หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ 4 ธีมในการสร้างคลัง OER และ 10 ตัวชี้วัดเพื่อประกันคุณภาพของคลัง OER
4 ธีมในการสร้างคลัง OER และ 10 ตัวชี้วัดเพื่อประกันคุณภาพของคลัง OER
26 พ.ค. 2563
0
นานาสาระน่ารู้

4 ธีมในการสร้างคลัง OER (Open Educational Resource Repository) และ 10 ตัวชี้วัดสำหรับการประกันคุณภาพของคลัง OER ที่แสดงถึงแนวปฏิบัติที่ดีในการออกแบบ การพัฒนาและการนำไปปฏิบัติของคลัง OER บนฐานของการเปิดกว้าง การแบ่งปัน การใช้ทรัพยากรและการทำงานร่วมกัน

Atenas และ Havemann (2013) ได้ทบทวนและวิเคราะห์วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับ OER (Open Educational Resource) หรือ แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด จากวารสารวิชาการ หนังสือ และเอกสารการประชุมวิชาการ เพื่อค้นหาคุณสมบัติสำคัญและเฉพาะของคลัง OER (Open Educational Resource Repository) ซึ่งพบว่า การสร้างคลัง OER อยู่บนพื้นฐานของธีมหลัก 4 ธีม ได้แก่

  1. การค้นหา เพื่อให้สื่อหรือทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดสามารถค้นหาและใช้ประโยชน์ สื่อหรือทรัพยากรฯ ดังกล่าวจะต้องสามารถค้นหาและค้นคืนได้ผ่านเครื่องมือสืบค้น OER หรือ ผ่าน เสิร์ชเอนจินยอดนิยม เช่น Google
  2. การแบ่งปัน การแบ่งปันหมายความถึงกิจกรรมที่นักการศึกษา ครูหรืออาจารย์ เปลี่ยนสื่อการเรียนรู้หรือสื่อการเรียนการสอนให้กลายเป็นสื่อหรือทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด คลัง OER ต้องสามารถและมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้สื่อหรือทรัพยากรฯ สามารถแบ่งปัน และต้องอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการแบ่งปันสื่อหรือทรัพยากรฯ ดังกล่าว
  3. การใช้ซ้ำ หมายความว่า การใช้สื่อหรือทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER ซ้ำ จะต้องได้รับอนุญาตอย่างชัดเจนและสะดวก
  4. การทำงานร่วมกัน คลัง OER ที่ประสบความสำเร็จจะต้องเป็นทั้งคลังที่เก็บรวบรวมสื่อหรือทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดและต้องเป็นเสมือนสถานที่พบปะสังสรรค์สำหรับชุมชนนักปฏิบัติ (Communities of Practice : CoP) ที่ความรู้ไม่เพียงถูกเก็บไว้แต่ต้องถูกแลกเปลี่ยน ประเมินและสร้างขึ้นใหม่รวมกัน สื่อในคลัง OER ควรสามารถได้รับการประเมินและตรวจสอบ

จากธีมในการสร้างคลัง OER ทั้ง 4 ข้อ พบว่ามี 10 ตัวชี้วัดสำหรับการประกันคุณภาพของคลัง OER ได้แก่

  1. ทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด หมายความถึง การมีทรัพยากรการศึกษาที่โดดเด่นและเป็นที่สนใจทั้งในแง่ของเนื้อหาและการออกแบบสำหรับนักการศึกษา ครู อาจารย์ นักเรียนนักศึกษา หรือผู้ใช้อื่นๆ ในคลัง OER (บนฐานธีม การค้นหา การแบ่งปัน และการทำงานร่วมกัน)
  2. เครื่องมือประเมินสำหรับผู้ใช้ หมายความถึง การมีเครื่องมือสำหรับประเมินทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดโดยผู้ใช้ เช่น การให้คะแนน ตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 5 หรือ ระดับดาว โดยผู้ใช้คลัง OER (บนฐานธีม การทำงานร่วมกัน)
  3. การพิจารณาตรวจสอบโดยผู้รู้ (Peer review) หมายความถึง การมีกระบวนการ Peer review เพื่อพิจารณาตรวจสอบ วิเคราะห์ และปรับปรุงทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ (บนฐานธีม การทำงานร่วมกัน)
  4. ความเป็นเจ้าของผลงาน (Authorship) หมายความถึง การแสดงและวิเคราะห์ชื่อผู้แต่ง ผู้สร้างสรรค์ และเจ้าของทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER (บนฐานธีม การค้นหา และการใช้ซ้ำ)
  5. คำสำคัญ (Keyword) คือการอธิบายถึงทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER อย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยในการค้นคืนทรัพยากรฯ ในขอบเขตเฉพาะที่ต้องการ (บนฐานธีม การค้นหา)
  6. เมทาดาทา หมายความถึง การมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานของเมทาดาทาสำหรับการทำงานร่วมกัน เช่น Dublin Core, IEEE LOM, OAIPMH (บนฐานธีม การค้นหา การแบ่งปัน และการใช้ซ้ำ)
  7. การสนับสนุนภาษาที่แตกต่างกัน หมายความถึง การออกแบบอินเทอร์เฟซของคลัง OER ด้วยภาษาที่หลากหลายเพื่อขยายขอบเขตของผู้ใช้ ผู้ใช้สามารถค้นหาทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER ด้วยภาษาที่แตกต่างและหลากหลาย ต่างๆ (บนฐานธีม การค้นหา การแบ่งปัน การใช้ซ้ำ และการทำงานร่วมกัน)
  8. การสนับสนุน Social Media หมายความถึง คลัง OER ควรสนับสนุนการทำงานร่วมกับ Social Media เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแบ่งปันทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดบนแพลตฟอร์ม และเพิ่มช่องทางการโต้ตอบสำหรับกลุ่มผู้ใช้ (บนฐานธีม การค้นหา การแบ่งปัน การใช้ซ้ำ และการทำงานร่วมกัน)
  9. Creative Commons Licences หมายความถึง การระบุประเภทของเงื่อนไขภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons Licences) แก่ทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดหรือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ์ใช้งานเฉพาะประเภท สำหรับทรัพยากรฯ ทั้งหมด (บนฐานธีม การค้นหา การใช้ซ้ำ และการทำงานร่วมกัน)
  10. ซอร์สโค้ด หรือ ไฟล์ต้นฉบับ หมายความถึง การอนุญาตให้ดาวน์โหลดซอร์สโค้ด หรือ ไฟล์ต้นฉบับของทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ (บนฐานธีม การใช้ซ้ำ และการทำงานร่วมกัน)

Atenas และ Havemann (2013) ยังได้วิเคราะห์คลัง OER จำนวน 80 คลัง ในภูมิภาคต่างทั่วโลก (ในจำนวนนี้แบ่งเป็น คลัง OER ระดับสถาบัน 50% ; คลัง OER ระดับชาติ 23.75% ; คลัง OER ระดับความร่วมมือระหว่างสถาบัน 20% ; คลัง OER ระดับนานาชาติ 3.75%) เพื่อประเมินคุณภาพของคลังดังกล่าวด้วยตัวชี้วัดสำหรับการประกันคุณภาพของคลัง OER ทั้ง 10 ตัว พบว่า

  • ตัวชี้วัด คำสำคัญ (Keyword) คือ สิ่งที่คลัง OER ปัจจุบันให้การสนับสนุนหรือรองรับมากที่สุด (75 จาก 80 คลัง OER ที่สำรวจ)
  • ตัวชี้วัด Creative Commons licensing ความเป็นเจ้าของผลงาน (Authorship) และ การสนับสนุน Social Media พบว่ามีในคลัง OER ที่สำรวจ มากกว่าครึ่ง
  • ส่วนตัวชี้วัดที่พบว่ามีน้อยกว่าครึ่ง แต่มากกว่า 1 ใน 4 ของคลัง OER ที่สำรวจ หรือมีเพียง 20 คลังที่พบ คือ เมทาดาทา, เครื่องมือประเมินสำหรับผู้ใช้, ทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดที่โดดเด่นและน่าสนใจ, การสนับสนุนภาษาที่แตกต่างกัน, ซอร์สโค้ด หรือ ไฟล์ต้นฉบับ
  • ขณะที่ การพิจารณาตรวจสอบโดยผู้รู้ (Peer review) คือ ตัวชี้วัดที่พบน้อยที่สุดในคลัง OER ที่สำรวจ โดยพบเพียง 8 คลัง จากทั้งหมด 80 คลัง

ทั้งนี้ในส่วนของคลัง OER ในเอเชียที่สำรวจ พบว่า ตัวชี้วัดสำหรับการประกันคุณภาพของคลัง OER ที่พบว่ามีหรือรองรับ ได้แก่

  1. Creative Commons Licences
  2. การสนับสนุนภาษาที่แตกต่างกัน
  3. เมทาดาทา ซึ่งที่พบคือ Dublin Core และ Learning Object Metadata
  4. คำสำคัญ และ
  5. ความเป็นเจ้าของผลงาน (Authorship)

ส่วนตัวชี้วัดการประกันคุณภาพของคลัง OER ที่ยังไม่พบหรือรองรับ ได้แก่

  1. ซอร์สโค้ด หรือ ไฟล์ต้นฉบับ
  2. การสนับสนุน Social Media
  3. การพิจารณาตรวจสอบโดยผู้รู้ (Peer review) เนื่องจากการต้องใช้ทรัพยากร เช่น ค่าตอบแทน
  4. เครื่องมือประเมินสำหรับผู้ใช้
  5. ทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดที่โดดเด่นและน่าสนใจ เนื่องจากไม่พบความชัดเจนเรื่องคุณลักษณะของทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดกับการคัดเลือกว่าต้องมีคุณลักษณะอย่างไร คลัง OER โดยทั่วไปไม่ได้ระบุว่าการคัดเลือกทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดพิจารณาบนหลักเกณฑ์ใด เช่น การเน้นเฉพาะทรัพยากรฯ โดยคำนึงถึงผู้ใช้ในพื้นที่หรือท้องถิ่นของคลัง OER นั้นๆ หรือ คำนึงจากความเชี่ยวชาญในแง่เนื้อหาของผู้พัฒนาคลังหรือผู้สร้างสรรค์ทรัพยากรฯ

ที่มา

Atenas, J., & Havemann, L. (2013). Quality assurance in the open: an evaluation of OER repositories. The International Journal for Innovation and Quality in Learning, 1(2), 22–34.

26 พ.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: