หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงานวิชาการที่ยอมรับได้
เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงานวิชาการที่ยอมรับได้
26 พ.ค. 2563
0
นานาสาระน่ารู้

ในการตรวจสอบความคล้ายคลึงกันของผลงานเขียนทางวิชาการ เช่น บทความวิจัย บทความวิชาการ ไปจนถึงวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือออนไลน์เพื่อช่วยในการตรวจสอบนั้น คำถามหนึ่งที่มักพบ คือ มีเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงานเขียนที่เป็นมาตรฐานหรือเป็นที่ยอมรับร่วมกันหรือไม่ และ เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันควรมีค่าสูงและต่ำที่เท่าไหร่จึงจะถือว่าผ่านหรือไม่ผ่านการพิจารณาว่าคัดลอกหรือลอกเลียนแบบผลงานเขียนของคนอื่น…ในบทความนี้ขอเสนอข้อมูลเรื่องนี้จากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง

จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องพบว่า ฝั่งที่หนึ่ง ระบุว่า ไม่มีเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงานวิชาการที่แน่นอน ที่กำหนดว่าเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่จึงจะถือว่าเป็นการคัดลอกหรือลอกเลียนแบบผลงานของคนอื่น เช่น

  • School of Public Health ของ University of Texas ที่ระบุในเอกสารแนะนำการใช้งานโปรแกรม Turnitin สำหรับนักศึกษาภายในสถาบันว่า ไม่มีการกำหนดเปอร์เซ็นต์การจับคู่หรือเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงานในโปรแกรม Turnitin ที่สถาบันใช้ เพื่อระบุว่างานใดคัดลอกหรือไม่คัดลอกงานคนอื่นๆ ความคล้ายคลึงกันของผลงานที่ 40% อาจเป็นที่ยอมรับได้ ตราบใดที่งานนั้นนำเสนอและอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง ในทางตรงกันข้าม ความคล้ายคลึงกันของผลงานเพียง 4% อาจเป็นการคัดลอกงานคนอื่นๆ หากไม่มีการอ้างอิงที่ถูกต้องและเหมาะสม อ้างอิง
  • ในทำนองเดียวกัน La Trobe University ระบุในคำแนะนำสำหรับการอ่านรายงานของโปรแกรม iThenticate ที่ใช้ในสถาบันว่า ไม่มีเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันที่สูงสุดหรือต่ำสุดของผลงานเขียนที่เป็นมาตรฐานหรือยอมรับร่วมกัน เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันที่สูงไม่จำเป็นต้องบ่งชี้ถึงการลอกเลียนผลงานหรือรูปแบบอื่น ๆ ของความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ และ เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันที่ต่ำก็ไม่จำเป็นต้องบ่งชี้ว่าผลงานเขียนนั้นจะไม่มีปัญหาเรื่องการลอกเลียนผลงาน ทั้งนี้สาขาวิชาและประเภทของการเขียนเชิงวิชาการที่แตกต่างกันอาจมีความคาดหวังที่แตกต่างกันและมีข้อตกลงเกี่ยวกับการอ้างอิงที่แตกต่างกัน อ้างอิง
  • เช่นเดียวกัน University of Reading อ้างอิง และ University of Brighton อ้างอิง ที่ระบุว่า ไม่มีการกำหนดความเหมาะสมสำหรับเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงาน งานของนักศึกษาจะต้องมีคำบางคำจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทและความยาวของงานที่ได้รับมอบหมายและข้อกำหนดของงานที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบความคล้ายคลึงกันแม้จะมีโปรแกรม Turnitin เข้ามาช่วย แต่จะต้องได้รับการตรวจสอบโดยการเปิดผลงานของนักศึกษาเพื่อพิจารณาทั้งโดยรวมและรายละเอียด
  • ในส่วนของสำนักพิมพ์ เช่น Springer ได้ระบุในจริยธรรมการตีพิมพ์ผลงานประเภทวารสารว่า การพิจารณาและการตัดสินใจเกี่ยวกับการคัดลอกหรือลอกเลียนแบบผลงานจะแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี โดยทิ้งคำถามไว้ให้ผู้เขียนพิจารณาว่า การคัดลอกหรือลอกเลียนนั้นเกี่ยวข้องกับความผิดพลาดอย่างสุจริต หรือ มีความพยายามในการเบี่ยงเบนโดยเจตนา อ้างอิง
  • ในบทความวิชาการที่ศึกษาเรื่อง การวัดความคล้ายคลึงกันในบริบททางวิชาการ ก็ได้ระบุว่า ปัจจุบันมีสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงและมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก ใช้บริการโปรแกรมเพื่อช่วยตรวจสอบอัตราความคล้ายคลึงกันของเอกสารทางวิทยาศาสตร์ วิทยานิพนธ์ และงานเขียนที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่กับผลงานที่มีอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนทั่วไปในกระบวนการตีพิมพ์ผลงานปัจจุบัน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยวัดหรือมาตรฐานทั่วไปที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในชุมชนวิทยาศาสตร์สำหรับอัตราความคล้ายคลึงกันของผลงานที่เป็นที่ยอมรับหรือได้รับอนุญาต อ้างอิง

มีความพยายามของบางชุมชนในการเสนอเครื่องมือและมาตรฐานทั่วไปที่เหมาะสมสำหรับการวัดความคล้ายคลึงของผลงานเขียนเชิงวิชาการ โดยยังคงเปิดช่องให้สามารถปรับได้โดยพิจารณาจากสาขาการวิจัยที่แตกต่างกัน และการชั่งน้ำหนักความคล้ายคลึงกันที่ยอมรับได้แตกต่างกันในบางส่วนของบทความ เช่น บทนำและวิธีการศึกษาวิจัยที่นำเสนอในบทความซึ่งอาจมีตัวเลขเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันที่ยอมรับได้สูงกว่า ผลลัพธ์และการอภิปรายรวมถึงข้อสรุปในบทความ

  • สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีบางมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้กำหนดเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา จากโปรแกรมที่ใช้งาน เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น กรณีที่ผลงานมีเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงรวมเกิน 70 % ต้องเขียนชี้แจงเหตุผลการซ้ำซ้อน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) หรือ การตรวจสอบและรับรองโดยอาจารย์ที่ปรึกษา และถ้าพบการคัดลอกเป็นที่ประจักษ์ จะไม่เสนอขออนุมัติปริญญา หรือถ้าอนุมติปริญญาไปแล้ว อาจถอดถอนปริญญาได้ (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

แต่ทั้งนี้ก็มีอีกฝั่งระบุที่ระบุเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงานวิชาการที่แน่นอน เช่น

  • Pharmaceutical and Biosciences Journal อ้างอิง และ สำนักพิมพ์ Bentham Science อ้างอิง ที่ระบุในเงื่อนไขการรับบทความวารสารต้นฉบับเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ว่า อนุญาตให้มีความคล้ายคลึงกันโดยรวม 20% สำหรับต้นฉบับที่จะพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ ทั้งนี้เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันจะถูกตรวจสอบเพิ่มเติม โดยมีการระบุเพิ่มเติมสำหรับ
    • ความคล้ายคลึงกันของข้อความที่ต่ำ ข้อความของทุกต้นฉบับที่ส่งจะถูกตรวจสอบโดยใช้โหมด Content Tracking ในโปรแกรม iThenticate เพื่อทำให้แน่ใจได้ว่าต้นฉบับที่มีเปอร์เซ็นต์คล้ายคลึงกันของเนื้อหาโดยรวมต่ำ (แต่อาจมีความคล้ายคลึงสูงจากแหล่งเดียว) จะไม่ถูกมองข้าม โดยกำหนดให้ ความคล้ายคลึงกันของข้อความจากแหล่งเดียวที่ยอมรับได้คือ 5% ถ้าสูงกว่า 5% ต้นฉบับจะถูกส่งกลับไปยังผู้เขียนเพื่อปรับสำนวนและสไตล์การเขียน (paraphrase) และอ้างถึงแหล่งต้นฉบับของเนื้อหาที่คัดลอก อีกทั้ง ข้อความที่นำมาจากแหล่งต่างๆ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงต่ำ อาจจะถูกพิจารณาว่าเป็นเป็นการคัดลอกหรือลอกเลียนแบบผลงานอืน่ได้ ถ้าเนื้อหาส่วนใหญ่ของบทความนั้นเกิดจากการคัดลอกเนื้อหาของหลายๆ แหล่งมารวมกัน
    • ความคล้ายคลึงกันของข้อความที่สูง อาจมีบทความต้นฉบับบางบทความที่มีเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันโดยรวมต่ำ แต่มีเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันจากแหล่งข้อมูลเดียวที่สูง ต้นฉบับนั้นอาจมีความคล้ายคลึงโดยรวมน้อยกว่า 20% แต่อาจมีข้อความที่คล้ายคลึงกันกับแหล่งข้อมูลเดียว 15% กรณีนี้ถือว่าดัชนีความคล้ายคลึงกันสูงกว่าที่จำกัดอนุมัติสำหรับแหล่งข้อมูลเดียว ดังนั้นทางสำนักพิมพ์จะแนะนำผู้เขียนเรียบเรียงข้อความที่คล้ายกันอีกครั้งอย่างละเอียดและอ้างอิงแหล่งข้อมูลอย่างถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงการลอกเลียนแบบและการละเมิดลิขสิทธิ์
  • สำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีบางมหาวิทยาลัยที่กำหนดเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงาน เช่น เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงานรวมต้องไม่เกิน 25% โดยที่ส่วนของผลการวิจัยและอภิปรายผลต้องมีค่าไม่เกิน 10%

จากเนื้อหาที่นำเสนอข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การกำหนดเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงานวิชาการที่ชัดเจน เพื่อระบุว่างานใดคัดลอกหรือไม่คัดลอกงานอื่นๆ นั้น มีความซับซ้อนในการพิจารณาและกำหนด เช่น

  • เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันที่ต่ำไม่จำเป็นต้องบ่งชี้ว่าผลงานนั้นจะไม่มีปัญหาเรื่องการลอกเลียนผลงานเสมอไป
  • ความแตกต่างในสาขาวิชา ประเภทของการเขียน ความยาวของงานเขียน ข้อตกลงเกี่ยวกับการอ้างอิง ส่วนที่นำเสนอในเอกสาร (เช่น บทนำ วิธีวิจัย ผลลัพธ์ และการอภิปรายผลการศึกษา) และข้อกำหนดของงานที่เกี่ยวข้อง อาจทำให้จำเป็นต้องพิจารณาความคล้ายคลึงกันของผลงานแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี

ขณะที่บางหน่วยงานได้กำหนดเปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันโดยรวมที่ยอมรับได้ เช่น 20% และ เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของข้อความจากแหล่งข้อมูลเดียวที่ยอมรับได้ เช่น 5% แต่ก็ยังคงต้องอาศัยการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยคน เช่น บรรณาธิการ ผู้ประเมิน อาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อทำให้มั่นใจในการลดความเสี่ยงการคัดลอกผลงานและการละเมิดลิขสิทธิ์

26 พ.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: