การปรับตัวของพิพิธภัณฑ์เพื่อเข้ากับ New normal

ตัวอย่างการปรับแนวคิดและแนวทางปฏิบัติของพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เพื่อเข้ากับ New Normal โดยเฉพาะมาตราการความปลอดภัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19

พิพิธภัณฑ์หลายแห่งเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังจากต้องปิดบริการไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่การกลับมาในครั้งนี้ของพิพิธภัณฑ์มาพร้อมกับแนวคิดและแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยใหม่ ที่อนุญาตให้ผู้เยี่ยมชมได้เพลิดเพลินไปกับวัตถุจัดแสดงในขณะที่ลดความเสี่ยงของการแพร่กระจาย COVID-19 ตัวอย่างมาตรการความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ ได้แก่

การเข้าชมต้องจองตั๋วล่วงหน้า

พิพิธภัณฑ์บางแห่งเปิดให้ผู้เข้าชมที่จองตั๋วเข้าชมล่วงหน้าเพียงเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อการบริหารจัดการจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละวันและแต่ละรอบ โดยเฉพาะเพื่อการตอบสนองต่อมาตราการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ในกลุ่มผู้เข้าชม เช่น Castello di Rivoli Museum of Contemporary Art หรือ Castello di Rivoli Museo d’Arte Contemporanea พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในประเทศอิตาลี และ Scuderie del Quirinale พิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

การจำกัดจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละรอบ

พิพิธภัณฑ์และหอศิลปะหลายแห่งกำหนดเงื่อนไขการเข้าชม โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละรอบ เพื่อเพิ่มพื้นที่การเว้นระยะห่างทางสังคมในกลุ่มของผู้เข้าเยี่ยมชม เช่น

  • Galleria Borghese หรือ หอศิลป์บอร์เกเซ ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี จำกัดจำนวนผู้เข้าชม 80 คนต่อกลุ่ม และจำกัดเวลาการเดินชมต่อกลุ่ม คือ 120 นาที
  • Scuderie del Quirinale พิพิธภัณฑ์มรดกทางวัฒนธรรมในกรุงโรม ประเทศอิตาลี จำกัดจำนวนผู้เข้าชม 6 คนต่อกลุ่ม และจำกัดเวลาการเดินชมต่อกลุ่ม คือ 80 นาที
  • Giacometti Institute สถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะของ Alberto Giacometti ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จำกัดจำนวนผู้เข้าชม 10 คนต่อกลุ่ม และจำกัดเวลาการเดินชมต่อกลุ่ม คือ 10 นาที
  • Museum of Bavarian State Painting Collections พิพิธภัณฑ์คอลเล็กชันภาพวาดของรัฐบาวาเรียซึ่งตั้งอยู่ในกรุงมิวนิก ประเทศเยอรมัน จำกัดจำนวนผู้เข้าชมโดยวัดจากขนาดของพื้นที่ คือ 1 คน ต่อพื้นที่ประมาณ 215 ตารางฟุต

การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าชม

พิพิธภัณฑ์หลายแห่งไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีไข้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ โดยกำหนดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ที่จะเข้าเยี่ยมชม เพื่อคัดกรองผู้ที่สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ เช่น Pio Monte della Misericordia โบสถ์ในศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของเมืองเนเปิลส์ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี และ Castello di Rivoli Museum of Contemporary Art พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในประเทศอิตาลี ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ที่จะเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ณ ทางเข้าของพิพิธภัณฑ์ โดยผู้ที่อุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศา หรือสูงกว่า จะไม่ได้รรับอนุญาตให้เข้าพิพิธภัณฑ์

การสวมหน้ากากขณะเข้าชม

Castello di Rivoli Museum of Contemporary Art หรือ Castello di Rivoli Museo d’Arte Contemporanea พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในประเทศอิตาลี กำหนดให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ต้องสวมหน้ากากในขณะที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย COVID-19 จากละอองฝอยจากการไอหรือจาม

การใช้ Gadget เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม

Cathedral of Santa Maria del Fiore หรือ Florence Cathedral หรือ มหาวิหารฟลอเรนซ์ ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ได้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Gadget ชื่อ The EGOpro Social Distancing Necklace ซึ่งพัฒนาโดย บริษัท Advance Microwave Engineering มาใช้ เพื่อการเว้นระยะห่างทางสังคมในกลุ่มผู้เยี่ยมชมมหาวิหาร โดยอุปกรณ์นี้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมาพร้อมสายคล้องคอ เพื่อให้ผู้เข้าชมคล้องคอขณะอยู่ในมหาวิหาร เมื่อผู้เข้าชมอยู่ใกล้กันเกินระยะห่างตามมาตราการความปลอดภัยด้านสุขภาพ อุปกรณ์นี้จะสั่นและมีแสงแสดงออกมา เพื่อเตือนให้ผู้เข้าชมเว้นระยะห่างกัน ทั้งนี้ผู้ทำงานของมหาวิหารฟลอเรนซ์อ้างว่ามหาวิหารเป็นสถานที่แรกที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในบริบทของพิพิธภัณฑ์เป็นที่แรก โดยผู้ที่จะเข้าชมมหาวิหารจะได้รับอุปกรณ์นี้ ณ ทางเข้ามหาวิหาร และส่งคืนเมื่อรับชมมหาวิหารเสร็จ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดจะถูกฆ่าเชื้อก่อนนำมาใช้ซ้ำ ชมวิดีโอแนะนำอุปกรณ์และการใช้งาน คลิกที่นี่

Castello di Rivoli Museum of Contemporary Art หรือ Castello di Rivoli Museo d’Arte Contemporanea พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในประเทศอิตาลี ได้ประกาศมาตรการสุขอนามัยภายในพิพิธภัณฑ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 บนเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วย

  1. ห้ามผู้ที่มีไข้เข้าพิพิธภัณฑ์
  2. ทางเข้าของพิพิธภัณฑ์มีเครื่องมือวัดอุณหภูมิร่างกาย โดยผู้ที่อุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศา หรือสูงกว่า จะไม่ได้อนุญาตเข้าพิพิธภัณฑ์
  3. รักษาระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 2 เมตร ยกเว้นจุดจำหน่ายตั๋วเข้าชมซึ่งจะมีอุปกรณ์กั้น
  4. รับตั๋วเข้าชมที่จุดจำหน่ายตั๋ว และลงนามในแบบฟอร์มการอนุญาต (Authorization form)
  5. สวมหน้ากากในขณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์
  6. ใช้เจลฆ่าเชื้อล้างมือ ซึ่งมีจุดให้บริการที่ทางเข้าพิพิธภัณฑ์
  7. หมั่นล้างมือ
  8. หลีกเลี่ยงการกอดและการจับมือกัน
  9. ห้ามสัมผัสดวงตา ปาก หรือจมูกด้วยมือ
  10. สวมถุงมือเมื่อสัมผัสผลิตภัณฑ์ใน Bookshop หรือที่ คาเฟ่ของพิพิธภัณฑ์
  11. หลีกเลี่ยงการใช้ขวดและแก้วร่วมกับผู้อื่น
  12. ปิดปากและจมูก เมื่อจามหรือไอ
  13. ปฏิบัติตามเส้นทางการเยี่ยมชมที่ระบุ
  14. สำหรับทัวร์นำเที่ยวสามารถพบมัคคุเทศน์นำเที่ยวของคณะได้ในสถานที่ที่จัดไว้ให้ คือ ลานกลางแจ้งของพิพิธภัณฑ์

อ้างอิง

ประเทศไทยติดอันดับ Top 10 ของเอเชียแปซิฟิก ใน Nature Index 2020

ประเทศไทยติดอันดับที่ 9 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์คุณภาพสูง ตามการจัดอันดับของ Nature Index 2020 โดยประเทศไทยสามารถรักษาอันดับการเป็น 10 ประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์คุณภาพสูง ตามการจัดอันดับของ Nature Index ตั้งแต่ปี 2015

Nature Index คือตัวชี้วัดคุณภาพงานวิจัย โดยจัดอันดับประเทศและสถาบัน ด้วยการพิจารณาการตีพิมพ์บทความวิจัย (ต่อปี) ในวารสารที่มีผลกระทบสูงและเป็นที่ยอมรับของแต่ละสาขาในเครือ Nature Research ซึ่งแบ่งเป็น 4 สาขาวิชา คือ

  1. วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences)
  2. วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences)
  3. เคมี (Chemistry)
  4. วิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม (Earth & Environmental Sciences)

Nature Index มีตั้งแต่ปี 2015 โดยใช้ตัวชี้วัดหลัก 2 ตัวในการพิจารณาจัดอันดับ คือ

  1. จำนวนบทความตีพิมพ์ (Count) ยกตัวอย่างเช่น บทความ 1 บทความ ที่มีผู้เขียน 1 คน หรือ หลายคนจากประเทศไทย ดังนั้นประเทศไทยจะได้รับค่า Count เท่ากับ 1
  2. จำนวนสัดส่วน/ส่วนแบ่งความเป็นเจ้าของบทความที่จัดสรรให้กับสถาบันหรือประเทศ (Fractional Count) โดย 1 บทความ จะมีค่า Fractional Count เท่ากับ 1 ซึ่งถูกแบ่งให้ผู้เขียนทุกคนในบทความหนึ่งๆ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าทุกคนมีส่วนร่วมเท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างเช่น บทความ 1 บทความ ที่มีผู้เขียน 10 คน หมายความว่าผู้เขียนแต่ละคนได้รับค่า Fractional Count เท่ากับ 0.1

Nature Index 2020 เผย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากทั้งหมด 33 ประเทศ โดยพิจารณาจากการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงในเครือ Nature Research จำนวน 82 ชื่อ ซึ่งคัดเลือกโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ทั้งนี้เป็นบทความซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2019 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยมีจำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 254 และ มีค่าความเป็นเจ้าของบทความ (Fractional Count) เท่ากับ 49 ตามภาพที่แสดงด้านล่าง

Nature Index https://www.natureindex.com/annual-tables/2019/country/all/regions-Asia%20Pacific

ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถรักษาอันดับการเป็น 10 ประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามการจัดอันดับของ Nature Index ตั้งแต่ปี 2015

หากพิจารณาบทความวิจัยตีพิมพ์ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2019 – วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2020 ประเทศไทยมีจำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 247 และค่าความเป็นเจ้าของบทความ (Fractional Count) เท่ากับ 47.47 เมื่อพิจารณาสาขาวิชาของบทความดังกล่าวซึ่งแบ่งตามกลุ่มวิชาหลัก 4 สาขา พบว่าสาขาวิชาที่มีจำนวนผลงานตีพิมพ์มากที่สุด คือ

  • อันดับที่ 1 วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 127 และ ค่าความเป็นเจ้าของบทความ (Fractional Count) เท่ากับ 16.20
  • อันดับที่ 2 วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 67 และ ค่าความเป็นเจ้าของบทความ (Fractional Count) เท่ากับ 10.65
  • อันดับที่ 3 เคมี (Chemistry) จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 50 และ ค่าความเป็นเจ้าของบทความ (Fractional Count) เท่ากับ 19.08
  • อันดับที่ 4 วิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม (Earth & Environmental Sciences) จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 18 และ ค่าความเป็นเจ้าของบทความ (Fractional Count) เท่ากับ 2.91

หมายเหตุ: 1 บทความอาจครอบคลุมมากกว่าหนึ่งสาขาวิชา

Nature Index https://www.natureindex.com/country-outputs/thailand

ทั้งนี้ 10 สถาบันแรกในประเทศไทยที่ติดอันดับ Nature Index 2020 ใน ภาพรวมทั้ง 4 สาขาวิชา (ข้อมูลจากผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2019) ได้แก่

  1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 112 ค่าความเป็นเจ้าของบทความวิจัย (Fractional Count) เท่ากับ 11.07
  2. สถาบันวิทยสิริเมธี จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 23 ค่าความเป็นเจ้าของบทความวิจัย (Fractional Count) เท่ากับ 8.79
  3. มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 53 ค่าความเป็นเจ้าของบทความวิจัย (Fractional Count) เท่ากับ 5.13
  4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 19 ค่าความเป็นเจ้าของบทความวิจัย (Fractional Count) เท่ากับ 1.69
  5. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 15 ค่าความเป็นเจ้าของบทความวิจัย (Fractional Count) เท่ากับ 1.67
  6. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 11 ค่าความเป็นเจ้าของบทความวิจัย (Fractional Count) เท่ากับ 1.57
  7. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 8 ค่าความเป็นเจ้าของบทความวิจัย (Fractional Count) เท่ากับ 1.45
  8. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 9 ค่าความเป็นเจ้าของบทความวิจัย (Fractional Count) เท่ากับ 1.54
  9. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 11 ค่าความเป็นเจ้าของบทความวิจัย (Fractional Count) เท่ากับ 1.16
  10. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวนบทความวิจัย (Count) เท่ากับ 14 ค่าความเป็นเจ้าของบทความวิจัย (Fractional Count) เท่ากับ 1.13

Nature Index https://www.natureindex.com/annual-tables/2020/institution/all/all/countries-Thailand

หมายเหตุ: ควรคำนึงถึงปัจจัยและตัวชี้วัดอื่นๆ เมื่อพิจารณาคุณภาพการวิจัยและการจัดอันดับสถาบัน ไม่ควรใช้ Nature Index เพียงอย่างเดียวเพื่อประเมินสถาบัน

หากพิจารณา 10 สถาบันแรกในประเทศไทยที่ติดอันดับ Nature Index 2020 แบ่งตาม สาขาเคมี (Chemistry) (ข้อมูลจากผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2019) พบว่า มี 7 ใน 10 สถาบันที่ติดอันดับ 10 สถาบันแรกในภาพรวมทั้ง 4 สาขาวิชา ยังคงปรากฎชื่อ แม้มีการสลับอันดับกัน ดังภาพปรากฎด้านล่าง


Nature Index https://www.natureindex.com/annual-tables/2020/institution/all/chemistry/countries-Thailand

หากพิจารณา 10 สถาบันแรกในประเทศไทยที่ติดอันดับ Nature Index 2020 แบ่งตาม สาขาวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม (Earth & Environmental Sciences) (ข้อมูลจากผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2019) พบว่า มีเพียง 5 ใน 10 สถาบันที่ติดอันดับ 10 สถาบันแรกในภาพรวมทั้ง 4 สาขาวิชา ยังคงปรากฎชื่อ  แม้มีการสลับอันดับกัน ดังภาพปรากฎด้านล่าง

Nature Index https://www.natureindex.com/annual-tables/2020/institution/all/earth-and-environmental/countries-Thailand

หากพิจารณา 10 สถาบันแรกในประเทศไทยที่ติดอันดับ Nature Index 2020 แบ่งตาม สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) (ข้อมูลจากผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2019)  พบว่า มี 6 ใน 10 สถาบันที่ติดอันดับ 10 สถาบันแรกในภาพรวมทั้ง 4 สาขาวิชา ยังคงปรากฎชื่อ  แม้มีการสลับอันดับกัน ดังภาพปรากฎด้านล่าง

Nature Index https://www.natureindex.com/annual-tables/2020/institution/all/life-sciences/countries-Thailand

หากพิจารณา 10 สถาบันแรกในประเทศไทยที่ติดอันดับ Nature Index 2020 แบ่งตาม สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) (ข้อมูลจากผลงานตีพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2019)  พบว่า มี 5 ใน 10 สถาบันที่ติดอันดับ 10 สถาบันแรกในภาพรวมทั้ง 4 สาขาวิชา ยังคงปรากฎชื่อ  แม้มีการสลับอันดับกัน ดังภาพปรากฎด้านล่าง

Nature https://www.natureindex.com/annual-tables/2020/institution/all/physical-sciences/countries-Thailand

หมายเหตุ: ควรคำนึงถึงปัจจัยและตัวชี้วัดอื่นๆ เมื่อพิจารณาคุณภาพการวิจัยและการจัดอันดับสถาบัน ไม่ควรใช้ Nature Index เพียงอย่างเดียวเพื่อประเมินสถาบัน

การตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19 ของหอจดหมายเหตุ

การแพร่ระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส (Covid-19) สร้างความท้าทายมากมายแก่แวดวงวิชาชีพจดหมายเหตุ ตั้งแต่ความกังวลเกี่ยวกับงาน การจัดการคอลเลกชัน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของบุคลากร และความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง หอจดหมายเหตุต่างๆ กำลังเผชิญหน้ากับสิ่งซึ่งไม่เคยมีมาก่อนที่จะนำมาซึ่งแรงกดดันเพิ่มเติม ทั้งนี้หอจดหมายเหตุหลายแห่งต่างพยายามดำเนินการเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ความท้าทายนี้ ยกตัวอย่างเช่น หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหราชอาณาจักร (The National Archives)

Archives and Records Association (ARA) และ The National Archives ของสหราชอาณาจักร ได้ทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนหน่วยงานด้านจดหมายเหตุหลายวิธีในช่วงสถานการณ์ Covid-19 คือ

  1. ARA Together Covid-19 Support Hub
  2. History Begins at Home
  3. Novice to Know-How

ARA Together Covid-19 Support Hub และชุมชนออนไลน์ เพื่อให้คำแนะนำและแนวทาง รับฟังและแบ่งปันข้อกังวล แนวคิด และแนวทางแก้ไขในหลากหลายหัวข้อ รวมถึงความต่อเนื่องในการดำเนินงาน การพัฒนาวิชาชีพ และการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านจดหมายเหตุ

https://www.archives.org.uk/ara-together.html

ภายใต้ ARA Together Covid-19 Support Hub ประกอบด้วย

History Begins at Home การชักชวนสมาชิกในครอบครัวได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับภาพเหตุการณ์และเรื่องราวในอดีตจากภาพถ่ายในอดีตที่แปลงในอยู่ในรูปดิจิทัลของหอจดหมายเหตุต่างๆ ผ่าน social media เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนได้คิดเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมาและจุดประกายความสนใจใหม่ในประวัติศาสตร์ อีกทั้งเพื่อช่วยลดความเครียดของผู้คนในช่วงกักตัวจากการแพร่ระบาดของ Covid-19

https://twitter.com/BeginsHistory

https://twitter.com/BeginsHistory

Novice to Know-How เป็นการร่วมมือกับ Digital Preservation Coalition (DPC) จัดฝึกอบรมออนไลน์ เพื่อให้ห้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับจดหมายเหตุมีทักษะและความมั่นใจที่จำเป็นเกี่ยวกับขั้นตอน/หลักการทำงาน (Work flow) การสงวนรักษาแบบดิจิทัลเชิงรุกสำหรับองค์กร การฝึกอบรมได้รับการวิจัย พัฒนาและทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญภายในชุมชนการสงวนรักษาแบบดิจิทัล หลักสูตรนี้มุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติรวมถึงการสาธิต คำอธิบายรายละเอียด วิดีโอ ข้อความ และแบบทดสอบ โดยการฝึกอบรมเริ่มต้นด้วยการแนะนำภาพกว้างเกี่ยวกับปัญหาการเก็บรักษาแบบดิจิทัลและอธิบายวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้ยังสำรวจขั้นตอนการทำงานที่เป็นไปได้ และเทคโนโลยีที่สามารถปรับใช้ได้ แต่ละหลักสูตรที่เปิดสอนจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน ผู้เรียนอาจเลือกเข้าเรียนหลักสูตร:

  1. An introduction to digital preservation
  2. Files, file formats and bitstream preservation
  3. Using DROID
  4. Selecting and transfering digital content
  5. Ingesting digital content
  6. Preserving digital content

https://www.dpconline.org/knowledge-base/training/n2kh-online-training

ลงทะเบียนเรียนที่ https://www.dpconline.org/knowledge-base/training/n2kh-online-training สำหรับปีแรกจะให้สิทธิ์แก่สมาชิกของ UK archive sector และ DPC เป็นอันดับแรก

นอกจากนี้ National Archives และ ARA ยังจัดสำรวจเพื่อวัดผลกระทบของ Covid-19 ต่อบริการ และจัดสัมมนาผ่าน webinar

รายการผลงานทรัพย์สินทางปัญญา สพภ. ที่พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ “BEDO IP Catalogue”

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. (Biodiversity-based Economy Development Office (Public Organization) : BEDO) ได้ดำเนินการรวบรวมผลงานทรัพย์สินทางปัญญาของ สพภ. ที่พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ในปีต่าง ๆ ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) ชื่อหนังสือ “BEDO IP Catalogue” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานดังกล่าว ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือผู้ที่มีความสนใจให้สามารถเข้าถึงข้อมูล และขออนุญาตใช้ประโยชน์ในผลงานดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการนำความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอย่างมีระบบและยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยผลงานทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 2 ประเภท ได้แก่

1) ลิขสิทธิ์: ซึ่งเป็นผลงานลิขสิทธิ์ในหมวดวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลและจัดทำบัญชีรายการทรัพยากรชีวภาพของจุลินทรีย์ พืช และสัตว์ ที่มีแหล่งกำเนิดหรือพบได้ในประเทศไทย และสารานุกรมภูมิปัญญาของชุมชนและท้องถิ่นในประเทศไทย

2) สิทธิบัตรการประดิษฐ์/อนุสิทธิบัตร: ซึ่งเป็นข้อมูลผลงานการประดิษฐ์ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาต่อยอดการนำทรัพยากรชีวภาพไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ในกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอาง และกรรมวิธีการผลิตและเทคโนโลยีชีวภาพ

downalod-pdf
ปี 2552-2562

โดยสามารถเข้าได้ที่ URL : https://www.bedo.or.th/bedo/IP/2019/

แหล่งที่มา
https://www.bedo.or.th/bedo/new-content.php?id=1629

4 ธีมในการสร้างคลัง OER และ 10 ตัวชี้วัดเพื่อประกันคุณภาพของคลัง OER

4 ธีมในการสร้างคลัง OER (Open Educational Resource Repository) และ 10 ตัวชี้วัดสำหรับการประกันคุณภาพของคลัง OER ที่แสดงถึงแนวปฏิบัติที่ดีในการออกแบบ การพัฒนาและการนำไปปฏิบัติของคลัง OER บนฐานของการเปิดกว้าง การแบ่งปัน การใช้ทรัพยากรและการทำงานร่วมกัน

Atenas และ Havemann (2013) ได้ทบทวนและวิเคราะห์วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับ OER (Open Educational Resource) หรือ แหล่งทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด จากวารสารวิชาการ หนังสือ และเอกสารการประชุมวิชาการ เพื่อค้นหาคุณสมบัติสำคัญและเฉพาะของคลัง OER (Open Educational Resource Repository) ซึ่งพบว่า การสร้างคลัง OER อยู่บนพื้นฐานของธีมหลัก 4 ธีม ได้แก่

  1. การค้นหา เพื่อให้สื่อหรือทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดสามารถค้นหาและใช้ประโยชน์ สื่อหรือทรัพยากรฯ ดังกล่าวจะต้องสามารถค้นหาและค้นคืนได้ผ่านเครื่องมือสืบค้น OER หรือ ผ่าน เสิร์ชเอนจินยอดนิยม เช่น Google
  2. การแบ่งปัน การแบ่งปันหมายความถึงกิจกรรมที่นักการศึกษา ครูหรืออาจารย์ เปลี่ยนสื่อการเรียนรู้หรือสื่อการเรียนการสอนให้กลายเป็นสื่อหรือทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด คลัง OER ต้องสามารถและมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้สื่อหรือทรัพยากรฯ สามารถแบ่งปัน และต้องอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการแบ่งปันสื่อหรือทรัพยากรฯ ดังกล่าว
  3. การใช้ซ้ำ หมายความว่า การใช้สื่อหรือทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER ซ้ำ จะต้องได้รับอนุญาตอย่างชัดเจนและสะดวก
  4. การทำงานร่วมกัน คลัง OER ที่ประสบความสำเร็จจะต้องเป็นทั้งคลังที่เก็บรวบรวมสื่อหรือทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดและต้องเป็นเสมือนสถานที่พบปะสังสรรค์สำหรับชุมชนนักปฏิบัติ (Communities of Practice : CoP) ที่ความรู้ไม่เพียงถูกเก็บไว้แต่ต้องถูกแลกเปลี่ยน ประเมินและสร้างขึ้นใหม่รวมกัน สื่อในคลัง OER ควรสามารถได้รับการประเมินและตรวจสอบ

จากธีมในการสร้างคลัง OER ทั้ง 4 ข้อ พบว่ามี 10 ตัวชี้วัดสำหรับการประกันคุณภาพของคลัง OER ได้แก่

  1. ทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด หมายความถึง การมีทรัพยากรการศึกษาที่โดดเด่นและเป็นที่สนใจทั้งในแง่ของเนื้อหาและการออกแบบสำหรับนักการศึกษา ครู อาจารย์ นักเรียนนักศึกษา หรือผู้ใช้อื่นๆ ในคลัง OER (บนฐานธีม การค้นหา การแบ่งปัน และการทำงานร่วมกัน)
  2. เครื่องมือประเมินสำหรับผู้ใช้ หมายความถึง การมีเครื่องมือสำหรับประเมินทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดโดยผู้ใช้ เช่น การให้คะแนน ตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 5 หรือ ระดับดาว โดยผู้ใช้คลัง OER (บนฐานธีม การทำงานร่วมกัน)
  3. การพิจารณาตรวจสอบโดยผู้รู้ (Peer review) หมายความถึง การมีกระบวนการ Peer review เพื่อพิจารณาตรวจสอบ วิเคราะห์ และปรับปรุงทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ (บนฐานธีม การทำงานร่วมกัน)
  4. ความเป็นเจ้าของผลงาน (Authorship) หมายความถึง การแสดงและวิเคราะห์ชื่อผู้แต่ง ผู้สร้างสรรค์ และเจ้าของทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER (บนฐานธีม การค้นหา และการใช้ซ้ำ)
  5. คำสำคัญ (Keyword) คือการอธิบายถึงทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER อย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยในการค้นคืนทรัพยากรฯ ในขอบเขตเฉพาะที่ต้องการ (บนฐานธีม การค้นหา)
  6. เมทาดาทา หมายความถึง การมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานของเมทาดาทาสำหรับการทำงานร่วมกัน เช่น Dublin Core, IEEE LOM, OAIPMH (บนฐานธีม การค้นหา การแบ่งปัน และการใช้ซ้ำ)
  7. การสนับสนุนภาษาที่แตกต่างกัน หมายความถึง การออกแบบอินเทอร์เฟซของคลัง OER ด้วยภาษาที่หลากหลายเพื่อขยายขอบเขตของผู้ใช้ ผู้ใช้สามารถค้นหาทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER ด้วยภาษาที่แตกต่างและหลากหลาย ต่างๆ (บนฐานธีม การค้นหา การแบ่งปัน การใช้ซ้ำ และการทำงานร่วมกัน)
  8. การสนับสนุน Social Media หมายความถึง คลัง OER ควรสนับสนุนการทำงานร่วมกับ Social Media เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแบ่งปันทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดบนแพลตฟอร์ม และเพิ่มช่องทางการโต้ตอบสำหรับกลุ่มผู้ใช้ (บนฐานธีม การค้นหา การแบ่งปัน การใช้ซ้ำ และการทำงานร่วมกัน)
  9. Creative Commons Licences หมายความถึง การระบุประเภทของเงื่อนไขภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons Licences) แก่ทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดหรือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ์ใช้งานเฉพาะประเภท สำหรับทรัพยากรฯ ทั้งหมด (บนฐานธีม การค้นหา การใช้ซ้ำ และการทำงานร่วมกัน)
  10. ซอร์สโค้ด หรือ ไฟล์ต้นฉบับ หมายความถึง การอนุญาตให้ดาวน์โหลดซอร์สโค้ด หรือ ไฟล์ต้นฉบับของทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดในคลัง OER เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ (บนฐานธีม การใช้ซ้ำ และการทำงานร่วมกัน)

Atenas และ Havemann (2013) ยังได้วิเคราะห์คลัง OER จำนวน 80 คลัง ในภูมิภาคต่างทั่วโลก (ในจำนวนนี้แบ่งเป็น คลัง OER ระดับสถาบัน 50% ; คลัง OER ระดับชาติ 23.75% ; คลัง OER ระดับความร่วมมือระหว่างสถาบัน 20% ; คลัง OER ระดับนานาชาติ 3.75%) เพื่อประเมินคุณภาพของคลังดังกล่าวด้วยตัวชี้วัดสำหรับการประกันคุณภาพของคลัง OER ทั้ง 10 ตัว พบว่า

  • ตัวชี้วัด คำสำคัญ (Keyword) คือ สิ่งที่คลัง OER ปัจจุบันให้การสนับสนุนหรือรองรับมากที่สุด (75 จาก 80 คลัง OER ที่สำรวจ)
  • ตัวชี้วัด Creative Commons licensing ความเป็นเจ้าของผลงาน (Authorship) และ การสนับสนุน Social Media พบว่ามีในคลัง OER ที่สำรวจ มากกว่าครึ่ง
  • ส่วนตัวชี้วัดที่พบว่ามีน้อยกว่าครึ่ง แต่มากกว่า 1 ใน 4 ของคลัง OER ที่สำรวจ หรือมีเพียง 20 คลังที่พบ คือ เมทาดาทา, เครื่องมือประเมินสำหรับผู้ใช้, ทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดที่โดดเด่นและน่าสนใจ, การสนับสนุนภาษาที่แตกต่างกัน, ซอร์สโค้ด หรือ ไฟล์ต้นฉบับ
  • ขณะที่ การพิจารณาตรวจสอบโดยผู้รู้ (Peer review) คือ ตัวชี้วัดที่พบน้อยที่สุดในคลัง OER ที่สำรวจ โดยพบเพียง 8 คลัง จากทั้งหมด 80 คลัง

ทั้งนี้ในส่วนของคลัง OER ในเอเชียที่สำรวจ พบว่า ตัวชี้วัดสำหรับการประกันคุณภาพของคลัง OER ที่พบว่ามีหรือรองรับ ได้แก่

  1. Creative Commons Licences
  2. การสนับสนุนภาษาที่แตกต่างกัน
  3. เมทาดาทา ซึ่งที่พบคือ Dublin Core และ Learning Object Metadata
  4. คำสำคัญ และ
  5. ความเป็นเจ้าของผลงาน (Authorship)

ส่วนตัวชี้วัดการประกันคุณภาพของคลัง OER ที่ยังไม่พบหรือรองรับ ได้แก่

  1. ซอร์สโค้ด หรือ ไฟล์ต้นฉบับ
  2. การสนับสนุน Social Media
  3. การพิจารณาตรวจสอบโดยผู้รู้ (Peer review) เนื่องจากการต้องใช้ทรัพยากร เช่น ค่าตอบแทน
  4. เครื่องมือประเมินสำหรับผู้ใช้
  5. ทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดที่โดดเด่นและน่าสนใจ เนื่องจากไม่พบความชัดเจนเรื่องคุณลักษณะของทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดกับการคัดเลือกว่าต้องมีคุณลักษณะอย่างไร คลัง OER โดยทั่วไปไม่ได้ระบุว่าการคัดเลือกทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดพิจารณาบนหลักเกณฑ์ใด เช่น การเน้นเฉพาะทรัพยากรฯ โดยคำนึงถึงผู้ใช้ในพื้นที่หรือท้องถิ่นของคลัง OER นั้นๆ หรือ คำนึงจากความเชี่ยวชาญในแง่เนื้อหาของผู้พัฒนาคลังหรือผู้สร้างสรรค์ทรัพยากรฯ

ที่มา

Atenas, J., & Havemann, L. (2013). Quality assurance in the open: an evaluation of OER repositories. The International Journal for Innovation and Quality in Learning, 1(2), 22–34.

Copyleaks โปรแกรมออนไลน์เพื่อตรวจสอบการคัดลอกผลงานเขียน

Copyleaks โปรแกรมออนไลน์ที่ใช้ตรวจสอบการคัดลอกผลงานเขียน เช่น เรียงความ บทความ หนังสือ วิทยานิพนธ์ Blog หรือ เว็บไซต์ โดยให้บริการทั้งแบบฟรีและแบบเสียค่าใช้จ่าย (อัพเกรด)

Copyleaks คือเครื่องมือออนไลน์เพื่อช่วยตรวจสอบการคัดลอกผลงานเขียน (Plagiarism checker) ของ บริษัท Copyleaks Technologies Ltd. ฟังก์ชั่นหลักคือการเปรียบเทียบเนื้อหาในเอกสารกับแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ฐานข้อมูลออนไลน์เชิงพาณิชย์ คลังเอกสาร วารสารวิชาการ และเนื้อหาที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งชี้แหล่งข้อมูลที่ปรากฏซ้ำเป็นแถบสี และแสดงระดับเปอร์เซ็นต์การเทียบซ้ำ (Similarity index)

คุณสมบัติหลักของ Copyleaks กรณีใช้งานแบบฟรี

  • รองรับไฟล์เอกสารที่ต้องการตรวจหลายสกุล ได้แก่ docx, pdf, html, txt และ rtf
  • รองรับการอัพโหลดไฟล์เอกสาร (File) การคัดลอกข้อความในเอกสาร (Free text) การป้อน URL เว็บไซต์ และการอัพโหลด Source code ที่ต้องการตรวจสอบ
  • รองรับภาษาที่หลากหลายมากกว่า 100 ภาษา
  • เปรียบเทียบเนื้อหาในเอกสารกับฐานข้อมูลออนไลน์เชิงพาณิชย์ คลังเอกสาร วารสารวิชาการ และเนื้อหาที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต
  • แสดงผลการตรวจสอบด้วยการชี้แหล่งข้อมูลที่ปรากฏซ้ำเป็นแถบสี และแสดงระดับเปอร์เซ็นต์การเทียบซ้ำ (Similarity index) แต่ไม่ครบทุกรายการ หากต้องการดูแหล่งข้อมูลที่ปรากฏซ้ำทั้งหมดจะต้องอัพเกรด
  • ตรวจสอบการคัดลอกผลงานเขียนในไม่กี่วินาที ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของไฟล์และจำนวนคำที่ต้องการตรวจสอบ
  • ใช้งานง่ายเพียงแค่เลือกไฟล์เอกสาร คัดลอกข้อความ หรือ พิมพ์ URL ที่ต้องตรวจสอบ
  • สามารถสแกนเอกสารได้ จำนวน 10 หน้า หรือ 2,500 คำ ต่อเดือน เท่านั้น
  • ต้องลงทะเบียนและสร้างบัญชีสำหรับการใช้งาน

คุณสมบัติเพิ่มเติมของ Copyleaks กรณีใช้งานแบบเสียค่าใช้จ่าย (อัพเกรด) สำหรับสถาบันการศึกษา

แบบที่ 1 สามารถสแกนเอกสารได้

  • 100 หน้า หรือ 25,000 คำ ราคา $10.99 ต่อเดือน
  • 250 หน้า หรือ 62,500 คำ ราคา $24.99 ต่อเดือน
  • 500 หน้า หรือ 125,000 คำ ราคา $40.99 ต่อเดือน
    • เพิ่ม Full-access open API แชร์ผลการตรวจสอบเป็น pdf หรือ URL รองรับการทำงานร่วมกับ MS word และ Google Doc ในลักษณะโปรแกรมเสริม (Add-on) ช่วยให้สามารถตรวจสอบการคัดลอกเนื้อหาขณะที่สร้างเอกสารได้โดยตรง และดาวน์โหลดผลการตรวจสอบเป็น pdf

กลุ่มที่ 2 สามารถสแกนเอกสารได้

  • 1,000 หน้า หรือ 250,000 คำ ราคา$75.99 ต่อเดือน
  • 2,500 หน้า หรือ 625,000 คำ ราคา $184.99 ต่อเดือน
  • 5,000 หน้า หรือ 1.25 ล้าน คำ ราคา $349.99 ต่อเดือน
    • เพิ่ม การทำงานร่วมกับ Learning Management System (LMS) สร้างบัญชีสถาบันและการจัดการผู้ใช้เพิ่มเติม จัดทำดัชนีเอกสารภายในเพื่อเปรียบเทียบ สแกนเอกสารได้ครั้งละ 100 รายการ และสแกนเอกสารเร็วขึ้น

กลุ่มที่ 3 สามารถสแกนเอกสารได้

  • 10,000 หน้า หรือ 2.5 ล้าน คำ ราคา $679.99 ต่อเดือน
  • 20,000 หน้า หรือ 5 ล้าน คำ ราคา $1,299.99 ต่อเดือน
    • เพิ่ม การสแกนเอกสารรายวันแบบไม่จำกัด สร้างผู้จัดการบัญชีเฉพาะ สร้างดัชนีเอกสารภายในโดยไม่จำกัดเพื่อเปรียบเทียบ รายงานผลการตรวจผ่านทาง API และสร้างทีมเพื่อแบ่งปันเครดิต

ทั้งนี้สำหรับผู้ใช้ที่เป็นบริษัท ธุรกิจหรือหน่วยงานเอกชน ราคาค่าใช้บริการจะถูกกว่าสำหรับสถาบันการศึกษา ดูข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ตัวอย่างหน้าจอการทดลองใช้งาน Copyleaks แบบฟรี

ภาพด้านล่างแสดงหน้าจอที่ผู้ใช้สามารถเลือกอัพโหลดไฟล์เอกสาร คัดลอกข้อความในเอกสาร ป้อน URL เว็บไซต์ หรืออัพโหลด Source code ที่ต้องการตรวจสอบ


ภาพจาก https://copyleaks.com

ภาพด้านล่างแสดงหน้าจอตัวอย่างการอัพโหลดไฟล์เอกสาร pdf เพื่อตรวจสอบการคัดลอก


ภาพจาก https://copyleaks.com

ภาพด้านล่างแสดงหน้าจอการแสดงผลการสแกนหรือตรวจสอบการคัดลอก ซึ่งแสดงจำนวนแหล่งข้อมูลและจำนวนคำที่มีความคล้ายคลึงกัน แสดงระดับเปอร์เซ็นต์การเทียบซ้ำ (Similarity index) ซึ่งสามารถเลือกได้ และแสดงคำและประโยคที่มีความคล้ายคลึงกันกับแหล่งข้อมูล รวมถึงแหล่งข้อมูลที่ตรวจสอบ


ภาพจาก https://copyleaks.com


ภาพจาก https://copyleaks.com

ภาพด้านล่างแสดงการเปรียบเทียบการตรวจสอบระหว่างเอกสารต้นฉบับกับแหล่งข้อมูลแต่ละแหล่งที่พบข้อความคล้ายคลึงกัน


ภาพจาก https://copyleaks.com

จากการทดลองใช้งานแบบฟรี (จำนวน 10 หน้า หรือ 2,500 คำ ) พบว่า ใช้งานง่าย รวดเร็ว และผลการตรวจสอบค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดหลักที่พบคือ การไม่สามารถเข้าถึงผลการตรวจสอบที่ชี้แหล่งข้อมูลที่ปรากฏซ้ำเป็นแถบสี และแสดงระดับเปอร์เซ็นต์การเทียบซ้ำ (Similarity index) ครบทุกรายการ หากต้องการดูแหล่งข้อมูลที่ปรากฏซ้ำทั้งหมดจะต้องอัพเกรด อีกทั้งไม่มีข้อมูลรายชื่อของแหล่งข้อมูลที่ตรวจสอบทั้งหมดปรากฎ ดังนั้นการตรวจสอบความแม่นยำยังคงต้องอาศัยข้อมูลและการทดสอบเพิ่มเติม

อ้างอิงข้อมูล

OKRs

OKRs คืออะไร เหมือนหรือแตกต่างจาก KPIs หรือไม่ อย่างไร การนำ OKRs มาประยุกต์ใช้ในองค์กรควรทำอย่างไร องค์กรแบบใดที่สนับสนุนให้เกิด OKRs และ OKRs ในภาวะวิกฤต COVID-19 เป็นอย่างไร

เมื่อวันพุธที่ 29 เมษายน 2563 มีโอกาสเข้าร่วม Virtual seminar เรื่อง Managing OKRs in a Post COVID-19 World จัดโดย Personnel Management Association of Thailand (PMAT) ซึ่งมีวิทยากร คือ ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คุณพรทิพย์ กองชุน อดีตผู้บริหาร Google ประเทศไทย COO และ Co-founder Jitta จึงขอสรุปเนื้อหาสำคัญจากการสัมมนามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

OKRs คืออะไร

OKRs ย่อมาจากคำว่า Objectives and Key Results ซึ่งแปลเป็นภาษาไทย คือ เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญ โดย OKRs เป็น Framework สำหรับการบริหารจัดการองค์กรที่เน้นเป้าหมายในเรื่องที่สำคัญ

  • O ย่อมาจากคำว่า Objective หมายความถึง วัตถุประสงค์ที่ท้าทาย สิ่งที่ต้องการได้ ต้องการทำ ต้องการเห็น ต้องการบรรลุ หรือต้องการส่งมอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถวัดผลได้
  • KR ย่อมาจากคำว่า Key Result หรือ ผลลัพธ์หลัก หมายความถึง ผลลัพธ์ที่จะวัดเพื่อให้รู้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงไร ในหลักการของ OKRs จะเน้นวัดเฉพาะเรื่องสำคัญที่ต้องการบรรลุในช่วงเวลานั้นๆ

OKRs กับ KPIs เหมือนหรือแตกต่างกัน

ทั้ง OKRs และ KPIs ว่าด้วยการวัดผลองค์กรเช่นกัน แต่แตกต่างกันในวัตถุประสงค์ วิธีการ และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

  • OKRs พิจารณาการบรรลุเป้าหมายขององค์กรเป็นหลัก ขณะที่ KPIs พิจารณาการดำเนินงานและสรรถนะของพนักงานเป็นหลัก OKRs ไม่เกี่ยวข้องและไม่นำคะแนน OKRs มาใช้เพื่อประเมินผลการทำงานและสรรถนะของพนักงานโดยตรง
  • การกำหนด Objectives ของ OKRs มีลักษณะกระจายศูนย์ และ Top-down ผสมกับ Bottom-up คือ ผู้บริหารขององค์กรคิดเป้าหมายใหญ่ที่องค์กรต้องการบรรลุ จากนั้นให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมคิดเป้าหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวขององค์กร โดยพิจารณาภาระหน้าที่ของตนเอง พนักงานต้องมีความเข้าใจชัดเจนว่าจะตั้งเป้าหมายอย่างไรให้เหมาะสม คือต้องตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับความสำเร็จขององค์กรและสอดคล้องกับงานที่ตนทำ นอกจากนี้ การถ่ายทอดเป้าหมายขององค์กรและการให้ Feedback ของ OKRs มีลักษณะการสื่อสารแบบ Two-way ขณะที่การกำหนด Objectives ของ KPIs มีลักษณะรวมศูนย์ และ Top-down คือ ผู้บริหารขององค์กรคิดเป้าหมายใหญ่ที่องค์กรต้องการบรรลุ แล้วมอบหมายลงมาให้พนักงานดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
  • การกำหนด Objectives ของ OKRs เน้นสิ่งที่ท้าทายและต้องการทำเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญขององค์กร โดยเน้นให้พนักงานกล้าคิดอะไรที่ไม่เคยทำและคิดอะไรที่ยากขึ้น ไม่ตั้งเป้าหมายที่พนักงานคิดว่าทำได้ดีอยู่แล้วและจะทำได้สำเร็จเพื่อให้ได้ผลตอบแทนดีๆ เช่น จะได้เงินเดือนหรือโบนัสเท่าไหร่ ดังนั้น OKRs จึงไม่นิยมนำไปผูกกับผลตอบแทน ขณะที่ KPIs เนื่องจากเน้นพิจารณาการดำเนินงานและสรรถนะของพนักงานจึงมักนำไปผูกกับผลตอบแทน
  • การกำหนด Objectives ของ OKRs มีลักษณะ Dynamic สามารถปรับเปลี่ยนในภายหลังเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่องค์กรต้องเผชิญ ขณะที่ การกำหนด Objectives ของ KPIs มีลักษณะ Static คือไม่ค่อยปรับเปลี่ยน กำหนดแล้วกำหนดเลย
  • การกำหนด Objectives ของ OKRs แม้จะตั้งเป้าหมายที่ต้องการบรรลุเป็นรายปี แต่สามารถทอนเป้าหมายดังกล่าวลงมาเป็นเป้าหมายรายไตรมาส รายเดือน หรือรายสัปดาห์ได้ ทำนองเดียวกัน การทบทวน OKRs จะมีความถี่บ่อยๆ เพื่อพิจารณาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้เป็นเพราะสาเหตุใด และจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรในเวลาที่เหลือ ขณะที่ การกำหนดและการทบทวน Objectives ของ KPIs ส่วนใหญ่เป็นรายครึ่งปีหรือรายปี
  • การทำ OKRs ต้องสื่อสารและแบ่งปันให้พนักงานทุกคนทราบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและการสร้างความร่วมมือในการดำเนินงาน เนื่องจากเป้าหมายสำคัญขององค์กรที่กำหนดไว้อาจต้องอาศัยหลายฝ่ายร่วมมือกัน และท้ายที่สุดคือการไปสู่ความโปร่งใส

ทั้งนี้องค์กรสามารถนำทั้ง OKRs และ KPIs มาประยุกต์ใช้โดยแบ่งสัดส่วนการประเมินตามเหมาะสม เช่น X% = KPI, Y% = competency, Z% = OKRs หรือการประเมิน OKRs อาจเป็นการให้คะแนนพิเศษ แต่ในการประเมินต้องจะต้องใช้แนวทางการประเมินของ OKRs หรือ KPIs เช่น ใช้ OKRs ก็ต้องประเมินด้วย OKRs ไม่ใช่ใช้ KPI เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

การเริ่มต้นนำ OKRs มาใช้ในองค์กร ควรดำเนินการอย่างไร

สิ่งแรกที่ควรดำเนินการเมื่อจะนำ OKRs มาประยุกต์ใช้ในองค์กร คือ การทำความเข้าใจในหลักการทำงานของ OKRs โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริหารองค์กร ทั้งนี้มีคำแนะนำว่าควรเริ่มทำจากกลุ่มเล็กๆ ในองค์กร แล้วจึงค่อยขยายผลในวงกว้าง เพื่อพิจารณาความเหมาะสม

องค์กรที่เอื้อต่อการเติบโตของ OKRs มีลักษณะเป็นอย่างไร

OKRs มีแนวโน้มจะเติบโตในองค์กรที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • องค์กรที่มีวัฒนธรรมเชื่อใจไม่ใช่ควบคุม
  • องค์กรที่มี Mindset ปล่อยให้พนักงานได้คิดโดยมีภาพใหญ่ที่ชัดเจนขององค์กรให้แก่พนักงาน ไม่สั่งให้พนักงานทำเพราะผู้บริหารคิดว่าใช่
  • องค์กรที่ให้อำนาจพนักงานในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนภายใต้การแนะนำของผู้บริหารที่เป็น Coach คือชวนคิด
  • องค์กรที่มี Mindset ว่าความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องน่าอับอายหรือเสียหน้า ล้มเหลวไม่ได้ไม่เอา แต่มองว่าความล้มเหลวเป็นเรื่องการเรียนรู้ เช่น อะไรที่ทำให้เราล้มเหลว แนวทางแก้ไข
  • รับปรุงความล้มเหลวนั้นคืออะไรและจะทำอย่างไรต่อไป
  • องค์กรที่พนักงานทุกคนต้องเห็น OKRs ขององค์กร เพื่อเชื่อมโยงทั้งองค์กรไปในทางเดียวกันและเพื่อความโปร่งใส
  • องค์กรที่มี Growth mindset หรือ ความเชื่อที่ว่าความสามารถนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ผ่านความพยายาม การเรียนรู้และความไม่ย่อท้อ
  • องค์กรที่มีกระบวนการทำงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
  • องค์กรที่มีความพร้อมด้านข้อมูลและเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนการประเมินและรายงานผลทั้งระยะสั้นและระยาว

การนำ OKRs มาประยุกต์ใช้ในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างไร

หลายองค์กรพยายามนำ OKRs มาประยุกต์ใช้ ซึ่งก็มีความแตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละองค์กร เช่น บริษัท Google โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้การนำ OKRs มาใช้ในภาคราชการพบว่ามีความท้าทายมากกว่าในภาคเอกชน เช่น เรื่องความยืดหยุ่นของการบริหารของหน่วยงานภาครัฐที่มีน้อยกว่าภาคเอกชน

นอกจากนี้ ปัญหาที่พบในการนำ OKRs มาประยุกต์ใช้ในองค์กร คือ การเขียนวัตถุประสงค์ที่แม้ว่าจะเสร็จสิ้นแล้วจะไม่มีผลกระทบต่อองค์กร หรือ การตั้งเป้าหมายที่สร้างความท้าทายให้กับองค์กรและพนักงานซึ่งมีผลกระทบสูง แต่เมื่อผ่านไปซักระยะก็เกิดความกังวลว่าจะไม่ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้จึงพยายามลดเป้าหมายนั้นลงเพื่อให้สุดท้ายบรรลุเป้าหมายที่ปรับเปลี่ยน

OKRs ในวิกฤต COVID-19 สัมพันธ์กันอย่างไร

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ถือเป็นโอกาสการนำ OKRs มาประยุกต์ใช้เพิ่มมากขึ้น เพราะ OKRs มีความยืดหยุ่น และ กระตุ้นและรองรับการคิดใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลง ในยุคที่ไม่มีคำตอบตายตัวหรือสิ่งเดิมๆ ที่เคยทำไม่สามารถใช้ได้อย่างเช่นในสถานการณ์ COVID-19 นี้ เช่น การเรียนการสอนออนไลน์ 100%

หากองค์กรที่นำ OKRs มาใช้อยู่ก่อนแล้ว ควรหยิบ OKRs เดิมมาทบทวนว่ามีสิ่งใดที่ต้องปรับใหม่บ้าง เนื่องจากเมื่อโจทย์เปลี่ยนหรือโจทย์ใหม่เกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องปรับปรุงเป้าหมายและการวัดผล ต้องมีการประชุมและติดตามบ่อยขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในทุกวันหรือทุกสัปดาห์ ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือการกล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง และการเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็วโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน

วิธีฆ่าเชื้อโรคในคอลเลกชันของห้องสมุดช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก นับเป็นความท้าทายใหญ่ของห้องสมุด ห้องสมุดหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนตนเองอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การประกาศปิดให้บริการพื้นที่ทางกายภาพ การขยายทรัพยากรสารสนเทศให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เช่น หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และ streaming media การขยายการเข้าถึงบริการและรูปแบบการบริการให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เช่น นโยบายการต่ออายุออนไลน์ และ บริการตอบคำถามและช่วยในการค้นคว้าแบบออนไลน์ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อต่อสู้กับ COVID-19 เช่น การผลิตและการมอบหน้ากากผ้าแก่ชุมชน และ การใช้อุปกรณ์ makerspace เพื่อสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น 3D print face shield เพื่อมอบแก่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ขาดแคลน อย่างไรก็ตาม มีห้องสมุดหน่วยงานอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงต้องเปิดให้บริการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกลุ่มผู้ใช้หลัก ดังนั้นหนึ่งในความท้าทายที่เกิดขึ้นคือ การทำอย่างไรให้แน่ใจว่าหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดที่ให้บริการยืมหรือคืนปราศจากการปนเปื้อนของไวรัสและไม่เป็นสื่อของการแพร่ระบาดของ COVID-19

จากประเด็นที่ว่า การทำอย่างไรให้แน่ใจว่าหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดที่ให้บริการยืมหรือคืนปราศจากการปนเปื้อนของไวรัสและไม่เป็นสื่อของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังน้ันในบทความนี้จึงขอนำเสนอเนื้อหาจากการทบทวนวรรณกรรมคือบทความออนไลน์ในต่างประเทศเกี่ยวกับแนวทางในการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนในหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด เพื่อเป็นข้อมูลชวนศึกษา พิจารณาและทดสอบต่อไป

  • ข้อจำกัดของการศึกษาและข้อมูล

ข้อมูลการศึกษาและปฏิบัติงานที่ผ่านเกี่ยวกับการฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวหนังสือหรือทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุด โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส มีจำนวนน้อย ไม่มีการศึกษาที่ตอบคำถามว่าโคโรนาไวรัสสามารถแพร่จากทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดที่พบได้บ่อย เช่น กระดาษที่เคลือบและไม่เคลือบผิว หนังสือที่ปกหุ้มด้วยผ้า หรือหนังสือที่ปกหุ้มด้วยโพลีเอสเตอร์ (Ewen, 2020)

  • ความไม่ชัดเจนของระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของไวรัสบนพื้นผิววัสดุ

ข้อมูลผลการศึกษาที่แตกต่างกันเกี่ยวกับระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของโคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 บนพื้นผิววัสดุ ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดมาตราการที่เกี่ยวข้องในการลดการแพร่กระจายของไวรัส เช่น บทความชื่อเรื่อง Persistence of coronaviruses on inanimate surfaces and their inactivation with biocidal agents ใน Journal of Hospital Infection เดือน ก.พ. 2020 ระบุว่า โคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 สามารถอยู่บนพื้นผิว เช่น โลหะ แก้วและพลาสติก 9 วัน บนกระดาษ 4-5 วัน ขณะที่ National Institutes of Health เดือน มี.ค. 2020 ระบุว่า โคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 สามารถตรวจพบในละอองในอากาศได้ 3 ชั่วโมง บนทองแดง 4 ชั่วโมง บนกระดาษแข็ง 1 วัน และบนพลาสติกและสแตนเลส 2-3 วัน (Ewen, 2020) สอดคล้องกับข้อมูลจาก New England Journal of Medicine เดือน มี.ค. 2020 ระบุว่า โคโรนาไวรัส SARS-CoV-2 จะอยู่บนพื้นผิวกระดาษแข็ง 1 วัน และ บนพื้นผิวพลาสติก 3 วัน (Northeast Document Conservation Center, 2020)

  • หลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพยากรสารสนเทศเนื่องจากการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อไวรัส

พนักงานห้องสมุดควรระวังการใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือยาฆ่าเชื้อโรคในหนังสือและทรัพยากรสารสนเทศอื่นๆ ของห้องสมุดที่มีความเปราะบาง ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยคือการฉีดหรือเช็ดด้านนอกของหนังสือและทรัพยากรสารสนเทศด้วยแอลกอฮอล์หรือสารฟอกขาว ความชื้นและความรุนแรงของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ และสารฟอกขาวทำให้กระดาษเสียหายได้ (Ewen, 2020 ; Northeast Document Conservation Center, 2020)

  • การใช้รังสียูวี (UV)

การใช้ UV เพื่อฆ่าเชื้อโรคไม่ถูกแนะนำ เพราะ UV อาจทำลายกระดาษหรือสื่อของห้องสมุด และความยากลำบากในการทำให้แน่ใจว่าหนังสือทุกหน้าได้รับ UV ซึ่งมันไม่ได้ผลเท่าการแยกหรือพักหนังสือไว้อย่างน้อย 14 วัน (Ewen, 2020 ; Tseng and Li, 2007) ทำนองเดียวกัน Northeast Document Conservation Center (2020) ไม่แนะนำให้ใช้ UV เพื่อฆ่าเชื้อโรค เพราะ UV ไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสารสนเทศ แต่อ้างถึง American Institute for Conservation Health and Safety Committee ที่ระบุว่า ต้องใช้เวลา 40 นาที กับ UV ปริมาณสูงเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และสถานที่ที่ UV ส่องไม่ถึงก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสได้

ในการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งศึกษาความสามารถของ UV ประเภท C หรือ UVC ในการฆ่าเชื้อไวรัสในอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลพบว่า ในขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ UVC จะฆ่าไวรัส แต่มีตัวแปรที่สำคัญ คือ ปริมาณไวรัส รูปร่างและชนิดของทรัพยากรสารสนเทศที่ไวรัสปนเปื้อน กับปริมาณ UV (Gorvett, 2020) นอกจากนี้ยังไม่มีการวิจัยใดที่พิจารณาว่า UVC มีผลต่อ Covid-19 อย่างไร การศึกษาที่มีแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้กับ coronaviruses อื่นๆ เช่น Sars

นอกจากนี้ UVC สามารถทำอันตรายต่อผิวหนังของมนุษย์ โดยอาจใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะถูก UVB เผา แต่ UVC ใช้เวลาไม่กี่วินาที ในการใช้ UVC ต้องมีอุปกรณ์และการฝึกอบรมพิเศษ องค์การอนามัยโลกก็ได้ออกคำเตือนอย่างรุนแรงต่อการใช้ UV เพื่อฆ่าเชื้อบนมือหรือส่วนอื่นๆ ของผิวมนุษย์ เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบ UVC รูปแบบใหม่ คือ Far-UVC มีความยาวคลื่นสั้นกว่า UVC ปกติ มีแนวโน้มไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่ยังสามารถทำลายไวรัสและแบคทีเรีย แต่ก็ยังมีประเด็นว่าไวรัสและแบคทีเรียบางชนิดมีขนาดเล็กกว่าที่แสงส่องถึง

  • เวลาเป็นยาฆ่าเชื้อที่ดีที่สุด

Northeast Document Conservation Center (NEDCC) อ้างอิงถึงข้อมูลจาก New England Journal of Medicine แนะนำให้พักหนังสือหรือสื่อของห้องสมุดไว้ 3 วัน (Northeast Document Conservation Center, 2020) ในทำนองเดียวกัน Jacob Nadal ซึ่งเป็น Director for preservation ของ Library of Congress (LC) เสนอว่า การพักเป็นแผนการที่ดีที่สุด (Ewen, 2020) โดย Fletcher Durant ซึ่งเป็น director of conservation and preservation ที่ the University of Florida George เสนอเวลาพักหนังสือหรือสื่ออย่างน้อย 1 วัน แต่ที่ดีที่สุดคือ 14 วัน (Ewen, 2020)

พนักงานห้องสมุดควรได้รับการแนะนำให้สวมถุงมือเมื่อเคลื่อนย้ายหนังสือหรือสื่อของห้องสมุดเข้าสู่การพักและถอดถุงมือนั้นออกทันทีหลังจากเสร็จงานเพื่อไม่ให้สัมผัสกับสิ่งอื่นๆ โดยไม่ตั้งใจ หลังจากนั้นควรล้างมือเป็นเวลา 20 วินาทีตามคำแนะนำของหน่วยงานด้านสาธารณสุข (Northeast Document Conservation Center, 2020)

อ้างอิง

วิธีหลีกเลี่ยงการลอกเลียน (plagiarism) ในงานเขียน

แนวทาง 5 ข้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการลอกเลียน (plagiarism) ในการเขียนผลงานวิชาการ

ความหมายของคำว่า Plagiarism ตามพจนานุกรม เช่น

  • Cambridge Dictionary – กระบวนการหรือการปฏิบัติในการใช้ความคิดหรืองานของผู้อื่น และหลอกลวงหรืออวดอ้างว่าความคิดหรืองานนั้นเป็นของตนเอง
  • Dictionary by Merriam-Webster – เพื่อขโมยและส่งต่อ (ความคิดหรือคำพูดของผู้อื่น) เป็นของตนเอง: เพื่อใช้ (ผลผลิตของผู้อื่น) โดยไม่ให้เครดิตแหล่งที่มา

การลอกเลียนผลงาน (plagiarism) หมายความถึง

  • การใช้ความคิด ข้อความ หรือคำพูดของผู้อื่น โดยอวดอ้างว่าเป็นของตนเอง
  • การลอกเลียนผลงานของผู้อื่นโดยไม่ให้เครดิต ไม่อ้างอิงแหล่งที่มา และไม่แสดงว่าข้อความหรือคำพูดที่คัดลอกมานั้นส่วนใดเป็นของผู้อื่น เช่น ด้วยการใส่เครื่องหมายอัญประกาศหรือเครื่องหมายคำพูด (“…”)
  • การถอดความหรือการสรุปความโดยไม่ให้เครดิตหรือไม่อ้างอิงแหล่งที่มา
  • การนำผลงานเดิมของตนเองทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ซ้ำ โดยไม่แจ้งหรืออ้างอิงผลงานเดิมนั้น (self-plagiarism)

การลอกเลียนผลงาน ถือเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม ผิดทางวิชาการและทางปัญญาอย่างร้ายแรง ส่งผลในทางลบอย่างมาก เช่น การเพิกถอนผลงาน การสูญเสียความน่าเชื่อถือและชื่อเสียง รวมถึงการดำเนินคดี

แนวทางในการหลีกเลี่ยงการลอกเลียนผลงาน (plagiarism)

  1. ถอดความ (Paraphrase) – อ่านงานต้นฉบับอย่างรอบคอบและพยายามทำความเข้าใจแนวคิดและบริบทของงานนั้นให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ถอดความได้อย่างถูกต้องและไม่เปลี่ยนความหมายของแนวคิดนั้น จากนั้นใช้คำของตัวเองเพื่อแสดงถึงงานต้นฉบับ โดยไม่ลืมที่จะอ้างอิงถึงงานต้นฉบับ เทคนิคที่มักมีการแนะนำคืออย่าจดบันทึกตามคำหรือข้อความที่ใช้ในงานต้นฉบับ และ อย่าเปิดงานต้นฉบับระหว่างที่เขียน
  2. อ้างคำหรือข้อความของงานต้นฉบับ (Quote) – ใช้เครื่องหมายเครื่องหมายอัญประกาศหรือเครื่องหมายคำพูด (“…”) เพื่อชี้แจงว่าคำหรือข้อความใดที่นำมาจากงานต้นฉบับ พร้อมระบุแหล่งที่มา การอ้างคำหรือข้อความของผู้อื่นถือเป็นการทำซ้ำคำหรือข้อความ ดังนั้นจึงควรพิจารณาคัดลอกคำหรือข้อความของผู้อื่นเท่าที่จำเป็น
  3. อ้างอิง (Citation) – การใช้ความคิด ข้อความ หรือคำพูดใดๆ ของผู้อื่น (รวมถึงในงานอื่นๆ ที่ผ่านมาของตนเอง) จำเป็นต้องอ้างอิงแหล่งที่มา ยกเว้นข้อเท็จจริงหรือความรู้ทั่วไป แต่หากไม่แน่ใจก็ควรใส่อ้างอิง ประโยชน์ของการอ้างอิง เช่น
    1. เพื่อรับทราบว่าเป็นการใช้ผลงานของผู้อื่น
    2. เพื่อแสดงว่าผู้เขียนได้อ่านและค้นคว้าข้อมูลอย่างกว้างขวาง
    3. เพื่อ Backup ความคิดและข้อโต้แย้งของผู้เขียนพร้อมหลักฐาน
    4. เพื่อแยกแยะความคิดเห็นและข้อโต้แย้งของผู้เขียนกับผู้อื่น
    5. เพื่อการตรวจสอบหรือเพื่อการติดตามรายการที่อ้างอิงถึงของผู้อ่าน
  4. จัดการรายการอ้างอิงที่ใช้ – เก็บและจัดการแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงถึง โดยอาจใช้ซอฟต์แวร์สำหรับจัดการข้อมูลบรรณานุกรมและการอ้างอิง เช่น EndNote Mendeley และ Zotero เพื่อความสะดวกในการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของผลงานของผู้อื่น
  5. ใช้โปรแกรมเพื่อช่วยตรวจสอบความคล้ายคลึงกันของผลงาน – อาจใช้โปรแกรม เช่น iThenticate เพื่อช่วยแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาคำหรือข้อความของผู้อื่นในการเขียนผลงานว่ามีมากน้อยเพียงไรและอย่างไร และแสดงให้เห็นถึงการใช้การอ้างอิงที่สอดคล้องและสม่ำเสมอกันหรือไม่อย่างไร

อ้างอิง

ซอฟต์แวร์ตรวจจับการลอกเลียนผลงาน vs ซอฟต์แวร์จับคู่ข้อความ

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ตรวจจับการคัดลอกผลงานเขียน (Plagiarism checker หรือ Plagiarism detection software) กับ ซอฟต์แวร์จับคู่ข้อความที่คล้ายหรือตรงกัน (Text-matching software)

ซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษานับเป็นหนึ่งในธุรกิจขนาดใหญ่ที่สร้างมูลค่าจำนวนมาก ยกตัวอย่างจากข่าวเมื่อปีที่ผ่านมาที่ บริษัท Advance Publications Inc. ตกลงที่จะซื้อ บริษัท Turnitin ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของซอฟต์แวร์ Turnitin ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปว่าคือเครื่องมือเพื่อช่วยตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการ ที่มีลูกค้าคือมหาวิทยาลัยจำนวนมากในหลายประเทศ ด้วยมูลค่าเกือบ 1.75 พันล้านดอลลาร์ (Kawamoto, 2019)

การเพิ่มจำนวนขึ้นของการบอกรับเป็นสมาชิก Turnitin หรือซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่คล้ายกัน ของมหาวิทยาลัยต่างๆ กำลังสะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยกำลังเผชิญกับประเด็นการลอกเลียนผลงานเขียนอยู่หรือไม่…บทความออนไลน์ ชื่อเรื่อง Universities must stop relying on software to deal with plagiarism ของ Mphahlele และ McKenna (2019) ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยยกตัวอย่างผลการศึกษาซึ่งดำเนินการในมหาวิทยาลัยของรัฐในแอฟริกาใต้ และตีพิมพ์เป็นบทความชื่อ The use of Turnitin in the higher education sector: decoding the myth ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Assessment & Evaluation in Higher Education ปี 2019 ซึ่งการศึกษาพบว่า มหาวิทยาลัยของรัฐในแอฟริกาใต้พึ่งพาซอฟต์แวร์เพื่อตรวจจับการคัดลอกผลงานเขียนในลักษณะที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ในพฤติกรรมของนักศึกษา กล่าวคือ Turnitin ถูกใช้อย่างกว้างขวางในมหาวิทยาลัย แต่ผิดจุดประสงค์ โดย Turnitin ถูกพิจารณาว่าเป็น Plagiarism checker หรือ Plagiarism detection software หรือ ซอฟต์แวร์ตรวจจับการคัดลอกผลงานเขียน มากกว่าจะเป็น Text-matching software หรือ ซอฟต์แวร์เพื่อจับคู่ข้อความที่คล้ายคลึงหรือตรงกัน

วิดีโอ การใช้ Turnitin และ Text-matching software อื่นๆ ในทางที่ผิด โดย Enhancing Postgraduate Environments

Turnitin และ ซอฟต์แวร์ที่คล้ายกัน ทำงานโดยการเปรียบเทียบและจับคู่ข้อความที่คล้ายหรือตรงกัน (Text-matching) โดยจะแสดงย่อหน้าหรือประโยคหรือวลีในเอกสารต้นฉบับที่พบว่าคล้ายคลึงหรือตรงกับผลงานที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ จากนั้นจะสร้างรายงานที่มีเปอร์เซ็นต์ดัชนีความคล้ายคลึงกัน (Similarity index) ช่วยแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาคำพูดหรือข้อความของคนอื่นในการเขียนผลงานว่ามีมากน้อยเพียงไรและอย่างไร และแสดงให้เห็นถึงการใช้การอ้างอิงที่สอดคล้องและสม่ำเสมอกันหรือไม่อย่างไร แต่ก็มีความเข้าใจว่า เปอร์เซ็นต์ดัชนีความคล้ายคลึงกันนี้ (Similarity index) เท่ากับ ระดับของการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงาน (Enhancing Postgraduate Environments, 2017) นักวิชาการและนักศึกษาจำนวนมากเชื่อว่า Turnitin คือเครื่องมือเพื่อช่วยตรวจจับการคัดลอกผลงานที่แม่นยำ ดังนั้นคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงานวิชาการที่ยอมรับได้มีค่าเท่าไหร่

ใน Weblog ของ Turnitin (2013) เอง ก็มีข้อความที่ระบุว่า สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่าดัชนีความคล้ายคลึงกัน (Similarity index) ไม่ใช่ดัชนีการคัดลอก (Plagiarism index) ใน Weblog ของ Turnitin ยังมีคำถามและคำตอบที่ว่า

  • “So does Turnitin detect plagiarism?” “No” หรือ “Turnitin ตรวจจับการคัดลอกหรือไม่?” “ไม่”

https://www.turnitin.com/blog/does-turnitin-detect-plagiarism

Mphahlele และ McKenna (2019) อ้างว่า มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งสนับสนุนให้มีการคัดลอกผลงานเขียนแต่ไม่ถูกตรวจจับ ด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษาแก้ไขข้อความที่ Turnitin ไฮไลท์ว่าคล้ายคลึงหรือตรงกับผลงานอื่นๆ และส่งงานที่แก้ไขใหม่จนกว่าการลอกเลียนแบบจะหลบเลี่ยง Turnitin ได้

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและการใช้งานซอฟต์แวร์เพื่อจับคู่ข้อความที่คล้ายคลึงหรือตรงกัน (Text-matching software) เพียงผิวเผิน ไม่ได้ช่วยจัดการกับสาเหตุและปัญหาของการคัดลอกผลงานเขียน และไม่ได้ช่วยสนับสนุนการพัฒนาการเขียนของนักศึกษา ยังคงมีนักศึกษาจำนวนมากที่ลอกเลียนผลงานของคนอื่นเพราะไม่เคยได้รับการสอนหรือไม่มีเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรมและบรรทัดฐานของการผลิตผลงานวิชาการจากในสถานศึกษา การกำหนดเปอร์เซ็นต์ดัชนีความคล้ายคลึงกัน (Similarity index) ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการคัดลอกผลงาน ดัชนีความคล้ายคลึงกันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกนักวิชาการได้ว่าวลีหรือประโยคที่เป็นไฮไลท์นั้นลอกเลียนผลงานอื่นโดยเจตนาหรือไม่เจตนา รายงานความคล้ายคลึงกันของ Turnitin และซอฟต์แวร์อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีความหมายเฉพาะเมื่อถูกตีความโดยคน

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ นักศึกษาควรได้รับการสอนและส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเขียนเชิงวิชาการที่คำนึงถึงจริยธรรม แทนที่จะถูกสนับสนุนให้เขียนในลักษณะที่หลอกซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยจะต้องลงทุนทรัพยากรในการพัฒนาความเข้าใจของนักศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่งต้องใช้เวลา ยกตัวอย่าง การพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับจริยธรรมทางการวิจัยของนักเรียนและนักวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน

อ้างอิง