Plan S และ Project DEAL กับความพยายามผลักดัน OA

ความพยายามของห้องสมุด มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยและหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในยุโรปในการผลักดันการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิชาการภายใต้แนวคิดการเข้าถึงแบบเปิด (Open Access – OA) ผ่าน Plan S และ Project DEAL 

รู้จัก Plan S และ Project DEAL 

Plan S คือ ความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการเผยแพร่ผลงานวิชาการภายใต้แนวคิด OA ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 โดยเป็นความคิดริเริ่มของ cOAlition S ซึ่งเป็นกลุ่มของหน่วยงานวิจัยระดับชาติและหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยจาก 12 ประเทศในยุโรป (ปัจจุบัน cOAlition S ประกอบด้วยหน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยระดับชาติ 15 หน่วยงาน และ มูลนิธิการกุศล 4 แห่ง)

Plan S กำหนดให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่ได้รับประโยชน์จากองค์กรวิจัย และ สถาบันที่ได้รับทุนวิจัยจากรัฐ เผยแพร่ผลงานวิชาการของตนเองในวารสาร OA หรือ แพลตฟอร์ม OA โดยเริ่มในปี 2020 นี้ โดย Plan S มีหลักการ 10 ข้อ คือ

  1. ผู้สร้างสรรค์ผลงานควรสงวนลิขสิทธิ์ในผลงานตีพิมพ์ของตนเอง แต่ต้องเผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตแบบเปิด เช่น Creative Commons โดยเฉพาะเงื่อนไข แสดงที่มา/อ้างที่มา (Attribution – BY) หมายถึง อนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำ แจกจ่าย หรือแสดงและนำเสนอชิ้นงานดังกล่าว และสร้างงานดัดแปลงจากชิ้นงานดังกล่าว ได้เฉพาะกรณีที่ผู้นั้นได้แสดงเครดิตของผู้เขียนหรือผู้ให้อนุญาตตามที่ระบุไว้ 
  2. หน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยจะสร้างความมั่นใจในการกำหนดเกณฑ์และข้อกำหนดที่แข็งแกร่งสำหรับบริการที่สอดคล้องกับวารสารและแพลตฟอร์ม OA
  3. กรณีที่ยังไม่มีวารสารและแพลตฟอร์ม OA หน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยควรสร้างแรงจูงใจสำหรับการสร้างวารสารและแพลตฟอร์ม OA
  4. หน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยและมหาวิทยาลัยควรรับผิดชอบเรื่องค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ผลงานของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในวารสารและแพลตฟอร์ม OA 
  5. เมื่อค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ผลงานในวารสารและแพลตฟอร์ม OA ถูกประยุกต์ใช้ เงินทุนสนับสนุนค่าธรรมเนียมฯ ควรเป็นมาตรฐานและต่อยอด (ทั่วยุโรป)
  6. หน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยจะขอให้มหาวิทยาลัย องค์กรวิจัย และห้องสมุด ดำเนินการวางนโยบายและกลยุทธ์ที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความโปร่งใส
  7. หลักการข้างต้นจะนำไปใช้กับสิ่งพิมพ์ทางวิชาการทุกประเภท
  8. ความสำคัญของ open archives และ open repositories ได้รับการยอมรับ เพราะช่วยในการเก็บรักษาผลงานในระยะยาว
  9. วารสารประเภท hybrid OA ไม่สอดคล้องกับหลักการข้างต้น
  10. หน่วยงานผู้ให้ทุนวิจัยจะตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักการนี้

Project DEAL คือกลุ่มความร่วมมือของห้องสมุด มหาวิทยาลัย และสถาบันการวิจัยในประเทศเยอรมนี ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2016 เพื่อสร้างข้อตกลงสัญญาอนุญาตใหม่ทั่วทั้งประเทศระหว่างห้องสมุด มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยในประเทศเยอรมนี กับ 3 สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ คือ Elsevier, Springer Nature และ Wiley เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการเข้าถึงเนื้อหาและราคาของวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ความต้องการหลัก 3 ข้อของ DEAL คือ

  1. การกำหนดราคาที่ยุติธรรมของสำนักพิมพ์ โดยพิจารณาจากจำนวนสิ่งพิมพ์
  2. การเข้าถึงสิ่งพิมพ์แบบเปิดทั้งหมดโดยนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันในเยอรมนี และ
  3. การเข้าถึงวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของ Elsevier อย่างถาวร สำหรับหน่วยงานวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้แทน Project DEAL

Project DEAL เสนอโมเดล ชื่อ “publish and read” (ตีพิมพ์และอ่าน) เพื่อส่งเสริมการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการภายใต้แนวคิด OA โดยเป็นการรวมค่าธรรมเนียมในการเข้าถึงเพื่ออ่านบทความและตีพิมพ์บทความเป็นค่าธรรมเนียมเดียว แทนการคิดเป็น 2 ก้อน 2 ครั้ง แยกกัน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก Plan S และ Project DEAL 

การเปิดตัว Plan S และ Project DEAL นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบการตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิชาการในยุโรป โดยเฉพาะการเจราจาต่อรองระหว่างสำนักพิมพ์กับห้องสมุด สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย ตัวอย่างเช่น 

  • นอร์เวย์: Norwegian Directorate for ICT and Joint Services in Higher Education and Research ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มสถาบันการวิจัยในประเทศนอร์เวย์ ประกาศยกเลิกการต่ออายุสมาชิกสำนักพิมพ์ Elsevier เนื่องจาก Elsevier ไม่สามารถตอบสนองข้อร้องขอของนอร์เวย์เรื่องการเข้าถึงผลงานวิจัยแบบเปิดที่ดีขึ้น 
  • เยอรมัน: 
    • 4 สถาบันการศึกษาในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี คือ Freie Universität Berlin, Humboldt-Universität zu Berlin, Technische Universität Berlin, และ Charité – Universitätsmedizin Berlin รวมถึง Max Planck Society องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินการศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ประกาศยกเลิกต่ออายุสมาชิก Elsevier หลังจากล้มเหลวในการพยายามเจราจาในข้อตกลงเกี่ยวกับ OA
    • สถาบันในเยอรมนี (ห้องสมุดเกือบ 700 แห่ง สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย) และ สำนักพิมพ์ Wiley บรรลุข้อตกลง Open-Access Publishing หลังจากใช้เวลาในการเจรจาเรื่องสัญญาความร่วมมือเกือบ 3 ปี ที่เรียกว่า Project DEAL โดยมีการลงนามสัญญา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยชาวเยอรมันในองค์กรเหล่านี้สามารถอ่านเนื้อหาออนไลน์ของ Wiley ได้โดยเสียค่าธรรมเนียมรายปี และสามารถเผยแพร่ผลงานวิชาการของตนเองผ่าน Wiley เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงและอ่านผลงานวิชาการเหล่านั้นได้ฟรี
  • สวีเดน: มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของสวีเดนยกเลิกการต่ออายุสมาชิกสำนักพิมพ์ Elsevier เนื่องจาก Elsevier หลังสัญญาเดิมหมดอายุในปลายเดือนมิถุนายน 2561

เหตุการณ์นี้ยังขยายไปยังสหรัฐอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประกาศยกเลิกการต่ออายุการเป็นสมาชิกสำนักพิมพ์ Elsevier เนื่องจากความล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงที่ต้องการให้ Elsevier ลดค่าธรรมเนียมในการบอกรับเป็นสมาชิกวารสาร และ การเข้าถึงผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ ในรูปแบบเปิด หลังพยายามเจรจาต่อรองนาน 8 เดือน มหาวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายในการการเจรจาต่อรองกับ Elsevier ในการชำระค่าธรรมเนียมแบบครั้งเดียว ซึ่งครอบคลุมทั้งค่าธรรมเนียมในการบอกรับวารสาร และ ค่าธรรมเนียมในการดำเนินการเพื่อให้บทความวิชาการของนักวิจัย/นักวิชาการภายในมหาวิทยาลัยฯ อยู่ในรูปแบบ OA ซึ่งผู้อ่านทุกคนที่สนใจสามารถเข้าถึง การยกเลิกสัญญาระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับ Elsevier นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันของมหาวิทยาลัยฯ ในการทำให้ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ ที่ได้รับทุนจากสาธารณะเผยแพร่ในรูปแบบ OA 

ที่มาข้อมูล

สถานภาพปัจจุบันของ KM ขององค์กรไทย

บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ สถาบันเพื่อการจัดการความรู้และนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำการสำรวจสถานภาพปัจจุบันของการจัดการความรู้ (Knowledge Management – KM) ขององค์กรในประเทศไทย เพื่อศึกษาว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยได้นำ KM มาใข้ในองค์กรอย่างไร

การศึกษาใช้แบบสอบถามออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูล เพื่อประเมินสถานภาพของ KM ขององค์กรในประเทศไทย และวิเคราะห์ค้นหาปัจจัยขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในองค์กรต่างๆ ดำเนินการเก็บข้อมูลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

กลุ่มตัวอย่าง

มีกลุ่มตัวอย่างจาก 160 องค์กร

จำแนกตามประเภทขององค์กร คือ

  • หน่วยงานราชการ 49%
  • รัฐวิสาหกิจ 17% และ
  • บริษัทจดทะเบียน 34%

จำแนกตามขนาดองค์กร คือ

  • องค์กรที่มีบุคลากรจำนวนน้อยกว่า 100 คน 19%
  • องค์กรที่มีบุคลากรจำนวน 100-300 คน 30%
  • องค์กรที่มีบุคลากรจำนวน 301-1,000 คน 12% และ
  • องค์กรที่มีบุคลากรจำนวนมากกว่า 1,000 คน 39%

ผลการศึกษา

ประเภทขององค์กรที่มี KM

พบว่า 76% ขององค์กรมีการทำ KM ซึ่งหากจำแนกตามประเภทองค์กร พบว่า รัฐวิสาหกิจมีการทำ KM มากที่สุด (93%) รองลงมา คือ หน่วยงานราชการ (87%) และ บริษัทจดทะเบียน (52%) ซึ่งการที่รัฐวิสาหกิจและราชการมีตัวเลขของการทำ KM สูง คาดดว่าเกิดจากการอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ซึ่งให้มีการผลักดันเรื่อง KM ในองค์กร

ความตระหนักในเรื่อง KM

พบว่าองค์กรส่วนใหญ่มีการดำเนินการ KM อย่างต่อเนื่อง คิดเป็น 98%

  • องค์กรที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ KM (2%)
  • ดำเนินการ KM มาแล้ว 1-3 ปี (20%)
  • ดำเนินการ KM มาแล้ว 4-6 ปี (25%)
  • ดำเนินการ KM มาแล้ว 7-9 ปี (20%)
  • ดำเนินการ KM มาแล้ว มากกว่า 10 ปี (33%)

ลักษณะของ KM ในองค์กร
พบว่า 3 ลักษณะสำคัญของ KM ในองค์กร คือ

  1. การมีหน่วยงานที่ทำงานด้าน KM โดยเฉพาะ อาจอยู่ในระดับกลุ่มงาน ฝ่าย หรือแผนก (37%)
  2. การจัดตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะ Cross functional team (30%) และ
  3. การมีระดับการจัดการ มีผู้บริหารระดับสูง/กลางรับผิดชอบดูแล KM (23%)
  4. อื่นๆ (10%)

Top 3 ลักษณะของ KM ในองค์กร

  • อันดับที่ 1 Knowledge Map การทำแผนที่ความรู้ เพื่อหาว่าความรู้ใดมีความสำคัญสำหรับองค์กร แล้วจัดลำดับความสำคัญของความรู้เหล่านั้น เพื่อให้องค์กรวางขอบเขตของการจัดการความรู้และสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  • อันดับที่ 2 Cross functional team การทำงานร่วมกันของคนหน่วยงาน แผนก หรือฝ่ายต่างๆ และ
  • อันดับที่ 3 IT based การนำ IT เข้ามาช่วยสนับสนุนและดำเนินการ KM

ผลลัพธ์ของ KM ในองค์กร

พบว่าผลลัพธ์ที่องค์กรคาดหวังจาก KM คือ นวัตกรรม คิดเป็น 53% สะท้อนว่าทำ KM ไม่ใช่เพื่อปรับปรุงงานอย่างเดิม แต่เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรม รองลงมาคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน การเพิ่มความสามารถขององค์กร การเพิ่มคุณภาพของสินค้าที่ส่งมอบ และอื่นๆ เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า และ ความสามารถของพนักงาน

ปัจจัยขับเคลื่อน KM ในองค์กร
พบ 4 ปัจจัยขับเคลื่อน KM ในองค์กร เรียงตามลำดับ คือ

  1. การนำองค์กร โดยผู้บริหารระดับสูงสนับสนุนและมีค่านิยมส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  2. การวางแผนและทรัพยากรสนับสนุน โดยองค์กรกำหนดผู้รับผิดชอบและมีการจัดสรรงบสนับสนุนกิจกรรม/โครงการ KM อย่างชัดเจน
  3. กระบวนการปฏิบัติงาน โดยองค์กรมีการสร้างความตระหนักต่อความเสี่ยงในกระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญ และ
  4. บุคลากร โดยบุคลากรทุกระดับทั่วทั้งองค์กรมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกิจกรรม KM

อุปสรรคของ KM ในองค์กร

พบว่าอุปสรรคของ KM ในองค์กร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคน โดยเรียงตามลำดับ ได้แก่

  1. บุคลากรขาดความตระหนัก/ความสนใจใน KM
  2. ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการและเครื่องมือ KM
  3. ขาดแรงจูงใจ
  4. ข้อจำกัดของบุคลากร (ขาดความรู้/ทักษะ)
  5. ผู้บริหารขาดความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง
  6. ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรไม่เอื้อ

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของ KM ในองค์กร

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของ KM ในองค์กร โดยเริ่มจากระดับล่างคือ KM process หมายถึง การสร้างความเข้าใจใน KM ว่ามีกระบวนการอย่างไร มีการบ่งชี้ความรู้สำคัญขององค์กร และการเข้าใจกระบวนการต่างๆ ขยับขึ้นมา คือ Leadership คือการที่ผู้บริหารมองความยั่งยืน การมีส่วนร่วม การเชื่อมโยง นโยบายและการปฏิบัติของผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง KM และระดับสุดท้าย คือ KM strategy และ Operation ด้วยการโยงกลยุทธ์ KM และ การดำเนินงานไปที่ผลธุรกิจ เชื่อม KM ไปยังการดำเนินงาน

การสำรวจพบว่า คนและกระบวนการทำงาน คือปัจจัยที่ส่งผลลัพธ์ด้าน KM อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

อย่างไรก็ตามการสำรวจนี้มีข้อจำกัด คือ การใช้แบบสอบถามออนไลน์เป็นเครื่องมือเดียวในการเก็บข้อมูล อาจมีเรื่องมุมมองส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม และตอบคำถามในมุมของตนเองหรืองานของตนเองเป็นหลักไม่ใช่ภาพรวมขององค์กร

สนใจติดตามรายงานการสำรวจฉบับเต็มเรื่องนี้ โดยบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ สถาบันเพื่อการจัดการความรู้และนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร็วๆ นี้

มาตรฐานใหม่ล่าสุดสำหรับการจัดการความรู้ ISO 30401

จาก ISO 9001:2015 สู่ ISO 30401:2018 และความสัมพันธ์

เมื่อปี 2015 มีการแก้ไขปรับปรุง ISO 9001 โดยมีการกำหนดหัวข้อใหม่ คือ 7.1.6 ความรู้องค์กร ซึ่งข้อกำหนดของข้อนี้คือ องค์กรควรจะกำหนดความรู้ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานตามกระบวนการและเพื่อให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และบริการ ความรู้นี้ควรจะได้รับการธำรงรักษาไว้และทำให้มีอยู่ตามขอบเขตที่จำเป็น เมื่อมีการระบุความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้ม องค์กรควรจะพิจารณาความรู้ในปัจจุบันและพิจารณาวิธีการทำให้ได้มาหรือเข้าถึงความรู้เพิ่มเติมที่จำเป็นและความต้องการที่ทำให้ทันสมัย

อย่างไรก็ตาม ISO 9001:2015 ไม่ได้ลงในรายละเอียดเกี่ยวกับระบบการจัดการความรู้องค์กร จนกระทั่งเดือน พฤศจิกายน ปี 2018 มีการประกาศ ISO 30401:2018 ระบบการจัดการความรู้ ซึ่งเสนอข้อกำหนดและแนะนำแนวทางในการจัดการความรู้ในองค์กร

ทั้ง ISO 9001:2015 และ ISO 30401:2018 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการ (Management Systems Standard -MSS) ซึ่งมีข้อกำหนดพร้อมคำแนะนำสำหรับการใช้งาน องค์กรสามารถอ้างถึงความสอดคล้องได้ องค์กรสามารถใช้ ISO 30401:2018 เพื่อตอบความต้องการหรือข้อกำหนดความรู้องค์กรตาม ISO 9001: 2015

ISO 30401:2018 คืออะไร

ที่ผ่านมานั้น ไม่มีคำจำกัดความที่เป็นที่ยอมรับสากลสำหรับการจัดการความรู้ และ ไม่เคยมีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ในระดับสากล ขณะที่ปัญหาและอุปสรรคมากมายที่เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับการจัดการความรู้ในองค์กร โดยองค์กรจำนวนมากยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดการความรู้ ตัวอย่างเช่น บางองค์กรมีมุมมองแต่เพียงว่าแค่ซื้อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การทำเว็บการจัดการความรู้ก็เพียงพอสำหรับการจัดการความรู้

ISO 30401:2018 ถูกเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 โดย ISO 30401:2018 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการ ซึ่งเสนอข้อกำหนดและแนะนำแนวทางในการจัดตั้ง ดำเนินการ รักษา ตรวจสอบ และปรับปรุงระบบการจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นไปที่วิธีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบในการสร้างและใช้ความรู้

เจตนารมณ์ของ ISO 30401:2018

เจตนารมณ์ของ 30401:2018 คือการกำหนดหลักการและข้อกำหนดที่สำคัญของการจัดการความรู้ที่ดีเพื่อ

  1. เป็นแนวทางสำหรับองค์กรที่ดำเนินการจัดการความรู้และต้องการให้การจัดการความรู้เป็นระบบ สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร โดยอาศัยเครื่องมือการจัดการความรู้ และ
  2. เป็นพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบรับรองประเมินผลและรับรององค์กรที่มีความสามารถด้านการจัดการความรู้โดยผ่านหน่วยงานตรวจสอบภายในและภายนอกที่เป็นที่ยอมรับ

หลักการระบบการจัดการความรู้ตาม ISO 30401:2018

ภายใต้ระบบมาตราฐานคุณภาพด้านการจัดการความรู้ตาม ISO 30401:2018 ได้กล่าวถึงหลักการ (Principle) 8 ข้อ ดังนี้

  1. ธรรมชาติของความรู้: ความรู้ไม่สามารถจับต้องได้และมีความซับซ้อน ความรู้ถูกสร้างโดยคน
  2. คุณค่า: ความรู้เป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีมูลค่าสำหรับองค์กรเพื่อให้องค์กรบรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์กร
  3. การมุ่งเน้น: การจัดการความรู้ตอบสนองเป้าหมาย กลยุทธ์ และความต้องการขององค์กร
  4. การปรับใช้: ไม่มีวิธีการจัดการความรู้ใดที่เหมาะสมกับทุกองค์กร วิธีการจัดการความรู้ขึ้นอยู่กับบริบทองค์กร องค์กรอาจต้องพัฒนาวิธีการจัดการความรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับบริบทองค์กร
  5. ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน: การจัดการความรู้ควรร่วมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน การใช้เนื้อหา กระบวนการและเทคโนโลยี
  6. สภาพแวดล้อม: ความรู้ไม่ได้ถูกจัดการโดยตรง ดังนั้นการจัดการความรู้จะต้องไปมุ่งเน้นการจัดการสภาพแวดล้อมการทำงาน และการดูแลวงจรชีวิตของความรู้
  7. วัฒนธรรมองค์กร: วัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อประสิทธิภาพการจัดการความรู้เป็นอย่างมาก วัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เอื้อต่อการคิด การแสดงความเห็น การทำงานจะส่งผลต่อการจัดการความรู้โดยตรง
  8. จุดเน้นย้ำ: การจัดการความรู้ควรต้องค่อยๆ ทำทีละช่วง แบ่งการดำเนินงานเป็นระยะหรือเฟส ให้สอดคล้องกับระบบการเรียนรู้ขององค์กร

ข้อกำหนดของ ISO 30401:2018

อ้างอิงจาก สราวุฒิ (2018) ซึ่งแปล ข้อกำหนด (Requirement) ของ ISO 30401:2018 ว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ

  1. ทำความเข้าใจองค์กรและบริบทองค์กร
  2. ทำความเข้าใจความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  3. กำหนดขอบเขตของระบบการจัดการความรู้ให้ชัดเจน
  4. ระบบการจัดการความรู้
    1. หลักการพื้นฐานทั่วไปของการจัดการความรู้
    2. พัฒนาระบบความรู้
    3. แสวงหาความรู้ใหม่ หรือ ความรู้ในอนาคต
    4. นำความรู้ที่จัดการได้ไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ
    5. รักษาความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
    6. บริหารจัดการความรู้ที่มีอยู่ให้ทันสมัย ถูกต้อง ลดข้อผิดพลาดจากการใช้ความรู้ไม่ถูกต้อง
  5. การถ่ายทอดความรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลง
  6. เครื่องมือการจัดการความรู้ที่นำมาใช้ในองค์กร
  7. วัฒนธรรมการเรียนรู้ขององค์กร
  8. การนำองค์กรและความมุ่งมั่นของผู้บริหาร
  9. การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน
  10. การกำหนดบทบาทและหน้าที่ในระดับต่างๆ ในระบบการจัดการความรู้
  11. การวางแผน การแสวงหาโอกาส และจัดการความเสี่ยงในกระบวนการจัดการความรู้
  12. การกำหนดแผนและเป้าประสงค์ของการจัดการความรู้
  13. การบริหารทรัพยากรและระบบสนับสนุนต่างๆ
  14. การกำหนดสมรรถนะระดับต่างๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการจัดการความรู้จะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  15. การสร้างความตระหนักรู้ของบุคลากรในองค์กรในเรื่องของนโยบาย การถ่ายทอดแบ่งปันความรู้
  16. การสื่อสารเพื่อให้เกิดการรับรู้ ทั่วทั้งองค์กรทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
  17. การควบคุมสารสนเทศและเอกสาร ความปลอดภัยและการเข้าถึง
  18. การดำเนินการจัดการความรู้จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรและตามแผนงานที่กำหนดไว้
  19. การกำหนด การตรวจสอบ การวัด การวิเคราะห์และการประเมินผลระบบการจัดการความรู้
  20. การจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับระบบการจัดการความรู้ว่าได้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้หรือไม่
  21. การทบทวนโดยฝ่ายบริหาร ผู้บริหารระดับสูงต้องทบทวนระบบการจัดการความรู้ขององค์กรตามช่วงเวลาที่วางแผนไว้เพื่อให้มั่นใจว่ามีความเหมาะสมความเพียงพอและมีประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง
  22. การปรับปรุงพิจารณาจาก เมื่อพบความไม่สอดคล้องกับข้อกำหนด และ เมื่อมีข้อที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
  23. ต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจได้ว่าองค์กรจะรักษาระบบได้อย่างยั่งยืน

ระบบการจัดการความรู้ควรจะ

  1. กำหนดเป้าหมาย สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อกำหนดเป้าหมายของการจัดการความรู้
  2. ขอบเขตและลำดับความสำคัญของความรู้ที่จะมีการบริหารจัดการ
  3. ครอบคลุมกระบวนการสำหรับการจัดหา การใช้ การทำลาย การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน การประมวลผลความรู้ การสังเคราะห์ การเรียนรู้
  4. รวมและบูรณาการคน กระบวนการ โครงสร้างพื้นฐาน การกำกับดูแล และวัฒนธรรม
  5. ภาวะผู้นำ เกี่ยวกับคุณค่า นโยบาย การบูรณาการการจัดการความรู้เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจ ทรัพยากร บทบาทและความรับผิดชอบการจัดการความรู้ การสื่อสาร การจัดการการเปลี่ยนแปลง เมทริก การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
  6. นิยามเป้าหมายและผลลัพธ์ จัดการแผนและผลลัพธ์
  7. ทรัพยากร สมรรถนะ ความตระหนัก การสื่อสาร
  8. ติดตามและประเมิน ปรับปรุง ตรวจสอบภายใน และทบทวนการจัดการ

ISO 30401:2018 ไม่ได้มีเจตนารมณ์เพื่อดำเนินการตรวจสอบ (audit) หรือการรับรอง แต่เพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรที่ดำเนินการจัดการความรู้และต้องการให้การจัดการความรู้เป็นระบบ สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กร โดยอาศัยเครื่องมือการจัดการความรู้ และเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบรับรองประเมินผลและรับรององค์กรที่มีความสามารถด้านการจัดการความรู้โดยผ่านหน่วยงานตรวจสอบภายในและภายนอกที่เป็นที่ยอมรับ

องค์กรสามารถใช้มาตรฐาน ISO 30401:2018 เป็นแนวทางการดำเนินงานระบบการจัดการความรู้ นอกจากนี้ ISO 30401:2018 อาจมีประโยชน์ในฐานะเป็นกรอบเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบควบคู่ไปกับ knowledge audits และ วิธีการประเมินการจัดการความรู้ในองค์กร


ที่มาข้อมูล

DaVinci Resolve โปรแกรมตัดต่อ VDO Freeware

DaVinci Resolve คือโปรแกรมตัดต่อวีดีโอแบบฟรีแวร์ ที่มีความสามารถ มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย

วิธีการดาวน์โหลดโปรแกรม

1. เปิดเว็บไซต์ https://www.blackmagicdesign.com/products/davinciresolve/

2. Download เวอร์ชันฟรีและติดตั้ง

วิธีการใช้งานเบื้องต้น

การตัดวีดีโอและเสียง

1.เมื่อวางวีดีโอแล้ว เลือกเครื่องมือ Blade Edit Mode

2.ตัดวีดีโอที่ต้องการในส่วนของ Video

3.ตัดเสียงก็ใช้เครื่องมือเดียวกัน แต่ไปตัดในส่วนของ Audio

การแทรกไฟล์ภาพ วีดีโอหรือเสียง

1.ต้อง Import ไฟล์ที่ต้องการเข้ามาก่อน

2.สามารถลากมาวางในส่วนที่ต้องการแทรกได้เลย


ตัวอย่างการแทรกรูปภาพ


ตัวอย่างการแทรกวีดีโอ


ตัวอย่างการแทรกเสียง

การใส่ Title

เครื่องมือใส่ Title จะอยู่บริเวณล่างซ้ายส่วนของหมายเลข 1 โดยเลือก Titles -> เลือกรูปแบบ ->ลากมาวางที่ต้องการ

สามารถปรับ Title ได้ทุกส่วน ในเครื่องมือส่วนของหมายเลข 2

การใส่ Subtitle

1.เครื่องมือใส่ Subtitle จะอยู่บริเวณเดียวกับ Title แต่ให้เลื่อนลงมาล่างสุด

2.วาง Subtitle คนละขั้นกับวีดีโอ

3.สามารถตั้งค่าตัวอักษรได้ ตั้งค่าเวลาในการแสดงได้


ตัวอย่างการใส่ Subtitle

การตัดเสียง

สามารถตัดระหว่างทางานได้ โดยคลิกซ้ายหรือเลือกที่ Audio -> เลือก Cut หรือ Delete Selected

หรือตัดเสียงตอนเสร็จงานก็ได้ เมื่อตัดต่อวีดีโอเสร็จแล้ว เลือก Deliver

เลือก Audio -> Export Auido ต้องไม่มีเครื่องหมายถูก จากนั้นจึงเรนเดอร์งาน

ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2562

การสำเนาข้อมูลจาก Instagram (IG)

จากเหตุการณ์ที่มีกระแสข่าว “Facebook, Instagram ล่ม กระทบคนทั่วโลก” เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้ Facebook, Instagram อาจจะรู้สึกหวั่นๆ กับการสูญหายของความทรงจำ หรือเรื่องราวดีๆ ที่ได้โพส ทำสตอรี่ (Stories) สร้างอัลบั้ม ผ่านทั้ง 2 Application นี้ไว้

ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายลงได้ด้วย “การทำสำเนาข้อมูล” …. อ่านไม่ผิดค่ะ เราสามารถทำ “สำเนาข้อมูล Facebook และ Instagram ได้” สำหรับ Instagram (IG) นั้นได้เปิดให้ผู้มีบัญชี IG ร้องขอ (Request) ข้อมูลทุกอย่างบน IG เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ General Data Protection Regulation (GDPR) ซึ่ง GDPR นั้นเป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อหลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน หรือ ภาคธุรกิจที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล (แหล่งข้อมูลเรื่อง GDRP เข้าถึงได้ที่ https://www.etda.or.th/content/gdpr-in-a-nutshell) ด้วยเหตุนี้ทาง IG จึงเปิดให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดข้อมูลได้ทั้ง

  • Photos (ภาพ)
  • Videos (วิดีโอ)
  • เรื่องราว (Stories)
  • Profile (ภาพโปรไฟล์)
  • ข้อความตรง (Direct)

สำเนาข้อมูล Instagram จากเครื่องคอมพิวเตอร์

1. เข้าสู่ Instagram จากเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย URL www.instagram.com และ login เข้าระบบด้วย Username และ Password ที่สมัครใช้บริการไว้

2. คลิกที่ icon รูปคน เพื่อเข้าสู่หน้า Profile ของตนเอง

3. เมื่อเข้าหน้า Profile ของตนเองได้แล้วให้คลิกที่รูปฟันเฟือง (setting)

4. เลือก “ความเป็นส่วนตัวและการรักษาความปลอดภัย”

5. เลือเมนู “การดาวน์โหลดข้อมูล” และคลิ๊กที่ “ส่งคำขอดาวน์โหลด”

6. เมื่อทำตามทั้ง 5 ตั้นตอนแล้ว ในขั้นตอนนี้ ระบบของ Instagram รับเรื่องร้องขอดาวน์โหลดข้อมูลแล้ว และแจ้งว่า “ได้จัดส่งลิงก์ดาวน์โหลดไปยัง email ที่ได้แจ้งไว้เรียบร้อยแล้ว” (ขั้นตอนนี้ระบบอาจจะใช้เวลา 24-48 ชั่วโมง)

7. เข้า email ที่ได้ทำการสมัครใช้ IG ไว้ เพื่อรับข้อมูลที่ระบบทำการดาวน์โหลดมาให้

8. คลิกเพื่อดาวน์โหลด Data ที่ระบบจัดส่งให้โดยจะได้เป็นไฟล์แบบบีบอัด (.zip) แยกเป็นส่วนๆ

9. เมื่อคลิ๊ก Download Data เรียบร้อยแล้ว ระบบจะแจ้งให้ยืนยันตัวตนโดยระบบจะกลับไปยังหน้า Instagram อีกครั้ง เพื่อให้ระบุ usernam & password อีกครั้ง

10. เมื่อเข้าระบบได้แล้วสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ทันที จะได้เป็นไฟล์แบบบีบอัด (.zip) แยกเป็นส่วนๆ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

แนะนำตัวอย่างบริการ Social Search Engine

จากโลกในปัจจุบันที่ข้อมูลต่างๆได้มีการรวมตัวกันจากการใช้งานผ่าน Social Media ทำให้เกิดการบริการที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เกิดขึ้น วันนี้ทางฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS) ขอนำเสนอบริการ Social Search Engine ที่ชื่อว่า “Zanroo social search”

“Zanroo social search” เป็น Social Search Engine โดยใช้งานผ่านเว็บไซต์ชื่อว่า Zanroo.com พัฒนาขึ้นโดย Zanroo (แสนรู้) สตาร์ทอัพคนไทย
โดย Zanroo.com ใช้การจับข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์ และบทสนทนาที่เกิดขึ้นบน Social Media เช่น Facebook, Twitter, Instagram ได้แบบ Real-Time Data เพื่อนำมาทำ Real-time Analytics ที่ช่วยให้ ความสามารถขององค์กรในการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดในองค์กรได้แบบ Real-time ทันทีที่องค์กรต้องการ ดังนั้นองค์กรจะต้องทำการเตรียมจัดการ Flow ของการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดเอาไว้แบบ Real-time ให้เรียบร้อยพร้อมให้ทำการวิเคราะห์ได้ตลอดเวลา

Zanroo.com ขณะนี้มีสาขาอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ทั้งแบบ Free และแบบ Premium Package

แบบ Free มี 3 ฟีเจอร์หลักคือ
1. “กดติดตาม” (Follow) ให้ผู้ใช้งานกดติดตามสิ่งที่ตัวเองสนใจ

2. “Daily Summary” หลังจากกด Follow แล้ว จะมีสรุปข่าวสิ่งที่ผู้ใช้งานกดติดตาม ส่งเข้าอีเมล์มาให้อ่านในแต่ละวัน โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะให้ส่งเข้าอีเมล์ไหน

3. “Advance Search” เป็นการค้นหาข้อมูลได้จากหลายแหล่ง เช่น Twitter, Facebook ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานเห็น “บทสนทนา” ที่เกิดขึ้นบน Social Media

สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.zanroo.com/

แบบ Premium Package
มีไว้ให้สำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการข้อมูลเชิงลึก และเชิงวิเคราะห์ สามารถเจาะผู้ประกอบการธุรกิจ SME และเอเยนซี ที่ต้องการนำข้อมูลวิเคราะห์ไปประกอบการทำธุรกิจ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://enterprise.zanroo.com/

แนะนำการอัด vdo clip บน Windows 10

วันนี้ ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STKS)  ขอนำเสนอ วิธีการบันทึก vdo clip บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฎิบัติการ Windows 10 ที่มาพร้อมกับโปรแกรม built-in video capture tool ที่ใช้ความสามารถของ Application Xbox

ขั้นตอน

1. ผู้ใช้งานต้องทำการอนุญาต stream Xbox One games ก่อน

2. เปิดโปรแกรม หรือหน้าจอที่เราต้องการอัด vdo clip

3. กด ปุ่ม Windows + G บนคีย์บอร์ด

4. จะเกิดหน้าจอที่ สอบถามว่า Do you want to open Game bar?” ให้กดปุ่มเพื่อยอมรับ “Yes, this is a game”

5. หลังจากนั้นแผงควบคุมการเปิดปิดเพื่อ อัด vdo clip จะปรากฎขึ้นเป็น popup บนหน้าจอ เรียกว่า Game Bar

6. ทำการกดอัด vdo clip


กดปุ่มกล้องถ่ายรูป หรือทางลัด Win + Alt + PrtScn สำหรับการถ่ายภาพเหน้าจอ
กดปุ่มวงกลมสีแดง หรือปุ่มทางลัด Win + Alt + R สำหรับการบันทึกหน้าจอเป็นวีดีโอ และสามารถกด Win + Alt + R เพื่อหยุดการบันทึก

7. ไฟล์ที่บันทึกเป็น vdo clip แล้ว สามารถไปดูได้ในโฟลเดอร์ Videos > Captures

อ้างอิงจากภาพและบทความจาก

แนวโน้ม 10 อันดับแรกที่เป็นตัวกำหนด KM ในปี 2019

APQC (American Productivity & Quality Center) ได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้าน KM จำนวน 400 คน เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2561 เกี่ยวกับแนวโน้มทีจะมีผลต่อ KM ในปี 2019 ผลออกมาได้ดังรูปแผนภูมิด้านล่าง แสดงเปอร์เซ็นต์ของผู้เชี่ยวชาญที่คิดว่าแนวโน้มนั้นจะมีผลต่อ KM ในปี 2019


ที่มา: Lauren Trees (2019, January 25). Agile and Design Thinking Top List of 2019 Knowledge Management Trends. APQC. Retrieved March 14, 2019, from https://www.apqc.org/blog/agile-and-design-thinking-top-list-2019-knowledge-management-trends

ถ่ายภาพสถานที่เพื่อการขาย อาจเสี่ยงติดคุกได้ ถ้าไม่รู้จัก Property Release

 

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบถ่ายรูป ย่อมไม่แปลกหากคุณจะถ่ายรูปที่ไหนก็ได้จนคุณพอใจหากงานของคุณเป็นที่ถูกใจคุณและคนทั่วไปโดยคุณเองไม่ได้หารายได้จากสิ่งนั้น แต่หากงานคุณเป็นที่โด่งดัง หรือคุณพัฒนามาเป็นนักถ่ายภาพที่เราเรียกกันว่า photo stocker ที่หารายได้ออนไลน์ทั่วโลกจากภาพของคุณ หรือแม้แต่ขายภาพในประเทศของคุณเองก็ตาม  ในที่นี้ยกตัวอย่างเป็นงานถ่ายภาพสถานที่ก่อนครับ (Property, Building)  วันดีคืนดีงานของคุณสามารถทำรายได้ หรือโดนแชร์ไปเป็นหลักหมื่นหลักแสน คุณอาจจะเจออีเมล์หรือประกาศด้านกฏหมายในการเรียกค่าใช้จ่ายหรือข้อหาทางกฏหมายจากหน่วยงานหรือเจ้าของสถานที่ในการถ่ายภาพสถานที่นั้น ๆ เพื่อการค้า  ฟังไม่ผิดครับ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นข้อกำหนด กฏสากล และ เป็นสิ่งที่ควรศึกษาก่อนการถ่ายภาพสถานที่ต่าง ๆ ที่คุณต้องการ ถือเป็นสิ่งพึงระวัง เป็นข้อกำกับการยินยอมให้ใช้ภาพถ่ายของสถานที่ในแต่ละที่ ที่เราต้องศึกษาก่อนถ่ายภาพ  แล้วการแก้ปัญหาทำอย่างไร ? ในหลักการของนักถ่ายภาพขาย เราจะต้องมีใบยินยอมการถ่ายภาพเพื่อใช้ในการพาณิชย์ ซึ่งเรียกกันว่า Property Release  โดยเว็บไซต์ขายภาพดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็น shutter stock หรือ istock photo ต่างก็จะต้องให้คุณมี  Property Release ในการถ่ายภาพนั้น ๆ  หลักการคือ พิมพ์เอกสารดังกล่าว แล้วเอาไปให้เจ้าของสถานที่ หรือองค์กรเจ้าของดูแลสถานที่นั้น เซ็นต์ เพื่อการยินยอม  หากไม่มีเอกสารดังกล่าว ภาพของคุณจะไม่ถูกนำไปขายบนเว็บไซต์ (ไม่ว่าคุณจะถ่ายสวยแค่ไหน) 

ตัวอย่างเอกสาร property Releas ของ shutter Stock

ตัวอย่างสถานที่สำคัญ ๆ ที่คุณไม่สามารถถ่ายเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ได้แก่  Sydney Opera House , The Louvre , Las Vegas Hotels  เป็นต้น หรือในไทย ก็มีห้างบางห้าง หรือตึกบางตึก ที่หากจะมีการใช้พื้นที่หรือถ่ายทำภาพต่าง ๆ ก็ต้องมีการประสานเพื่อขอถ่ายขอใช้งาน โดยไม่สามารถถ่ายเจาะจงให้เห็นตึกหรือโลโก้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่ได้ขอใช้มาก่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดที่ประกาศเป็นสาธารณะหรือเป็นรายกรณีไปครับ   ดังนั้น หากคุณจะถ่ายรูปสถานที่ ควรศึกษาก่อนการนำไปใช้เพื่อการค้าเชิงพาณิชย์ แต่หากคุณต้องการเก็บไว้เพียงความทรงจำกับตัวเองและคนรอบข้าง เอกสาร Property Release คุณก็ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถึงกระนั้น ผู้เขียนขอแนะนำว่า ไม่ว่าคุณจะถ่ายแบบไหน ก็ควรศึกษาก่อนการแชร์ครับ เพื่อปัองกันปัญหาระยะยาวที่จะตามมาในอนาคตในด้านการละเมิดสิทธิ์การถ่ายภาพครับ
  * ภาพบุคคลฟรีจาก pixabay

Electronic Lab Notebook Matrix

Electronic Lab Notebook หรือ สมุดบันทึกการวิจัยอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสมุดบันทึกที่นักวิจัยสามารถบันทึกกิจกรรมการวิจัย ทั้งข้อความ ภาพประกอบ สมการ หรือกราฟ ตั้งแต่ช่วงวางแผน (เช่น แนวคิด วัตถุประสงค์ และแผนการดำเนินงาน) ช่วงดำเนินงาน คือ รายละเอียดการทดลองวิจัย (เช่น ใครทำ ทำอะไร ทำที่ไหน ทำเมื่อไหร่ ทำไมจึงทำ ทำอย่างไร ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัตถุดิบอะไรและอย่างไร) และ ช่วงวิเคราะห์ผล คือ ผลที่ได้จากการการทดลองวิจัย (เช่น สิ่งที่พบ ข้อสังเกต ข้อสรุป และขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อไป) โดยใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือของนักวิจัยในการบันทึกดังกล่าว

ปัจจุบันนี้ มี Electronic Lab Notebook เกิดขึ้นหลายตัว แต่ละตัวก็มีฟีเจอร์การทำงานทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน บางฟีเจอร์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น Harvard Medical School Data Management Working Group ของ Harvard Medical School ในสหรัฐอเมริกา จึงทำการสำรวจและเปรียบเทียบจุดเด่นและข้อจำกัดของ Electronic Lab Notebook แต่ละตัวในท้องตลาด และสรุปเป็น Electronic Lab Notebook Matrix เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมิน Electronic Lab Notebook ให้แก่หน่วยงานที่สนใจ

Electronic Lab Notebook Matrix ดังกล่าว ได้เปรียบเทียบซอฟต์แวร์ Electronic Lab Notebook จำนวน 31 ตัว พร้อมฟีเจอร์การทำงาน โดยแบ่งเป็น 8 หมวดหลัก ได้แก่

  • การติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกัน (Interactivity) 
  • การรองรับเอกสารนักวิจัย (Support for Researcher Documentation)
  • ความสามารถในการปรับใช้กับกระแสงานของ Lab (Adaptability to Lab workflows)
  • หน่วยเก็บข้อมูล (Storage)
  • โฮสติง (Hosting)
  • ความช่วยเหลือและบริการดูแล (Support)
  • ความปลอดภัย (Security)
  • อื่นๆ

จากการอัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน สิงหาคม 2561

สนใจสามารถเข้าถึง Electronic Lab Notebook Matrix โดย Harvard Medical School คลิกที่นี่