หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ รายงานข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2562
รายงานข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 4 เดือนเมษายน 2562
13 พ.ย. 2562
0
นานาสาระน่ารู้

วารสารข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากกรุงบรัสเซลส์ ฉบับที่ 4 เดือน เมษายน 2562

การสร้างความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่าง มหาวิทยาลัย Ghent และ ไบโอเทค

สำนักงานที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้นำคณะจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เข้าลงนาม MOU ด้านการวิจัยการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ร่วมกับศูนย์เก็บรวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์ เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียมในเดือนธันวาคม 2561 โดยในเดือนเมษายน 2562 ดร.มาณพ สิทธิเดช อัครราชทูตที่ปรีกษา ได้ประสานนำคณะผู้แทนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และสวทช. เข้าร่วมการประชุมและประสานความร่วมมือด้านการวิจัยการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agricultural Research and Biotechnology) ร่วมกับมหาวิทยาลัย Ghent ณ ประเทศเบลเยียม โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ สัตวแพทย์ รวมถึงการผลิต start-ups และ spin-off company ห้องปฏิบัติการจุลินทรีย์วิทยาเป็นส่วนหนึ่งของภาคชีวเคมีและจุลินทรีย์วิทยา (Department of Biochemistry and Microbiology) และมีทีมงานมาจากหลายสาชาวิชา เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ ชีวเคมี คณิตศาสตร์ และชีวสารสนเทศ สำหรับการเก็บรวบรวมสายพันธุ์แบคทีเรีย โดยการหารือในโอกาสนี้นำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ด้านการวิจัยการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ Department of Biochemistry and Microbiology มหาวิทยาลัย Ghent ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านการวิจัยสองประเทศด้าน Bacterium’s Genome Sequencing และ Long-term Preservation of Bacteria ต่อไป

กฎหมาย GDPR กับ การพัฒนาเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล

ประเทศไทยมีการใช้สังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook LINE Twitter Instagram มากกว่าในประเทศอื่นๆ จนติดอันดับประเทศที่มีการใช้สังคมออนไลน์ที่สูงที่สุดในโลก โดยการใช้ แอพพลิเคชันต่างๆ ผ่านสังคมออนไลน์หรือการหาข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสืบค้นข้อมูล เช่น Google Yahoo Bing หรือ search engine อื่นๆ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกด้วยผู้ให้บริการ โดยเฉพาะข้อมูลในส่วนของการใช้จ่ายหรือเลือกซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต อีกทั้งข้อมุลเหล่านั้นยังถูกนำไปใช้ประมวลผลโดยผู้เก็บข้อมูลและผู้ที่ซื้อข้อมูลจากผู้จัดเก็บข้อมูล เพื่อนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคและการเลือกซื้อสินค้า ข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ Big Data ซึ่งถูกนำเอาไปทำการตลาดสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของส่วนบุคคลเหล่านี้ให้สนใจซื้อสินค้าและบริการ   

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เรียกว่า General Data Protection Regulation หรือ GDPR เพื่อเป็นการป้องกันข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค ไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างง่ายดายเหมือนแต่ก่อน สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ

– หน่วยงานควบคุมข้อมูลที่เจ้าของข้อมูลได้เข้ารับบริการ จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลในการจัดเก็บข้อมูล รวมทั้งต้องกำหนดขอบเขต วัตถุประสงค์ในการประมวลผลข้อมูลที่ชัดเจน นอกจากนี้มีการกำหนดว่ารายละเอียดเงื่อนไขการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลต้องเข้าใจง่าย โดยกฎหมาย GDPR ระบุว่า คำขอความยินยอมอ่านแล้วเข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่รวบรัด ชัดเจน อีกทั้งกำหนดว่าต้องแจ้งเจ้าของข้อมูลว่าข้อมูลถูกใช้เอาไปทำอะไร วัตถุประสงค์ใด และ ต้องจำทำสำเนาให้กับเจ้าของข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยห้ามเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

– แต่ละประเทศในสหภาพยุโรปต้องให้การคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อข้อมูลที่อ่อนไหวเป็นพิเศษ เช่น ความคิดทางการเมือง ศาสนา ลัทธิ พฤติกรรม สุขภาพ พฤติกรรมทางเพศ การเป็นสมาชิกสหพันธ์ประวัตอาชญากรรม เป็นต้น

– การส่งข้อมูลไปต่างประเทศหรือบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ ผู้รับข้อมูลต้องมีการคุ้มครองข้อมูลโดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับบริษัทในยุโรป

– หน่วยงานควบคุมข้อมูลต้องกำหนดขอบเขตระยะเวลาในการประมวลผล และมีมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลอย่างรัดกุม

– หากพบว่าข้อมูลมีการรั่วไหล หน่วยงานควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูลต้องแจ้งให้หน่วยงานกำกับดูแลและประชาชนทราบภายใน 72 ชั่วโมง

– หากพบว่าบริษัทหรือองค์ทำผิดกฎหมาย GDPR องค์กรนั้นๆ ต้องจ่ายค่าปรับร้อยละ 4 ของผลประกอบการรายได้ทั่วโลกทั้งหมด หรือกว่า 20 ล้านยูโร ตัวอย่างความผิดเช่น การได้ข้อมูลมาโดยเจ้าของข้อมูลไม่ได้ให้การยินยอม ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว กรณีของ Facebook โดยบทลงโทษนี้จะถูกบังคุบใช้กับหน่วยงานควบคุมข้อมูลและผู้ประมวลผลข้อมูล   

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับการพัฒนาเทคโนโลยี

การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) การใช้อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ การรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล โดยกฎหมาย GDPR ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการวางรากฐาน การเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล และก้าวสู่โลกที่ต้องเชื่อมต่อกันบนสังคมออนไลน์ตลอดเวลา ซึ่งจำเป็นต้องทำให้ผู้ใช้สามารถมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองจากการโจรกรรมข้อมูล และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องทำ เพื่อ สร้างความมั่นใจว่าระบบและเทคโนโลยีขององค์กรถูกนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัย   

กรณีตัวอย่างของเทคโนโลยีการจดจำใบหน้ากับกฎหมาย GDPR

การใช้ภายใต้กฎหมาย GDPR เช่น กรณีบริษัท Google จะต้องจ่ายค่าปรับถึง 50 ล้านยูโร สำหรับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผู้ควบคุมศูนย์ข้อมูลของฝรั่งเศส (The National Commission for Informatics and Liberties, CNIL) ได้กล่าวหาว่าบริษัท Google ขาดความโปร่งใส ข้อมูลไม่เพียงพอและขาดความยินยอมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโฆษณา อีกตัวอย่างคือ กรณีพิพาทว่าด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Face Recognition Technology, FRT) ที่ถูกใช้โดย Facebook หลังจากที่ Facebook ถูกฟ้องว่าใช้ข้อมูลใบหน้าของผู้ใช้ Facebook โดยไม่ได้ขอความยินยอมจากผู้ใช้ก่อน โดยการที่ Facebook ได้ใช้ facetemplates ในการแนะนำให้แท็กบุคคลในรูป โดยไม่ต้องแจ้งให้ใครทราบ เทคโนโลยีจดจำใบหน้าจะเก็บข้อมูลลักษณะใบหน้าของคน อยู่ภายใต้ข้อมูลไบโอเมตริก จัดเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว” (sensitive personal data) ตามคำนิยามของข้อมูลไบโอเมตริกใน กฎหมาย GDPR ซึ่งหมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดจากการประมวลผลทางเทคนิคเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางกายภาพ สรีรวิทยา และพฤติกรรมของคนตามธรรมชาติ เช่น ภาพใบหน้า หรือลายนิ้วมือ ตามข้อกำหนดของกฎหมาย GDPR ได้แบ่งข้อมูลไบโอเมตริก ออกเป็น 2 ประเภท คือ

– ลักษณะทางกายภาพ : ลักษณะใบหน้า ลายนิ้วมือ ม่านตา น้ำหนัก ฯลฯ

– ลักษณะพฤติกรรม : นิสัย การกระทำ ลักษณะบุคลิก ท่าทางประหลาดๆ การเสพติด ฯลฯ   

การเปรียบเทียบระหว่างกฎหมาย GDPR ของสหภาพยุโรปและกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย

หากพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย กับกฎหมาย GDPR ของสหภาพยุโรป แม้กฎหมายทั้ง 2 จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีบางส่วนที่แตกต่างกัน ในหลายเรื่องเช่น

1.การยกเลิกความยินยอมและการร้องขอโดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลให้ลบ ทำลาย ระงับการใช้ หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.กระทำได้ยากหรือมีเงื่อนไขมากกว่าของกฎหมาย GDPR

2. ในส่วนของข้อบังคับเกี่ยวกับข้อมูลสำคัญนั้นกฎหมาย GDPR มีการกำหนดเพิ่มเติมไว้ว่าข้อมูลประเภทนี้จะจัดเก็บได้หากข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวนี้เป็นข้อมูลที่เจ้าของข้อมูลได้ทำให้เป็นข้อมูลสาธารณะด้วยตนเอง หรือเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยการนำไปใช้ในงานวิจัยหรือจัดทำสถิติโดยไม่มีการระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูล

3. ในส่วนของโทษทางแพ่งและทางอาญาเมื่อเกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือกระทำผิดตามพ.ร.บ. พบว่า พ.ร.บ. ของไทย มีการกำหนดโทษจำคุกและค่าปรับ ไว้ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับค่าปรับที่กำหนดไว้ในกฎหมาย GDPR

4. ขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บังคับใช้แก่การเก็บรวบรวม การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลนั้นอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร และผลแห่งการกระทำเกิดหรือเล็งเห็นว่าจะมีผลเกิดในประเทศไทยเท่านั้น ในขณะที่กฎหมาย GDPR มีผลบังคับใช้กับการเก็บรวบรวม การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่อาศัยในทุกประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ไม่สนใจว่าเจ้าของข้อมูลนั้นจะเป็นพลเมืองของประเทศใด ดังนั้น ธุรกิจดิจิทัลที่ทำธุรกรรมออนไลน์กับลูกค้าหรือหุ้นส่วนในไทยและยุโรป หรือสถาบันวิจัย ที่มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้ ผู้รวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนตัวของคนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยและในสหภาพยุโรป จำเป็นต้องเรียนรู้กฎหมายทั้ง 2 นี้และปฏิบัติตามเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดกฎหมาย ซึ่งมีการกำหนการรับผิดทางแพ่งและกำหนดโทษทางอาญาและทางปกครอง

การจัดการกับปัญหาการลักลอบซื้อขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างผิดกฎหมาย   

ปัญหา

การลักลอบซื้อขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างผิดกฎหมายได้ทำลายความน่าเชื่อถือของระบบการจดทะเบียนขึ้นสินค้าของภาครัฐ รวมไปถึงก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจในความสามารถของภาครัฐในการป้องกันผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากการได้รับอันตรายจากสินค้าที่ผิดกฎหมายและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือรับรองจากภาครัฐ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพราะสินค้าที่ถูกกฎหมายได้ถูกทดแทนด้วยสินค้าอันตรายที่มีราคาถูก นอกจากนี้ การลักลอบซื้อขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างผิดกฎหมายยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้สินค้าความปลอดภัยในห่วงโซ่การผลิตอาหาร และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งเห็นได้จากปัญหาทางสุขภาพและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการสัมผัสกับสารตกค้างอันตราย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงเป็นผลต่อเนื่องกันมา   

แนวทางแก้ปัญหา

ในการจัดการปัญหาการลักลอบซื้อขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างผิดกฎหมาย องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development, OECD) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้จัดทำข้อเสนอแนะและแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อส่งเสริมการร่วมมือกันระหว่างประเทศ และระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการตรวจจับและป้องกันการลักลอบซื้อขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งรายละเอียดของข้อเสนอแนะสำหรับแต่ละภาคส่วนสามารถสรุปได้ดังนี้

โรงงานผลิตและโรงจัดเก็บสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

– หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศควรจะต้องมีการจัดทำและอัพเดทรายการโรงงานผลิตและโรงจัดเก็บสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้เข้าไปตรวจสอบโรงงานเหล่านี้ได้

– สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกผลิตเพื่อซื้อขายและใช้ภายในประเทศจำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนกับภาครัฐและมีการแปะฉลากที่ถูกกฎหมายบนผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน

– โรงงานที่ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต้องมีการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลการผลิตและการจัดเก็บของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งข้อมูลที่สำคัญสำหรับการจัดเก็บ ได้แก่ ชื่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประเทศปลายทางที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะถูกใช้ วันที่ในการผลิต ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตสารออกฤทธิ์ที่ใช้ในสารเคมีกำจัดศัตรูพืช วันที่ที่ได้รับสารออกฤทธิ์เข้าสู่โรงงาน หมายเลขชุดการผลิต ประเภทของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ และวันที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด

ผู้ตรวจสอบ

– ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต้องมีความรู้ในเรื่องข้อกำหนดในการจัดเก็บและการบรรจุสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

– ควรมีการจัดสร้างความร่วมมือของผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบระหว่างประเทศ เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญ

ผู้ส่งออก

– หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศควรจะต้องมีการจัดทำและอัพเดทรายชื่อผู้ส่งออกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศนั้นๆ

– ผู้ส่งออกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำเป็นต้องจัดเก็บข้อมูลอย่างละเอียดของผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกส่งออกเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ได้แก่ ชื่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารออกฤทธิ์ ชื่อและที่อยู่ของผู้ส่งออก ชื่อและที่อยู่ของผู้รับสินค้า วันที่ส่งออก วันที่รับมอบสินค้า และจำนวนสินค้าที่ถูกส่งออก

– ในการตรวจสอบการส่งออกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศนั้นๆ ควรมีการจัดทำระบบตรวจสอบของสินค้า เช่น การตรวจสอบใบอนุญาตการส่งออก เมื่อสินค้าเดินทางสู่ประเทศปลายทาง

การขนส่ง

– เจ้าหน้าที่ ณ ประเทศปลายทางต้องตรวจสอบข้อมูลสินค้าก่อนสินค้าจะเดินทางมาถึงปลายทาง หากพบว่าสินค้าที่กำลังถูกนำเข้ามีความน่าสงสัย เจ้าหน้าที่จะต้องทำการควบคุมและดำเนินการตรวจสอบเมื่อสินค้าเข้ามายังประเทศปลายทางทันที โดยผู้ส่งออกต้องแจ้งข้อมูลให้แก่ประเทศที่นำเข้าสินค้าทราบล่วงหน้า ใบเสร็จ ใบอนุญาตในการส่งออก เอกสารที่แสดงข้อมูลของสารเคมี รายการบรรจุภัณฑ์ และข้อมูลสินค้าที่ส่งออก

ผู้นำเข้า

– หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศจะต้องมีการจัดทำและอัพเดทรายชื่อผู้นำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศนั้นๆ เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้สามารถระบุชนิดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่นำเข้าในแต่ละช่วงเวลา และเข้าไปตรวจสอบผู้นำเข้าได้ รวมไปถึงการตรวจสอบสินค้าที่ถูกนำเข้าในแต่ละชุดได้ด้วย

– ผู้นำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต้องจัดเก็บข้อมูลอย่างละเอียดของผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 5 ปี ได้แก่ ชื่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารออกฤทธิ์ ชื่อและที่อยู่ของผู้นำเข้า ชื่อและที่อยู่ของผู้ที่จดส่งสินค้า วันที่นำเข้า วันรับมอบสินค้า และจำนวนสินค้าที่นำเข้า

– ในการตรวจสอบการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศนั้นๆ ควรมีการจัดทำระบบตรวจสอบของสินค้า เช่น การตรวจสอบใบอนุญาตการส่งนำเข้า

ผู้จัดจำหน่าย หรือกระจายสินค้า (ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีก)

– หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศจะต้องมีการจัดทำอัพเดทรายชื่อผู้จัดจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศนั้นๆ เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้สามารถระบุชนิดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกจัดจำหน่ายในแต่ละช่วงเวลา และเข้าไปตรวจสอบผู้จัดจำหน่ายเหล่านี้ได้

– ผู้จัดจำหน่ายต้องจัดเก็บข้อมูลอย่างละเอียดของสารเคมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ได้แก่ ชื่อสารเคมี สารออกฤทธิ์ ชื่อและที่อยู่ของผู้จัดจำหน่ายและผู้ซื้อ วันที่ซื้อ วันที่รับมอบสินค้า

– ในการตรวจสอบการจัดจำหน่ายสารเคมีผิดกฎหมาย ควรมีการจัดทำระบบการขึ้นทะเบียนและตรวจสอบของสินค้า เช่น ตรวจสอบใบอนุญาตของการจัดจำหน่าย

บรรจุภัณฑ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

– หลังการใช้สารเคมีแล้วควรจะต้องล้างบรรจุภัณฑ์ด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 3 ครั้ง และทำการเจาะรูบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันการนำไปใช้อย่างผิดกฎหมาย   

การจัดการกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย

เมื่อตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมายหรือหมดอายุต้องมีการกำจัดทิ้งอย่างทันที โดยมีการจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ ที่กำจัดที่เหมาะสม   

การจัดการกับปัญหาการลักลอบซื้อขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมา มีการลักลอบนำเข้าสารเคมีข้ามชายแดนมาขาย รวมทั้งการนำสารที่ถูกระงับการใช้แล้วมาวางขายในท้องตลาดอย่างผิดกฎหมาย โดยระบุว่าสารเคมีเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้เอง และทำให้ดินได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างไม่สามารถเพาะปลูกได้ ปัจจุบันประเทศไทยมีแผนป้องกันการลักลอบซื้อขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างผิดกฎหมายโดยออกกฎให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการนำเข้า ส่งออกและจัดจำหน่ายในประเทศ

ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2019/20191112-newsletter-brussels-no4-april62.pdf

13 พ.ย. 2562
0
แชร์หน้านี้: