก่อนในปี ค.ศ. 2015 มีจำนวนประเทศที่เข้าร่วม 72 ประเทศ (นักเรียน 510,000 คน) ในขณะที่การสอบครั้งแรกมีจำนวนประเทศที่เข้าร่วม 43 ประเทศ (นักเรียน 256,000 คน) สำหรับประเทศไทยนับเป็นประเทศในกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมการสอบ PISA ทุกรอบตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ ซึ่งดำเนินการจัดสอบครั้งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,633 คน จาก 290 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษาเข้าร่วมการประเมินในรอบนี้ โดยนักเรียนได้ทำแบบทดสอบและแบบสอบถามทางคอมพิวเตอร์ผ่านแฟลชไดรฟ์ข้อสอบนอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย

การเปลี่ยนแปลงการประเมินด้านการอ่าน
PISA 2018 จะประเมินการอ่านทั้งการใช้แหล่งข้อมูลเดียวและหลายแหล่งข้อมูล ตัวอย่างแหล่งข้อมูลที่มีในช้อสอบของ PISA เช่น แผ่นพับ ป้ายประกาศ การโพสต์ข้อความหลายๆ โพสต์บนกระดานสนทนา การเขียนบล็อกส่วนตัว การโต้ตอบทางอีเมล การสนทนาทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ บทความออนไลน์ บทความทางวิชาการ บทความจากหนังสือพิมพ์ เอกสารทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ทำให้สามารถใช้สื่อดิจิทัลได้หลายแบบและสามารถกดลิงค์ แท็บ หรือเมนูต่างๆ เพื่อดูข้อมูลบนเว็บไซต์ที่อยู่ในสถานการณ์ของข้อสอบที่สร้างขึ้น  PISA จึงประเมินกระบวนการอ่านโดยเน้นที่ความสามารถในสามกระบวนการ ดังนี้
– ตำแหน่งข้อสนเทศในเนื้อเรื่อง
(locate information) : เข้าถึงและค้นสาระข้อสนเทศที่อยู่ในเนื้อเรื่อง
– มีความเข้าใจในเนื้อเรื่อง
(understand) : แสดงถึงความเข้าใจในความหมายที่แท้จริงของเนื้อเรื่อง และบูรณาการและลงข้อสรุปจากข้อสนเทศหลายๆ ส่วนที่อยู่ในเนื้อเรื่อง
– ประเมินและสะท้อนความคิดเห็นต่อเนื้อเรื่อง
(evaluate and reflect) : ประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือของเนื้อเรื่องได้ , สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาและรูปแบบของเรื่องที่ได้อ่านอย่างมีวิจารณญาณ, ตรวจสอบข้อมูลที่ขัดแย้งกันและหาวิธีจัดการข้อขัดแย้งนั้น  

ผลการประเมิน
ทั้งนี้จากการประเมินของ PISA 2018 ที่เน้นในด้านทักษะการอ่าน พบว่าประเทศที่ได้คะแนน 10 อันดับแรกคือ จีน (เฉพาะในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง) สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง เอสโตเนีย แคนาดา ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และโปแลนด์  ส่วนประเทศที่มีคะแนนรั้งท้ายด้านการอ่านคือฟิลิปปินส์ (มีคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านต่ำสุดอยู่ที่ 340 คะแนน) สาธารณรัฐโดมินิกัน โคโซโว เลบานอน โมร็อกโก อินโดนีเซีย ปานามา จอร์เจีย คาซัคสถาน บากู มาซิโดเนียเหนือ และไทย ในภูมิภาคอาเซียน มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่ทำคะแนนจากกการประเมิน PISA 2018 ได้เกินกว่าค่าคะแนนเฉลี่ย OECD ในขณะที่ประเทศไทยมีคะแนนสูงกว่าแค่ประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
สำหรับผลการประเมินของประเทศไทย นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยในด้านการอ่าน
393 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน) คณิตศาสตร์ 419 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) และวิทยาศาสตร์ 426 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 489 คะแนน) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ PISA 2015 พบว่า ด้านการอ่านมีคะแนนลดลง 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งในการทดสอบทางสถิติถือว่าด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรอบการประเมินที่ผ่านมา โดยสรุปพบว่านักเรียนไทยมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ในทุกด้าน ทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แม้รายงาน PISA 2015 จะพบว่า เด็กไทยใช้เวลาเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนถึง 55 ชั่วโมง สูงกว่าประเทศที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ อย่างฟินแลนด์ (36 ชั่วโมง) หรือ เกาหลีใต้ (50 ชั่วโมง)

ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนเวลาเรียนกับผลคะแนนการประเมิน PISA
โดยเฉลี่ยนักเรียนมีเวลาทั้งหมดที่สามารถใช้ในการเรียนประมาณสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง  นักเรียนในประเทศสมาชิก OECD รายงานว่าใช้เวลาเรียน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (รวมเวลาทำการบ้าน เรียนเพิ่มเติม และเรียนพิเศษส่วนตัว) นั่นคือประมาณร้อยละ 55 ของเวลาที่นักเรียนมีทั้งหมด ในขณะที่นักเรียนบางประเทศ/เขตเศรษฐกิจ เช่น จีนสี่มณฑล กาตาร์ ตูนิเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และไทย ใช้เวลาเรียนอย่างน้อยร้อยละ 65 ของเวลาที่นักเรียนมีแต่บางประเทศ เช่น ฟินแลนด์ เยอรมนี สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และอุรุกวัย นักเรียนใช้เวลาเรียนน้อยกว่าครึ่งของเวลาที่นักเรียนมีทั้งหมด
นักเรียนไทยใช้เวลาเรียนมากทั้งในเวลาเรียนปกติในโรงเรียนและนอกเวลาเรียนซึ่งเกือบจะมากกว่านักเรียนจากทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ข้อมูลชี้ว่านักเรียนไทยใช้เวลามากว่าอีกหลายประเทศและให้เวลากับวิชาวิทยาศาสตร์มากกว่าวิชาอื่นๆ ทั้งในเวลาเรียนปกติและนอกเวลาเรียน อีกทั้งเวลารวมที่ใช้กับทุกวิชาทั้งในและนอกเวลาก็จัดอยู่ในกลุ่มระบบโรงเรียนที่ใช้เวลาเรียนมาก แต่ผลการประเมินชี้ว่านักเรียนไทยยังคงอยู่ห่างไกลจากค่าเฉลี่ย
OECD ซึ่งทำให้อัตราส่วนระหว่างคะแนนต่อเวลาเรียนรวมมีค่าต่ำแสดงนัยถึงการใช้เวลาที่ยังไม่คุ้มค่าและชี้ถึงประสิทธิภาพของการจัดการของระบบโรงเรียนด้วย

 

 ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2020/20200225-newsletter-brussels-no12-dec62.pdf

7 เม.ย. 2563
0
แชร์หน้านี้: