หน้าแรก คลังความรู้ คลังความรู้ การจัดการความรู้ (KM) สถานภาพปัจจุบันของ KM ขององค์กรไทย
สถานภาพปัจจุบันของ KM ขององค์กรไทย
3 เม.ย. 2562
0
การจัดการความรู้ (KM)

บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ สถาบันเพื่อการจัดการความรู้และนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำการสำรวจสถานภาพปัจจุบันของการจัดการความรู้ (Knowledge Management – KM) ขององค์กรในประเทศไทย เพื่อศึกษาว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยได้นำ KM มาใข้ในองค์กรอย่างไร

การศึกษาใช้แบบสอบถามออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูล เพื่อประเมินสถานภาพของ KM ขององค์กรในประเทศไทย และวิเคราะห์ค้นหาปัจจัยขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในองค์กรต่างๆ ดำเนินการเก็บข้อมูลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

กลุ่มตัวอย่าง

มีกลุ่มตัวอย่างจาก 160 องค์กร

จำแนกตามประเภทขององค์กร คือ

  • หน่วยงานราชการ 49%
  • รัฐวิสาหกิจ 17% และ
  • บริษัทจดทะเบียน 34%

จำแนกตามขนาดองค์กร คือ

  • องค์กรที่มีบุคลากรจำนวนน้อยกว่า 100 คน 19%
  • องค์กรที่มีบุคลากรจำนวน 100-300 คน 30%
  • องค์กรที่มีบุคลากรจำนวน 301-1,000 คน 12% และ
  • องค์กรที่มีบุคลากรจำนวนมากกว่า 1,000 คน 39%

ผลการศึกษา

ประเภทขององค์กรที่มี KM

พบว่า 76% ขององค์กรมีการทำ KM ซึ่งหากจำแนกตามประเภทองค์กร พบว่า รัฐวิสาหกิจมีการทำ KM มากที่สุด (93%) รองลงมา คือ หน่วยงานราชการ (87%) และ บริษัทจดทะเบียน (52%) ซึ่งการที่รัฐวิสาหกิจและราชการมีตัวเลขของการทำ KM สูง คาดดว่าเกิดจากการอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ซึ่งให้มีการผลักดันเรื่อง KM ในองค์กร

ความตระหนักในเรื่อง KM

พบว่าองค์กรส่วนใหญ่มีการดำเนินการ KM อย่างต่อเนื่อง คิดเป็น 98%

  • องค์กรที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ KM (2%)
  • ดำเนินการ KM มาแล้ว 1-3 ปี (20%)
  • ดำเนินการ KM มาแล้ว 4-6 ปี (25%)
  • ดำเนินการ KM มาแล้ว 7-9 ปี (20%)
  • ดำเนินการ KM มาแล้ว มากกว่า 10 ปี (33%)

ลักษณะของ KM ในองค์กร
พบว่า 3 ลักษณะสำคัญของ KM ในองค์กร คือ

  1. การมีหน่วยงานที่ทำงานด้าน KM โดยเฉพาะ อาจอยู่ในระดับกลุ่มงาน ฝ่าย หรือแผนก (37%)
  2. การจัดตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะ Cross functional team (30%) และ
  3. การมีระดับการจัดการ มีผู้บริหารระดับสูง/กลางรับผิดชอบดูแล KM (23%)
  4. อื่นๆ (10%)

Top 3 ลักษณะของ KM ในองค์กร

  • อันดับที่ 1 Knowledge Map การทำแผนที่ความรู้ เพื่อหาว่าความรู้ใดมีความสำคัญสำหรับองค์กร แล้วจัดลำดับความสำคัญของความรู้เหล่านั้น เพื่อให้องค์กรวางขอบเขตของการจัดการความรู้และสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  • อันดับที่ 2 Cross functional team การทำงานร่วมกันของคนหน่วยงาน แผนก หรือฝ่ายต่างๆ และ
  • อันดับที่ 3 IT based การนำ IT เข้ามาช่วยสนับสนุนและดำเนินการ KM

ผลลัพธ์ของ KM ในองค์กร

พบว่าผลลัพธ์ที่องค์กรคาดหวังจาก KM คือ นวัตกรรม คิดเป็น 53% สะท้อนว่าทำ KM ไม่ใช่เพื่อปรับปรุงงานอย่างเดิม แต่เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรม รองลงมาคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน การเพิ่มความสามารถขององค์กร การเพิ่มคุณภาพของสินค้าที่ส่งมอบ และอื่นๆ เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า และ ความสามารถของพนักงาน

ปัจจัยขับเคลื่อน KM ในองค์กร
พบ 4 ปัจจัยขับเคลื่อน KM ในองค์กร เรียงตามลำดับ คือ

  1. การนำองค์กร โดยผู้บริหารระดับสูงสนับสนุนและมีค่านิยมส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  2. การวางแผนและทรัพยากรสนับสนุน โดยองค์กรกำหนดผู้รับผิดชอบและมีการจัดสรรงบสนับสนุนกิจกรรม/โครงการ KM อย่างชัดเจน
  3. กระบวนการปฏิบัติงาน โดยองค์กรมีการสร้างความตระหนักต่อความเสี่ยงในกระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญ และ
  4. บุคลากร โดยบุคลากรทุกระดับทั่วทั้งองค์กรมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกิจกรรม KM

อุปสรรคของ KM ในองค์กร

พบว่าอุปสรรคของ KM ในองค์กร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคน โดยเรียงตามลำดับ ได้แก่

  1. บุคลากรขาดความตระหนัก/ความสนใจใน KM
  2. ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการและเครื่องมือ KM
  3. ขาดแรงจูงใจ
  4. ข้อจำกัดของบุคลากร (ขาดความรู้/ทักษะ)
  5. ผู้บริหารขาดความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง
  6. ค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรไม่เอื้อ

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของ KM ในองค์กร

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของ KM ในองค์กร โดยเริ่มจากระดับล่างคือ KM process หมายถึง การสร้างความเข้าใจใน KM ว่ามีกระบวนการอย่างไร มีการบ่งชี้ความรู้สำคัญขององค์กร และการเข้าใจกระบวนการต่างๆ ขยับขึ้นมา คือ Leadership คือการที่ผู้บริหารมองความยั่งยืน การมีส่วนร่วม การเชื่อมโยง นโยบายและการปฏิบัติของผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง KM และระดับสุดท้าย คือ KM strategy และ Operation ด้วยการโยงกลยุทธ์ KM และ การดำเนินงานไปที่ผลธุรกิจ เชื่อม KM ไปยังการดำเนินงาน

การสำรวจพบว่า คนและกระบวนการทำงาน คือปัจจัยที่ส่งผลลัพธ์ด้าน KM อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

อย่างไรก็ตามการสำรวจนี้มีข้อจำกัด คือ การใช้แบบสอบถามออนไลน์เป็นเครื่องมือเดียวในการเก็บข้อมูล อาจมีเรื่องมุมมองส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม และตอบคำถามในมุมของตนเองหรืองานของตนเองเป็นหลักไม่ใช่ภาพรวมขององค์กร

สนใจติดตามรายงานการสำรวจฉบับเต็มเรื่องนี้ โดยบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ สถาบันเพื่อการจัดการความรู้และนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร็วๆ นี้

แชร์หน้านี้: