Technology Readiness Levels : ระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม เป็นหัวข้อหนึ่งในการจัดงาน NSTDA Knowledge Sharing ครั้งที่ 54 ของ สวทช. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ต่อเนื่องจากการจัด NSTDA Knowledge Sharing ครั้งที่ 53 เรื่อง แนวคิดและผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ สวทช. มีต่อประเทศไทย (Concept and Economic and Social Impact NSTDA to Thailand)
บรรยายโดยวิทยากรท่านเดียวกัน คือ ดร.ชัชชาลี รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินผลองค์กร สำนักงานกลาง สวทช.
สวทช. มีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยมหลัก แนวนโยบาย คลัสเตอร์มุ่งเน้นโปรแกรมงานที่สำคัญ ตลอดจนแผนที่กลยุทธ์ พร้อมเป้าหมายในการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีระบบการบริหารงานที่มุ่งให้ผลงานของ สวทช. สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของประเทศ และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดภายใต้สภาวการณ์ภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่มาก นอกจากนี้ สวทช. ยังได้พัฒนาประยุกต์ใช้กลไกการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์สู่การปฏิบัติในระดับสากล ได้แก่ Balanced Scorecard (BSC) มาใช้กับองค์กรรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม สวทช. ในฐานะองค์กรหลักของประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ในการผลักดันผลงานวิจัยและพัฒนาให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยี และต่อยอดความรู้สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้าภาคอุตสาหกรรม ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและประเมินผลงานอย่างสร้างสรรค์ก่อนการส่งมอบ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจในองค์กรชั้นนำของโลก เช่น Technology Readiness Levels (TRL) สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินงานการบริหารจัดการงานวิจัยหรือเทคโนโลยีของ สวทช. ได้ จึงได้เริ่มศึกษาแนวทาง TRL ซึ่งจะนำมาสู่ผลกระทบที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
ในงานดังกล่าว วิทยากรได้บรรยายถึงความหมายและความสำคัญของ Technology Readiness Levels (TRL) ว่าคืออะไร และทำไม สวทช. ถึงต้องนำมาใช้
Technology Readiness Levels (TRL) คืออะไร
TRL คือ เครื่องมือในการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนา (R&D Tools)
ทำไม สวทช. ถึงต้องเลือกนำมาใช้
เพื่อนำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการงานวิจัย เทคโนโลยี ของ สวทช.
ซึ่งในฐานะที่ สวทช. เป็นองค์กรวิจัย มีระบบ เครื่องมือ กระบวนการ และหน่วยงานภายในที่ดูแล รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานวิจัย รวมทั้งการต่อยอดนำผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ แต่ในการศึกษาเรื่อง TRL นี้ เป็นส่วนเสริม เพิ่มเติม เพื่อศึกษาวิธีการบริหารจัดการงานวิจัย สวทช. ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แต่ประเด็นหลักคือ ความคาดหวังของบุคคลภายนอกที่มีต่อ Impact สวทช. สูงมากขึ้น มีการกล่าวถึงโครงการวิจัยที่ได้รับอนุมัติดำเนินการจำนวนมากนั้น มีโครงการใดบ้างที่สามารถนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี ออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ (Commercialized) หรือที่นักวิจัยรู้จักกันในชื่อ หุบเหวแห่งความตาย (The Valley of Death) ที่นับเป็นความยากลำบากในการทำงานวิจัย ในการที่จะทำผลงานวิจัยนั้นให้เป็นจริง และออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะก้าวข้ามหุบเหวนี้ไปได้ และเป็น Applied Research Innovation
อย่างไรก็ตาม TRL นั้นเริ่มพัฒนามาจากองค์กรนาซ่า (NASA) ของสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานอื่นที่นำมาใช้อีก คือ Sandia National Laboratories ซึ่งทั้งสองหน่วยงานเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมเป็นหลัก ทำหน้าที่ทดสอบ (Test) ต้นแบบ ให้งานไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด เป็นงานทดสอบแบบซ้ำๆ กัน เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การยิงจรวด ต้องมีการตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ
TRL แบ่งออกเป็น 9ระดับ คือ
Level 1 : Basic principles observed and reported
Level 2 : Concept and/or application formulated
Level 3 : Concept demonstrated analytically or experimentally
Level 4 : Key elements demonstrated in laboratory environments
Level 5 : Key elements demonstrated in relevant environments
Level 6 : Representative of the deliverable demonstrated in relevant environments
Level 7 : Final development version of the deliverable demonstrated in operational
Level 8 : Actual deliverable qualified through test and demonstration
Level 9 : Operational use of deliverable
ซึ่งสรุปจากทั้ง 9 Levels ได้ ดังนี้
Level 1 : Basic
Level 3 : Applied
Level 4-9 : Prototype
โดยสรุป TRL ทั้ง 9 Levels มีประโยชน์และสำคัญ อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่า สวทช. มีเทคโนโลยี หรือ ทรัพย์สินทางปัญญา (IP) อยู่ในระดับใด ซึ่งขณะนี้ สวทช. ยังไม่ได้นำ TRL เข้ามาใช้ เพียงแต่อยู่ในระยะเริ่มต้นการศึกษาเท่านั้น และคงไม่ได้นำมาใช้กับงานวิจัยทุกเรื่องของ สวทช. และการที่จะ Commercialized ได้นั้นต้องมีหลายปัจจัยประกอบ เช่น การประเมินด้านการตลาด ด้านเทคนิค เป็นต้น ซึ่ง TRL ก็มีจุดอ่อนที่ไม่เน้นการทำตลาด ดังนั้นจึงเป็นงานที่ต้องศึกษาต่อเนื่องว่าหากจะนำ TRL มาใช้กับ สวทช. นั้นจะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการภายในกันอย่างไร จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ และนำมาสู่ผลกระทบที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต