(ร่าง) ยุทธศาสตร์โปรแกรมยาง ภายใต้แผนกลยุทธ์การวิจัยและพัฒนา สวทช. ระยะที่ 2 พ.ศ. 2554-2559
ยางธรรมชาติหรือยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศชนิดหนึ่ง เนื่องจากสามารถทำรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกยางดิบ น้ำยางข้น ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้ยาง และผลิตภัณฑ์ไม้ยาง ไม่ต่ำกว่าปีละ 361,180 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 6.89 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดหรือ ร้อยละ 4.26 ของ GDP นอกจากนี้ยางพารายังเกี่ยวข้องกับเกษตรกรและครอบครัวเกษตรกรอีก 6 ล้านคน และก่อให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมอีกประมาณ 80,000 คน ยางพาราเป็นวัสดุที่โลกจะขาดไม่ได้ ความต้องการยางพาราของโลกจะมีอยู่ตลอดไป ดังนั้น ยางธรรมชาติจะเป็นทรัพยากรหลักที่สามารถทำรายได้ให้ประเทศ ได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ประสบปัญหาการกีดกันทางการค้า ด้วยเหตุนี้การวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจรตลอดสายโซ่การผลิตตั้งแต่การพัฒนาต้นยางและการปลูกเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำยางและเนื้อไม้ยางสูงสุด การพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปน้ำยางเป็นยางแห้งและน้ำยางข้นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษและให้มีคุณภาพสม่ำเสมอ และการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากยางพาราได้แก่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์ไม้ยางทั้งในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จากยางพาราได้มากยิ่งขึ้นและอย่างยั่งยืน
ดาวน์โหลด์เอกสาร : PDF format [3.20 MB]