ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้บริษัทผู้ให้บริการระบบบริการออนไลน์ต่างๆ สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการจำนวนมากได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพื่อนำมาทำรายงานสรุปข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการเพื่อการวิเคราะห์และออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจเปิดเผยให้เห็นถึงลักษณะ ความสนใจ และความชอบของผู้ใช้บริการ อาจอาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการใช้ข้อมูลสารสนเทศของผู้ใช้บริการเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ บริษัทผู้ให้บริการระบบบริการออนไลน์ต่างๆ ยังสามารถกำหนดเรื่อง โพสต์ หรือเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้ใช้บริการเห็นบนแพลตฟอร์มที่ตนเองให้บริการ โดยคัดสรรตามลักษณะ ความสนใจ และความชอบของผู้ใช้บริการ ยกตัวอย่างเช่น Social media ขึ้นโฆษณาในสิ่งที่เรากำลังสนใจ ไม่ใช่แค่เพียง Social media แต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางวิจัยและวิชาการ เช่น ผู้ให้บริการฐานข้อมูลออนไลน์พยายามตรวจสอบการใช้งานฐานข้อมูลออนไลน์ของผู้ใช้บริการและปรับแต่งผลลัพธ์และประสบการณ์ในการใช้งานฐานข้อมูลออนไลน์ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) มาตรา 12 ระบุว่า บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจ ในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ หรือ ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2556 และ 2557 มีมติเกี่ยวกับ สิทธิความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล เรียกร้องให้ทุกประเทศ เคารพและปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมถึงในบริบทของการสื่อสารแบบดิจิทัล เช่นเดียวกัน กฎหมายหลายฉบับของไทยที่พูดถึงความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคล เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 พรบ. ว่าด้วยธุุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และ ร่าง พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ…. เป็นต้น
International Federation of Library Associations and Institutions (IFLA) สหพันธ์ระหว่างประเทศว่าด้วยสมาคมและสถาบันห้องสมุด มีแถลงการณ์เฉพาะว่า ห้องสมุด…มีความรับผิดชอบในการ…มุ่งมั่นที่จะทำให้มั่นใจว่าความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ สื่อหรือทรัพยากรสารสนเทศ และบริการ ที่ผู้ใช้ใช้ยังคงเป็นความลับ หลักจรรยาบรรณสำหรับบรรณารักษ์และผู้บริการสารสนเทศของ IFLA ระบุถึงการเคารพความเป็นส่วนตัว การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และการรักษาความลับในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้และห้องสมุดว่าคือหลักการสำคัญ
ตามธรรมเนียมปฏิบัตินโยบายการให้บริการห้องสมุดให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลและความลับของผู้ใช้บริการห้องสมุด แต่ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ในห้องสมุดก็ถูกท้าทาย กล่าวคือ ผู้ให้บริการเนื้อหาและบริการเชิงพาณิชย์ที่ห้องสมุดเป็นสมาชิกอาจรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมของผู้ใช้ การสื่อสาร และธุรกรรม ระบบห้องสมุดในลักษณะ cloud-based อาจถ่ายโอนและจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้ไว้นอกพื้นที่ให้บริการของห้องสมุด เมื่อห้องสมุดเสนอบริการบนอุปกรณ์มือถือของผู้ใช้บริการ บริการอาจรวบรวมข้อมูลประจำตัวและข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้บริการ ติดตามการใช้ห้องสมุด และการแบ่งปันข้อมูลกับบุคคลที่สาม เป็นต้น
ห้องสมุดสามารถตัดสินใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลประเภทใดเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ห้องสมุดจะเก็บรวบรวมและพิจารณาหลักการของการรักษาความปลอดภัยข้อมูล ห้องสมุดสามารถเจรจาต่อรองกับผู้ให้บริการเพื่อให้แน่ใจว่าเกี่ยวกับการป้องกันความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสของห้องสมุดที่จะมีอิทธิพลต่อการควบคุมผู้ให้บริการอาจจะมีจำกัด
IFLA มีคำแนะนำสำหรับห้องสมุดเกี่ยวกับสิทธิในความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ ดังนี้
- ห้องสมุดควรเคารพความเป็นส่วนตัวและเพิ่มความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการทั้งในระดับหลักการและการปฏิบัติ
- ห้องสมุดควรสนับสนุนความพยายามขององค์กรที่ดำเนินการเรื่องการเคารพสิทธิในความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับสากล เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของบุคคลและสิทธิ์ดิจิทัลของพวกเขา พร้อมทั้งสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญด้านห้องสมุดสะท้อนความคิดเห็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้
- ห้องสมุดควรปฏิเสธการเฝ้าระวังทางอิเล็กทรอนิกส์และการตรวจสอบหรือการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้หรือข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้จากระบบที่ผิดกฎหมายทุกประเภท
- ในขณะที่การเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้และการเฝ้าระวังข้อมูลของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างสมบูรณ์ ห้องสมุดควรตรวจสอบการบุกรุกข้อมูลและการสื่อสารของผู้ใช้โดยรัฐบาล โดยให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง ในปริมาณที่จำเป็น โดยมีจุดมุ่งหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย
- เมื่อห้องสมุดให้บริการการเข้าถึงทรัพยากร บริการ หรือเทคโนโลยี ที่อาจเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ห้องสมุดควรส่งเสริมให้ผู้ใช้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิในความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงให้คำแนะนำในการป้องกันข้อมูลและความเป็นส่วนตัว
- ห้องสมุดควรสนับสนุนความสามารถของผู้ใช้ในการตัดสินใจ เลือกใช้ข้อมูล การกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายในการสื่อสารและการใช้บริการในอินเทอร์เน็ต
- การป้องกันข้อมูลและการปกป้องความเป็นส่วนตัวควรอยู่ในหลักสูตรฝึกอบรมการรู้สื่อและสารสนเทศของห้องสมุด รวมถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องมือที่จะใช้เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว และ
- การศึกษาของห้องสมุดและผู้เชี่ยวชาญควรรวมเรื่องการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว
อ้างอิง
International Federation of Library Associations and Institutions. (2015, 14 August). IFLA Statement on Privacy in the Library Environment. Retrieved from https://www.ifla.org/files/assets/hq/news/documents/ifla-statement-on-privacy-in-the-library-environment.pdf