ตามที่ประเทศไทยมีนโยบายผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) จำนวน 10 คลัสเตอร์ ซึ่งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้บอกรับเป็นสมาชิกฐานข้อมูลวิชาการที่เป็นบทความวิจัยวิทยาศาสตร์ ชื่อ Scopus ที่ครอบคลุมบทความวิจัยจากวารสารวิชาการที่ใหญ่ที่สุดในโลก และฐานข้อมูลเอกสารสิทธิบัตรที่ครอบคลุมสำนักสิทธิบัตรทั่วโลกชื่อว่า Thomson Innovation ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่มีคุณลักษณะพิเศษ คือสามารถแสดงเป็นแผนที่ของข้อมูลชุดหนึ่งๆ ที่สนใจได้ เรียกว่า ThemeScape Map ที่ช่วยให้ผู้สืบค้นสามารถสรุป ตีความ ข้อมูลเทคโนโลยีในเอกสารสิทธิบัตรจากทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจได้ง่าย
สวทช. ได้ใช้หลักการ Technology Readiness Level (TRL) เป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวทางบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนา ซึ่งมี 9 ระดับ โดยที่ TRL1 คือ Literature Review : Basic Principle Observed and Reported ซึ่งเป็นงานที่ STKS สามารถปฏิบัติได้ พร้อมให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายวิจัยนโยบาย และฝ่ายกลยุทธ์องค์กร สวทช.
รายงานฉบับนี้ขอนำเสนอรายการบทความวิจัยและสิทธิบัตรของหัวข้อ “หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Robot)” ที่ STKS สืบค้นจากฐานข้อมูล Scopus, Thomson Innovation และ Frost & Sullivan
บทสรุปจากรายงาน
ผลจากการสืบค้นเพื่อตรวจสอบผลงานการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) และผลงานด้านสิทธิบัตร(Patenting) ในระดับนานาชาติ จากฐานข้อมูลวิชาการระดับโลก สามารถสรุปได้ว่าทั่วโลกมีการทำวิจัยและยื่นขอจดสิทธิบัตรในหัวข้อเรื่อง หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Robot) เพิ่มมากขึ้นตลอดมาตั้งแต่ในช่วงปี 2006 -2017 โดยประเทศจีน เป็นผู้นำการวิจัยสูงสุด จากหน่วยงานวิจัยคือ Harbin Institute of Technology, Beihang University, South China University of Technology เป็นต้น ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำการวิจัยลำดับที่สอง สาขาวิชาหลักในการวิจัยคือ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ และพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพงานวิจัยในเรื่อง หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม โดยพบผลงานวิจัยของสถาบันในไทย เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น โดยที่ เนคเทค สวทช. มีบทความวิจัยในเรื่องนี้ด้วย
ส่วนสิทธิบัตรพบว่ามีการยื่นขอในประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุด บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรสูงสุดคือ Kuka Roboter GMBH ประเทศเยอรมนี ส่วนหัวข้อย่อย robot arm, tool measurement เป็นหัวข้อย่อยที่พบสูงสุดตามการวิเคราะห์กลุ่มคำ ตามลำดับ รวมถึงพบรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มล่าสุดของปี 2016-2017 ของหุ่นยนต์เรื่องอุตสาหกรรม จากแหล่งข้อมูลที่มีชื่อเสียง Frost & Sullivan อีกด้วย