หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ การถ่ายรูปเด็กกับสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว
การถ่ายรูปเด็กกับสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว
26 พ.ค. 2563
0
นานาสาระน่ารู้

การถ่ายรูปเด็กมักเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างมาก ในบทความนี้ขอนำเสนอ เรื่อง การถ่ายและใช้รูปถ่ายเด็ก กับ ประเด็นกฎหมายสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว รวมถึงปัจจัยหลักที่ควรคำนึงถึง จากการทบทวนบทความออนไลน์ของช่างภาพ นักกฎหมาย และอื่นๆ ในต่างประเทศ

  • กฎหมายที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล

สิทธิส่วนบุคคล (Right to Privacy) หมายถึง สิทธิที่จะอยู่โดยลำพัง หรือ สิทธิที่จะได้อยู่โดยลำพังโดยปราศจากการรบกวน (The Right to Be Left Alone) ซึ่งกฎหมายที่บัญญัติถึงการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของไทยคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 32 ดังนี้

“บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทําอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนําข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ” (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, 2560)

ส่งผลให้ประชาชนทุกคนต้องเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลอื่น เพื่อยับยั้งการกระทำที่คุกคามหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคล

ในกฎหมายสากลก็ได้บัญญัติเรื่องการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล เช่นใน UN Universal Declaration of Human Rights 1948 มาตรา 12 บัญญัติว่า “ไม่มีบุคคลใดที่จะถูกแทรกแซงในความเป็นส่วนตัว ครอบครัวบ้านหรือการติดต่อระหว่างกันหรือทั้งสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียงของเขา ทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหากมีการถูกแทรกแซงเช่นว่านั้น” (บุญยศิษย์, 2553)

นโยบายทางกฎหมายร่วมสมัยที่สุดเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลคือการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล (Right to Information Privacy) ซึ่งนำมาสู่การมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ ความเป็นส่วนตัว (Privacy) สัมพันธ์กับข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) คือ ความเป็นส่วนตัว เช่น สิทธิที่จะอยู่โดยลำพัง หรือ สิทธิที่จะได้อยู่โดยลำพังโดยปราศจากการรบกวน (The Right to Be Left Alone) ส่วนข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม (ศุภวัชร์, 2562)

เด็กก็มีสิทธิ์ในความเป็นส่วนตัวเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ มีกฎหมายสำคัญจำนวนหนึ่งที่ปกป้องสิทธิ์ของเด็กในความเป็นส่วนตัว เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (UN Convention on the Rights of the Child : UNCRC) มาตรา 16 การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ซึ่งระบุว่า “เด็กทุกคนมีสิทธิได้รับความเป็นส่วนตัว กฎหมายต้องให้ความคุ้มครองเด็กจากการถูกละเมิดชื่อเสียง ความเป็นส่วนตัว หรือการดูหมิ่น” (กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ, 2562)

  • ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อรูปถ่าย

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อรูปถ่ายบุคคลรวมถึงเด็ก ได้แก่ 1. สถานที่ที่ถ่ายรูป และ 2. จุดประสงค์ของการถ่ายรูป

สถานที่ที่ถ่ายรูป : สถานที่สาธารณะ VS สถานที่ส่วนบุคคล โดยทั่วไปการถ่ายรูปบุคคลในสถานที่สาธารณะสามารถกระทำได้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่ต้องขออนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ หรือชายหาด หากไม่ได้ถ่ายรูปคนเหล่านั้นเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ขณะที่การถ่ายรูปบุคคลในสถานที่ส่วนบุคคล ผู้ถ่ายภาพต้องได้รับอนุญาตในการเข้าสถานที่จากเจ้าของสถานที่ก่อน (ไม่เช่นนั้นอาจโดยข้อหาบุกรุกสถานที่) และการถ่ายรูปก็ต้องขออนุญาตและได้รับความยินยอมจากเจ้าของก่อน เพราะการได้รับอนุญาตให้เข้าสู่สถานที่ไม่ได้หมายความว่าผู้ถ่ายภาพจะมีสิทธิ์ถ่ายและเผยแพร่รูปถ่ายได้ตามต้องการ ดังนั้น แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่มีการแนะนำสำหรับช่างภาพ คือ เมื่อได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังสถานที่ส่วนบุคคลแล้ว ควรถามว่า “คุณรังเกียจไหมถ้าฉันจะขอถ่ายรูปคุณ และ/หรือ ครอบครัวของคุณ?”

ทั้งนี้ มีข้อควรตระหนักถึงคำว่า “สถานที่สาธารณะ” เพราะบางสถานที่ดูเหมือนจะเป็นสถานที่สาธารณะแต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนใหญ่เป็นของเอกชนหรือสถานที่ส่วนบุคคล เช่น สวนสาธารณะในศูนย์การค้า คอนเสิร์ตฮอลล์ หรือ สนามกีฬา ซึ่งสองสถานที่หลังนั้นโดยทั่วไปจะเข้าไปได้จะต้องซื้อตั๋ว มีเงื่อนไขของสัญญากับเจ้าของหรือผู้ดำเนินการ และเงื่อนไขเหล่านั้นอาจรวมถึงการห้ามถ่ายรูป หรือสถานที่สาธารณะบางแห่งมีข้อบังคับป้องกันการถ่ายรูปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า เช่นใน Trafalgar Square และ Parliament Square ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดังนั้นก่อนจะถ่ายรูปใดๆ จะต้องเข้าใจนโยบายและเงื่อนไขของแต่ละสถานที่ที่เข้าไปเสียก่อน

จุดประสงค์ของการถ่ายรูป : เพื่อการค้า VS เพื่อการใช้งานส่วนตัว การถ่ายรูปที่มีจุดประสงค์เชิงพาณิชย์หรือเพื่อการค้าใดๆ ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าเสมอ

  • การถ่ายรูปเด็กและคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

การถ่ายรูปเด็กและคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในที่สาธารณะ สามารถกระทำได้อย่างถูกกฎหมายโดยไม่ต้องขออนุญาต หากการถ่ายรูปนั้นไม่ได้กระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้า (Bottoms, 2018; Vishneski, 2018; Krages, 2016; Meyer, 2012) ส่วนการถ่ายรูปเด็กเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตามกฎหมายเสมอ (Meyer, 2012) ตัวอย่างเช่น หากเด็กอยู่ในสวนสาธารณะที่เป็นของสาธารณะ ช่างภาพสามารถถ่ายรูปของเด็กได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตหากการถ่ายรูปนั้นไม่ได้กระทำขึ้นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่หากเด็กอยู่ในสวนหลังบ้าน ช่างภาพไม่สามารถถ่ายรูปของเด็กได้ เพราะจะละเมิดสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของเด็ก (Farkas, n.d.)

ในสหราชอาณาจักรพบว่าไม่มีกฎหมายใดที่ระบุว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายสำหรับคนแปลกหน้าที่ถ่ายรูปเด็ก โดยกฎหมายของสหราชอาณาจักรครอบคลุมเฉพาะภาพลามกอนาจารของเด็กเท่านั้น โดยกฎหมายระบุว่า “การถ่าย ทำ แบ่งปัน และมีรูปลามกอนาจารของเด็ก และการตัดต่อรูป การทำรูปด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกหรืออื่นๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นรูปถ่ายของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” (Davies, 2019 ; GOV.UK, 2019)

การถ่ายรูปเด็กเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างหนัก เพราะนอกจากการหยิบยกกฎหมายขึ้นมาถกเถียงกันแล้ว ยังมีประเด็นทางศีลธรรมและจริยธรรมที่มักถูกยกมาประกอบ โดยเฉพาะการเสนอให้พิจารณาในมุมของการเป็นผู้ปกครองของเด็ก หรือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา คงไม่มีใครต้องการให้ใครสักคนมาถ่ายรูปลูกของเราโดยไม่ถามเราก่อน (Krages, 2016)

อ้างอิง

26 พ.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: