หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ เอกสารเผยแพร่ การศึกษาวัฏจักรชีวิตของการใช้พลังงานไปสู่ภาคขนส่ง และการคำนวณเปรียบเทียบรอยเท้าคาร์บอนในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลิงยานยนต์ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงชีวภาพ
การศึกษาวัฏจักรชีวิตของการใช้พลังงานไปสู่ภาคขนส่ง และการคำนวณเปรียบเทียบรอยเท้าคาร์บอนในการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เชื้อเพลิงยานยนต์ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงชีวภาพ
6 ม.ค. 2565
0
เอกสารเผยแพร่

ประเทศไทยถูกจัดอันดับโดยดัชนีความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศโลก (Global Climnate Risk Index) ประจำปี พ.ศ. 2564 (Global Climate Risk Index 2021 ให้มีความเปราะบางและความเสี่ยงสูงจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ รัฐบาลไทยโดยนายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นต่อประชาคมโลกในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 การลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก (GHGs) เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงอาจเป็นภาระที่ประเทศจะมิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป

ภาคพลังงานไทย โดยภาคการขนส่งเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีสัดส่วนการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก(GHGs) สูงถึงร้อยละ 18.81 ของปริมาณการปลดปล่อยฯรวมในปี ค.ศ. 2016 เป็นรองเพียงสาขาการผลิตพลังงาน (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2563) ดังนี้ ภาครัฐจึงกำหนดมาตรการสำคัญต่างๆ เพื่อลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกในภาคการขนส่งไทยดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) และมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV โดยกำหนดเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ซึ่งหมายรวมถึงเชื้อเพลิงชีวภาพ ต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่ร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2580 และกำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ปลดปล่อยมลพิษ (ZEV) ภายในปี พ.ศ. 2578 ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งมาตรการการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV ต่างเป็นเทคโนโลยีภาคการขนส่งทางถนนที่มีศักยภาพในการลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกภาคขนส่ง

อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงชีวภาพมีกระบวนการเพาะปลูกและการแปรรูป ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าต้องการการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจากแหล่งพลังงานต่างๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม หรืออย่างน้อยก็แตกต่างจากกรณีเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานของยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ทั่วไป ดังนั้น การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นใหม่หรือที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการเหล่านี้จึงมีความสำคัญ และสามารถวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบได้ด้วยการใช้การประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA)

การประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) ภายใต้การศึกษานี้ อยู่บนพื้นฐานแนวคิด “การวิเคราะห์จากแหล่งกำเนิดสู่การขับเคลื่อน (Well-to-Wheel: WtW)” ซึ่งจำแนกการพิจารณาวัฏจักรชีวิตพลังงานเชื้อเพลิงภาคขนส่งออกเป็น 2 ส่วน คือ “การวิเคราะห์จากแหล่งกำเนิดสู่ถังเชื้อเพลิง (Well-to-Tank: WtT)” และ “การวิเคราะห์จากถังเชื้อเพลิงสู่การขับเคลื่อน (Tank to-Wheel: TtW)” ซึ่งสามารถวิเคราะห์การปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ครอบคลุมตลอดวัฏจักรชีวิตเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่ง โดยไม่รวมวัฏจักรชีวิตของยานยนต์

งานวิจัยนโยบายองค์กร
ฝ่ายบริหารกลยุทธ์และนโยบายองค์กร

 

แชร์หน้านี้: