หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ การจัดการความรู้ (KM) เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้…รู้ได้อย่างไร
เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้…รู้ได้อย่างไร
4 ก.พ. 2554
0
การจัดการความรู้ (KM)

องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) คืออะไร ทำไมจึงมีความสำคัญ สถานภาพของ LO ในปัจจุบัน และการสร้าง LO ภายในองค์กร

เหตุผลที่ทำให้เราต้องหันมาให้ความสนใจกับ องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) เนื่องจากความท้าทายและความกดดัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในการทำงาน ความท้าทายในการแข่งขันของสภาพเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่สามารถคาดการณ์ได้ นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดนโยบาย กฎหมาย  รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับ LO เช่น พรฎ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หมวด 3 การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มาตรา 11

แล้วองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) คืออะไร
สำหรับคำนิยามนั้น มีผู้ให้คำนิยามไว้มากหมาย เช่น

  • LO คือ กระบวนการของการปรับปรุงการกระทำด้วยความรู้และความเข้าใจที่ดีกว่า (Fiol&Lyles)
  • Peter M. Senge จากหนังสือ The fifth discipline : the art and practice of the learning oranization ได้ให้นิยามว่าองค์กรแห่งการเรียนรู้ คือ
  •     ที่ๆ บุคลากรได้ขยายความสามารถอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ปรารถนา
  •     ที่ซึ่งใส่ใจและให้ความสำคัญกับแบบแผนทางความคิดใหม่ๆ และการพัฒนาต่อยอดทางความคิด
  •     ที่ซึ่งแรงบันดาลใจเป็นอิสระ
  •     ที่ซึ่งบุคลากรมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและรู้ที่จะเรียนรู้ร่วมกันต่อเนื่องอย่างไร

ขณะที่การพิจารณาว่าองค์กรใดจัดเป็น LO นั้น พิจารณาจากองค์ประกอบ 4 ส่วน ได้แก่

  • LO (Learning Organization) องค์กรของการเรียนรู้
  • OL (Organizational Learning) กระบวนการเรียนรู้ในระดับองค์กร
  • OK (Organizational Knowledge) องค์ความรู้หรือความรู้ที่สำคัญและจำเป็นขององค์กร
  • KM (Knowledge Management) การจัดการความรู้

จาก LO องค์กรของการเรียนรู้ จะต้องมีกระบวนการเพื่อนำไปสู่ OL คือ กระบวนการเรียนรู้ในระดับองค์กร จากกระบวนการเรียนรู้จะต้องอาศัยทฤษฎีเพื่อนำไปสู่ OK หรือ ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นขององค์กร ซึ่งจะต้องมีการระบุว่าอะไรคือความรู้ขององค์กร องค์กรมีความรู้นั้นหรือไม่ และอยู่ที่ไหน เพื่อเข้าไปสู่องค์ประกอบสุดท้าย คือ การจัดการความรู้ หรือ KM

ในยุคปัจจุบัน ยุคที่สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งภายในและภายนอกองค์กร ความสามารถในการเรียนรู้กลายเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งขององค์กร ซึ่งจากประเด็นนี้สามารถแบ่งกลุ่มขององค์กรจากระดับการเรียนรู้เทียบกับระดับการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอกองค์กร ได้เป็น 4 กลุ่ม

  1. Surviving (Complacent) หรือ Learning = Environmental change คือ องค์กรที่มีระดับการเรียนรู้เท่ากับการเปลี่ยนแปลงภายนอก จัดอยู่ในในลักษณะ “แค่นี้ก็พอแล้ว อยู่รอด”
  2. Diving (Paralyzed) หรือ Learning < Environmental คือ องค์กรที่มีระดับการเรียนรู้ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง อาจจำไปสู่หายนะ
  3. Thriving (Learning Organization) หรือ Learning = Environmental change คือ องค์กรที่มีระดับการเรียนรู้เท่ากับการเปลี่ยนแปลงภายนอก แต่อยู่ในสถานะที่มีความสามารถในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด
  4. Driving (Maverick)  หรือ Learning > Environmental change คือ  องค์กรที่มีระดับการเรียนรู้มากกว่าการเปลี่ยนแปลง โดยสามารถปรับตัวเองเพื่อให้อยู่รอด พร้อมเรียนรู้ที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้กำหนดทิศทางของการพัฒนา

Peter Senge เชื่อว่า หัวใจของการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้อยู่ที่การเสริมสร้างวินัย 5 ประการให้เกิดขึ้น ได้แก่

  1. บุคลากรชั้นเลิศ (Personal mastery)
  2. มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (Building shared vision)
  3. มีแบบแผนความคิดร่วม (Mental models)
  4. เรียนรู้เป็นทีม (Team learning)
  5. การคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic thinking)

แล้วองค์กรของเราจัดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้แล้วหรือไม่ อาจพิจารณาจากองค์ประกอบ 3 ประการของการสร้างองค์กรแห่งเรียนรู้

  1. สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
  2. กระบวนการและการดำเนินการการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม
  3. พฤติกรรมของผู้นำที่กระตุ้นการเรียนรู้

สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ คือ ภายในองค์กรมีบรรยากาศของความปลอดภัยทางจิตวิทยา มีชื่นชมยอมรับในความแตกต่าง การเปิดกว้างต่อทัศนะใหม่ๆ และการมีเวลาในการคิดเชิงสะท้อน ขณะที่กระบวนการและการดำเนินการการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรม คือ องค์กรจะต้องส่งเสริมให้มีการทดลอง ส่งเสริมให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อติดตามความก้าวหน้า และแน้วโน้มต่างๆ รวมถึงการมีการวิเคราะห์โดยจัดให้มีการสนทนา อภิปราย และตีความเพื่อศึกษา เข้าใจ และระบุปัญหา สู่การหาแนวทางการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้องค์กรควรจัดให้มีการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความรู้เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอ พร้อมกับการจัดให้มีการถ่ายโอนข้อมูล องค์ประกอบข้อสุดท้ายของการสร้างองค์กรแห่งเรียนรู้ คือ พฤติกรรมของผู้นำที่กระตุ้นการเรียนรู้ โดยผู้นำองค์กรจะต้องใจกว้าง ยอมรับฟังข้อคิดเห็นของผู้อื่น เป็นนักตั้งคำถามและนักฟังที่ดี กระตุ้นให้เกิดการแสดงมุมมองที่หลากหลาย สามารถบริหาเวลา และทรัพยากรเพื่อค้นหาปัญหา ข้อท้าทาย และทางออกของปัญหา

ปิดท้ายกันด้วย 12 คุณลักษณะขององค์กรแห่งการเรียนรู้

  1. องค์กรที่มีความคาดหวังสูงและปรับตัวได้เร็วทันต่อเหตุการณ์
  2. องค์กรที่เร่งรัดในการพัฒนากระบวนการ ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ
  3. องค์กรที่เรียนรู้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แล้วใช้ความรู้เพื่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
  4. องค์กรที่จัดให้มีการถ่ายทอดความรู้อย่างทั่วถึง
  5. องค์กรที่เรียนรู้ความผิดพลาดของตนและคนอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ
  6. องค์กรที่ทุกคนทำงานด้วยใจ กาย และสมองอย่างมีประสิทธิภาพ
  7. องค์กรที่ทำงานได้รวดเร็วแต่ได้ผลมาก
  8. องค์กรที่ที่มีการกระตุ้นและเสริมพลังของคนในองค์กรอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ
  9. องค์กรที่ดำเนินงานอย่างเป็นธรรม โปร่งใส เข้าใจเป้าหมายเดียวกัน
  10. องค์กรที่มีลักษณะการบริหารในแนวราบ ยืดหยุ่น และกระจายอำนาจ ตลอดจนความรับผิดชอบที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างจริงจัง
  11. องค์กรที่มีระบบข้อมูลสารสนเทศที่เป็นระบบ ทันสมัย พร้อมใช้งาน
  12. องค์กรที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิดและการทำงาน

แนะนำรายการบรรณานุกรมหนังสือเกี่ยวกับ องค์กรแห่งการเรียนรู้ สนใจขอรับบริการที่ห้องสมุดกลาง สวทช.

  • Kirk, James. Training Games for the Learning Organization. (n.d.) : McGraw-Hill, 1997.
  • Learning Organization : Developing Cultures for Tomorrow’s Workplace. Portland : Productivity Press. 1995.
  • Peter M. Senge … [et al.]. The Fifth Discipline Fieldbook :  Strategies and Tools for Building a Learning Organization.  New York : Doubleday, 1994.
  • Peter Senge … [et al.]. The Dance of Change : the Challenges of Sustaining Momentum in Learning Organization. New York : Doubleday, 1999.
  • ทองใบ สุดชารี. ภาวะผู้นำ : กลไกขับเคลื่อนองค์การแห่งการเรียนรู้. พิมพ์ครั้งที่ 2. อุบลราชธานี : คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, 2549.
  • มาร์คอร์ดท์, ไมเคิล เจ. การพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : เอ็กซเปอร์เน็ท, 2549.
  • ฮัทชินส์, เดวิท. ฉลาดเกินหน้าหมาป่า : การอยู่รอดและเติบโตในองค์กรแห่งการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : อี.ไอ.สแควร์, 2552.

ที่มาข้อมูล :
“เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้…รู้ได้อย่างไร” NSTDA Knowledge Sharing ครั้งที่ 55 โดย ผศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี. วันที่ 13 มกราคม 2554 ณ ห้องบุษกร อาคารเนคเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

แชร์หน้านี้: