หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ วารสารใดเหมาะกับงานวิจัยของคุณ
วารสารใดเหมาะกับงานวิจัยของคุณ
21 ต.ค. 2562
0
นานาสาระน่ารู้

งานวิจัยแต่ละชิ้นใช้ระยะเวลาตั้งแต่ตกผลึกไอเดียวิจัย วางแผน จนถึงลงมือวิจัยหรือจนเสร็จสิ้นวงจรชีวิตวิจัย (Research lifecycle) เป็นเวลานาน ย่อมเป็นธรรมดาที่นักวิจัยหรือทีมวิจัย
จะรักผลงานของตนหรือทีม เพราะเบื้องหลังเป็นยิ่งกว่างานวิจัยเพียงหนึ่งชิ้น เมื่อเสร็จสิ้นออกมาเป็นผลงานแล้วย่อมต้องการเผยแพร่องค์ความรู้นั้นสู่วงการเดียวกัน หรือแม้แต่คนที่สนใจทั่วไป ช่องทางหนึ่งของการเผยแพร่องค์ความรู้คือการส่งเข้ารับการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์และเผยแพร่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารทางวิชาการ (
Scholarly communication) แน่นอนว่าในกระบวนการดังกล่าวย่อมมีเรื่องของตัวชี้วัด การประเมินผลงานหรือคุณภาพงานเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่แก่นแท้แล้วคือ การได้เผยแพร่ผลงานออกสู่โลกภายนอกเพื่อประโยชน์ต่อสังคมหรือเศรษฐกิจและประเทศชาติต่อไป

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มในการเผยแพร่ผลงานวิจัยมีหลากหลาย เช่น วารสารวิชาการ (Academic journals) โซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มเครือข่ายทางสังคมต่างๆ เป็นต้น บทความนี้กล่าวถึงแนวทางกว้างๆ ในการเลือกวารสารวิชาการที่เหมาะกับงานวิจัยของท่านซึ่งอาจช่วยเพิ่มโอกาสที่ผลงานของท่านจะได้รับการคัดเลือกตีพิมพ์

  1. รวบรวมวารสารที่เหมาะสม
    1. ประเมินว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในวารสารนั้นๆ สำหรับท่านคืออะไร เช่น journal metrics กลุ่มผู้อ่าน/ผู้ติดตามเฉพาะกลุ่มหรือสาขาวิชา หรือวงกว้าง ดัชนีวัดผลกระทบหรือคุณภาพระดับวารสารมีหลายตัวให้ท่านเลือกพิจารณา เช่น Impact Factor โดย Clarivate SCImago Journal Rank (SJR) โดย SCImago Lab หรือ Source Normalized Impact per Paper (SNIP) โดย Elsevier เป็นต้น
    2. สอบถามบรรณารักษ์ที่ห้องสมุดที่ท่านทำงานอยู่หรือศึกษาอยู่ หรือไล่เรียงดูจากเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ โดยอาจเริ่มจากสาขาวิชาเพื่อดูว่าในสาขาวิชาที่ท่านสนใจมีจำนวนวารสารในแต่ละสาขาวิชากี่ชื่อ เป็นต้น ท่านสามารถสอบถามหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ที่ STKS (stks@nstda.or.th) หรือสืบค้นได้จากฐานข้อมูลที่ สวทช.บอกรับ เช่น Scopus หรือ แหล่งสารสนเทศอื่นๆ เช่น scimago (https://www.scimagojr.com) ที่มีการจัดอันดับวารสารตามสาขาวิชาและดัชนี SJR (SCImago Journal Rank)
    3. พิจารณาวารสารที่ท่านติดตามอ่านอยู่เป็นประจำ (ที่สัมพันธ์กับสาขาวิชาของงานวิจัยของท่าน) ว่ามีชื่อใดหรือไม่ที่เหมาะกับผลงานของท่าน
    4. สอบถามหัวหน้างาน/ผู้บังคับบัญชา/เพื่อนร่วมงาน ว่ามีวารสารใดที่เหมาะจะเผยแพร่งานวิจัยของท่าน
  2. เมื่อรวบรวมรายชื่อวารสารที่เข้าข่ายได้แล้ว ท่านอาจศึกษาดูแต่ละวารสารถึงวัตถุประสงค์และขอบเขต แม้ว่าท่านจะคุ้นเคยกับวารสารนั้นๆ เป็นอย่างดีก็ตาม หน้าวัตถุประสงค์และขอบเขตบอกอะไร? ท่านสามารถหาประเภทของเนื้อหาหรืองานวิจัยที่วารสารนั้นเผยแพร่ รวมถึงขั้นตอนของ peer-review ทางเลือกในการเข้าถึงซึ่งเขียนโดยบรรณาธิการ
  3. เมื่อคัดเลือกวารสารชื่อที่สอดคล้องและเหมาะสมที่กับผลงานของท่านแล้ว ศึกษาแนวปฏิบัติสำหรับผู้แต่ง โดยเฉพาะข้อกำหนดในเรื่องของการโอนย้ายสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้กับสำนักพิมพ์ แนวทางการเขียน การจัดหน้า แม่แบบ และข้อแนะนำอื่นๆ สำหรับเทคนิคและข้อแนะนำการจัดหน้าและแนวทางการใช้เครื่องมือต่างๆ ของ word processing เช่น MS Word เป็นต้น STKS มีบริการแนะนำไว้ใน คู่มือการเตรียมสื่อดิจิทัลที่มีคุณภาพ ท่านสามารถดาวน์โหลดตัวเล่ม ได้ที่ https://oer.learn.in.th/search_detail/result/879

รายการอ้างอิง

Bamicon. (2017). Education [Image]. Retrieved from https://www.iconfinder.com/iconsets/education-209

Eassom, Helen. (2016). 6 steps to choosing the right journal for your research [Infographic]. Retrieved from https://www.wiley.com/network/researchers/preparing-your-article/6-steps-to-choosing-the-right-journal-for-your-research-infographic

21 ต.ค. 2562
0
แชร์หน้านี้: