หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ นานาสาระน่ารู้ ซอฟต์แวร์ตรวจจับการลอกเลียนผลงาน vs ซอฟต์แวร์จับคู่ข้อความ
ซอฟต์แวร์ตรวจจับการลอกเลียนผลงาน vs ซอฟต์แวร์จับคู่ข้อความ
26 พ.ค. 2563
0
นานาสาระน่ารู้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ตรวจจับการคัดลอกผลงานเขียน (Plagiarism checker หรือ Plagiarism detection software) กับ ซอฟต์แวร์จับคู่ข้อความที่คล้ายหรือตรงกัน (Text-matching software)

ซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษานับเป็นหนึ่งในธุรกิจขนาดใหญ่ที่สร้างมูลค่าจำนวนมาก ยกตัวอย่างจากข่าวเมื่อปีที่ผ่านมาที่ บริษัท Advance Publications Inc. ตกลงที่จะซื้อ บริษัท Turnitin ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของซอฟต์แวร์ Turnitin ซึ่งรู้จักกันโดยทั่วไปว่าคือเครื่องมือเพื่อช่วยตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการ ที่มีลูกค้าคือมหาวิทยาลัยจำนวนมากในหลายประเทศ ด้วยมูลค่าเกือบ 1.75 พันล้านดอลลาร์ (Kawamoto, 2019)

การเพิ่มจำนวนขึ้นของการบอกรับเป็นสมาชิก Turnitin หรือซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่คล้ายกัน ของมหาวิทยาลัยต่างๆ กำลังสะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยกำลังเผชิญกับประเด็นการลอกเลียนผลงานเขียนอยู่หรือไม่…บทความออนไลน์ ชื่อเรื่อง Universities must stop relying on software to deal with plagiarism ของ Mphahlele และ McKenna (2019) ได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยยกตัวอย่างผลการศึกษาซึ่งดำเนินการในมหาวิทยาลัยของรัฐในแอฟริกาใต้ และตีพิมพ์เป็นบทความชื่อ The use of Turnitin in the higher education sector: decoding the myth ตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Assessment & Evaluation in Higher Education ปี 2019 ซึ่งการศึกษาพบว่า มหาวิทยาลัยของรัฐในแอฟริกาใต้พึ่งพาซอฟต์แวร์เพื่อตรวจจับการคัดลอกผลงานเขียนในลักษณะที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ในพฤติกรรมของนักศึกษา กล่าวคือ Turnitin ถูกใช้อย่างกว้างขวางในมหาวิทยาลัย แต่ผิดจุดประสงค์ โดย Turnitin ถูกพิจารณาว่าเป็น Plagiarism checker หรือ Plagiarism detection software หรือ ซอฟต์แวร์ตรวจจับการคัดลอกผลงานเขียน มากกว่าจะเป็น Text-matching software หรือ ซอฟต์แวร์เพื่อจับคู่ข้อความที่คล้ายคลึงหรือตรงกัน

วิดีโอ การใช้ Turnitin และ Text-matching software อื่นๆ ในทางที่ผิด โดย Enhancing Postgraduate Environments

Turnitin และ ซอฟต์แวร์ที่คล้ายกัน ทำงานโดยการเปรียบเทียบและจับคู่ข้อความที่คล้ายหรือตรงกัน (Text-matching) โดยจะแสดงย่อหน้าหรือประโยคหรือวลีในเอกสารต้นฉบับที่พบว่าคล้ายคลึงหรือตรงกับผลงานที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ จากนั้นจะสร้างรายงานที่มีเปอร์เซ็นต์ดัชนีความคล้ายคลึงกัน (Similarity index) ช่วยแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาคำพูดหรือข้อความของคนอื่นในการเขียนผลงานว่ามีมากน้อยเพียงไรและอย่างไร และแสดงให้เห็นถึงการใช้การอ้างอิงที่สอดคล้องและสม่ำเสมอกันหรือไม่อย่างไร แต่ก็มีความเข้าใจว่า เปอร์เซ็นต์ดัชนีความคล้ายคลึงกันนี้ (Similarity index) เท่ากับ ระดับของการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงาน (Enhancing Postgraduate Environments, 2017) นักวิชาการและนักศึกษาจำนวนมากเชื่อว่า Turnitin คือเครื่องมือเพื่อช่วยตรวจจับการคัดลอกผลงานที่แม่นยำ ดังนั้นคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ เปอร์เซ็นต์ความคล้ายคลึงกันของผลงานวิชาการที่ยอมรับได้มีค่าเท่าไหร่

ใน Weblog ของ Turnitin (2013) เอง ก็มีข้อความที่ระบุว่า สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่าดัชนีความคล้ายคลึงกัน (Similarity index) ไม่ใช่ดัชนีการคัดลอก (Plagiarism index) ใน Weblog ของ Turnitin ยังมีคำถามและคำตอบที่ว่า

  • “So does Turnitin detect plagiarism?” “No” หรือ “Turnitin ตรวจจับการคัดลอกหรือไม่?” “ไม่”

https://www.turnitin.com/blog/does-turnitin-detect-plagiarism

Mphahlele และ McKenna (2019) อ้างว่า มหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งสนับสนุนให้มีการคัดลอกผลงานเขียนแต่ไม่ถูกตรวจจับ ด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษาแก้ไขข้อความที่ Turnitin ไฮไลท์ว่าคล้ายคลึงหรือตรงกับผลงานอื่นๆ และส่งงานที่แก้ไขใหม่จนกว่าการลอกเลียนแบบจะหลบเลี่ยง Turnitin ได้

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและการใช้งานซอฟต์แวร์เพื่อจับคู่ข้อความที่คล้ายคลึงหรือตรงกัน (Text-matching software) เพียงผิวเผิน ไม่ได้ช่วยจัดการกับสาเหตุและปัญหาของการคัดลอกผลงานเขียน และไม่ได้ช่วยสนับสนุนการพัฒนาการเขียนของนักศึกษา ยังคงมีนักศึกษาจำนวนมากที่ลอกเลียนผลงานของคนอื่นเพราะไม่เคยได้รับการสอนหรือไม่มีเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรมและบรรทัดฐานของการผลิตผลงานวิชาการจากในสถานศึกษา การกำหนดเปอร์เซ็นต์ดัชนีความคล้ายคลึงกัน (Similarity index) ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการคัดลอกผลงาน ดัชนีความคล้ายคลึงกันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกนักวิชาการได้ว่าวลีหรือประโยคที่เป็นไฮไลท์นั้นลอกเลียนผลงานอื่นโดยเจตนาหรือไม่เจตนา รายงานความคล้ายคลึงกันของ Turnitin และซอฟต์แวร์อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน มีความหมายเฉพาะเมื่อถูกตีความโดยคน

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ นักศึกษาควรได้รับการสอนและส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเขียนเชิงวิชาการที่คำนึงถึงจริยธรรม แทนที่จะถูกสนับสนุนให้เขียนในลักษณะที่หลอกซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยจะต้องลงทุนทรัพยากรในการพัฒนาความเข้าใจของนักศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่งต้องใช้เวลา ยกตัวอย่าง การพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับจริยธรรมทางการวิจัยของนักเรียนและนักวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน

อ้างอิง

26 พ.ค. 2563
0
แชร์หน้านี้: