For English-version news, please visit : NSTDA to host NSTDA Annual Conference 2022 showcasing BCG research and innovation
2 มีนาคม 2565 ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.): ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) นำทีมนักวิจัย สวทช.
แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 17 (17th NSTDA Annual Conference: NAC2022) ภายใต้แนวคิด “พลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม BCG” (Revitalizing Thai Economy through BCG Research and Innovation) โดยจัดบนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2565
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. แถลงว่า ปีนี้ สวทช. จัดงาน NAC2022 แบบออนไลน์เต็มรูปแบบ เพื่อให้สอดรับกับวิถี New Normal ซึ่งทุกกิจกรรมจะเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ทั้งสัมมนา นิทรรศการ การจัดกิจกรรมเยี่ยมชม Open House ผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2565 ประกอบด้วย 3 กิจกรรม นิทรรศการออนไลน์ 102 เรื่อง สัมมนาออนไลน์ 45 หัวข้อ OPEN House เปิดให้ชมแบบออนไลน์ 61 เรื่อง
โดยงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NAC2022) ตลอด 4 วันเต็ม สวทช. จัดออนไลน์เต็มรูปแบบรับวิถี New Normal และเข้มข้นขึ้นในเนื้อหาสาระ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัยได้เข้าไปหาความรู้ อัปเดตเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากศักยภาพของบุคลากรวิจัยและห้องปฏิบัติการ สวทช. เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ โดย สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมประจำปี สวทช. ในวันที่ 28 มีนาคม 2565 ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 หรือ NBT ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกาเป็นต้นไป
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า สำหรับธีมงานปีนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้ระบบเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) เป็นวาระแห่งชาติ (เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564) โดยประกาศเป้าหมายให้ BCG เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง และประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG เป็นระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2564-2570 ประกอบด้วย 4 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในฐานความหลายหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศไทย สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย BCG ร่วมกับทุกกระทรวงและทุกหน่วยงาน
“ตัวอย่างที่ สวทช. ขับเคลื่อนนโยบาย BCG ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และตอบโจทย์ BCG สาขาต่าง ๆ เช่น การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น – การผลิตและเพิ่มมูลค่าพันธุ์ฟักทองไข่เน่าอัตลักษณ์ท้องถิ่น กลุ่มนาน้อย จ.น่าน ระบบฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ HandySense , Plant-based egg ผลิตภัณฑ์ไข่เหลวจากโปรตีนพืช ,ชุดตรวจสารปนเปื้อนในน้ำนมดิบ (Peroxide Test Stripe) ที่ตอบโจทย์ BCG สาขาเกษตรและอาหาร การพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ในช่วงโควิด-19 เช่น เปลความดันลบ PETE, นวัตกรรม “ENcase” เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีการผลิตทางไฟฟ้าเคมี ชุดตรวจโควิด-19 แบบต่าง ๆ รวมไปถึงการพัฒนาวัคซีนแบบฉีดพ่นจมูก ก็ตอบโจทย์ BCG สาขาสุขภาพและการแพทย์ เป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ”
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 17 กล่าวว่า การจัดงานในรูปแบบออนไลน์ปีนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เต็มอิ่มกับเนื้อหาสาระที่ สวทช. เตรียมมานำเสนอ และสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะหัวข้อการสัมมนาที่มีทั้งหมด 45 หัวข้อสัมมนา ตัวอย่าง เช่น ความท้าทายในการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยด้วยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ความก้าวหน้าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน, Food Waste กับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน, จีโนมิกส์ประเทศไทย: อนาคตของการแพทย์จีโนมิกส์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจีโนม, การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาตามหลักสูตรฐานสมรรถนะด้วย BCG Model รวมทั้ง International Webinar on COVID-19
นิทรรศการออนไลน์ 102 ผลงาน แบ่งเป็น 4 กลุ่มตามการดำเนินงานสำคัญเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และแผนปฏิบัติการ AI ของ สวทช. ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร 2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4. ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ (Digital and Electronics) โดยในนิทรรศการแต่ละเรื่องจะมีนักวิจัยเจ้าของผลงานมานำเสนองานวิจัยในรูปแบบ VDO Online โดยทั้งนิทรรศการออนไลน์ และหัวข้อสัมมนาออนไลน์ สามารถรับชมผ่านระบบ VDO Conference ของซิสโก้ (cisco) เว็บเอ็กซ์ มีทติ้ง (webex meeting) โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนา สามารถลงทะเบียนที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac โดยเลือกหัวข้อที่สนใจตามวันและเวลาที่สะดวก
“ระบบจะส่ง Link URL ไปให้ทางอีเมล เพื่อใช้เข้าร่วมฟังการสัมมนา โดยผู้เข้าฟังสามารถรับชมผ่านโปรแกรม webex meeting ซึ่งติดตั้งได้ ทั้งบนคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน หากไม่สามารถเข้าร่วมฟังในเวลาที่ลงทะเบียนไว้ ก็สามารถรับชมย้อนหลังได้อีกด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจคือ Open House หรือการเปิดบ้านให้ผู้ประกอบการ และนักลงทุนได้เยี่ยมชมแบบออนไลน์ จากการนําเสนอเทคโนโลยีจากความชำนาญของห้องปฏิบัติการชั้นนำ 43 ห้องปฏิบัติการ จำนวนรวม 61 เรื่อง ซึ่งความพิเศษของการจัดในรูปแบบออนไลน์ คือ สวทช. เปิดบ้านให้เห็นห้องปฏิบัติการวิจัยผ่านวีดีโอแบบใกล้ชิด และหากมีคำถามก็สามารถแชทข้อความสอบถามได้ทันที เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ทั้งนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสและแรงบันดาลใจสามารถนำไปเป็นแนวทางต่อยอดธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ สวทช. ได้นำตัวอย่างผลงานวิจัยมาแสดง อาทิ “Plant-based egg” ผลิตภัณฑ์ไข่เหลวจากโปรตีนพืช ที่พัฒนาสูตรโปรตีนจากพืชเป็นไข่เหลวจากพืชพาสเจอร์ไรซ์ ที่มีคุณสมบัติในการขึ้นรูปในระหว่างการทอดในน้ำมันได้ และเนื้อสัมผัส ใกล้เคียงกับไข่ไก่ เหมาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มกินวีแกน(Vegan), Vegetarian, กลุ่มที่แพ้ไข่
นวัตกรรม มะนีมะนาว น้ำมะนาวคั้นสด 100% แช่แข็ง (ManeeManao) นักวิจัยได้เปลี่ยนสภาวะการแช่เยือกแข็งที่เหมาะสม โดยขั้นตอนการผลิตเดิมไม่ถูกเปลี่ยน ช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการลดการทำงานของเอนไซม์ ผลการทดสอบด้วยกระบวนการที่ปรับปรุงนั้นคือ กลิ่น สี และรสของน้ำมะนาวแช่แข็งที่นำมาทำละลายเทียบเคียงน้ำมะนาวสด ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของกลิ่น สี รส ภายใน 2-3 วัน แต่น้ำมะนาวแช่แข็งสามารถเก็บได้นานกว่า 2 ปี
Handy Sense + Farm to School ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ (HandySense) ประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของพืช ด้วยการนำเทคโนโลยีเซนเซอร์ (sensor) ผนวกอุปกรณ์ไอโอที (Internet of Things) มาพร้อมกับความโดดเด่นคือ อุปกรณ์ใช้งานง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ในราคาที่เกษตรกรเข้าถึงได้
ชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ strip test สำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลังในมันสำปะหลัง สำหรับพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ ทราบผลได้ภายใน 15 นาที และตรวจสอบได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการและเครื่องมือวัดอ่านผล
การพัฒนาชุมชนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG – การผลิตและเพิ่มมูลค่าพันธุ์ฟักทองไข่เน่า อัตลักษณ์ท้องถิ่น กลุ่มนาน้อย จังหวัดน่าน ทำให้ได้สายพันธุ์ฟักทองไข่เน่าที่มีสีเขียวปนเหลือง มีความสม่ำเสมอของรูปทรงผล มีรสชาติหวาน มัน อร่อยและเนื้อเหนียวหนึบ มีกระบวนการเพาะปลูกที่ได้มาตรฐาน ส่วนของฟักทองที่เหลือนำมาแปรรูป น้ำมันเมล็ดฟักทอง การหมักด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ประสิทธิภาพสูงเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์และโค สร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง
ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติโปรตีนต่ำ มีปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้น้อยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ISO 11193-1:2008, EN 455 และ ASTM D3578-05 ช่วยลดปริมาณโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติ ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางธรรมชาติให้สามารถแข่งขันได้กับผลิตภัณฑ์ถุงมือยางสังเคราะห์ และรักษาความเป็นผู้นำด้านการผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติของประเทศไทย
เครื่องผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อด้วยวิธีทางไฟฟ้าเคมี ในชื่อ ENcase ที่ใช้เพียงส่วนผสมระหว่าง เกลือกับน้ำบริสุทธิ์ เพื่อทำเป็นสารละลายเกลือแกง ก่อนใช้กระบวนการทางไฟฟ้าทำปฏิกิริยาเคมี จนได้น้ำยาออกมา 2 ชนิดพร้อมกัน คือกรดและด่าง โดยในส่วนที่เป็นกรดมีองค์ประกอบของไฮโปคลอรัส มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งผ่านการทดสอบแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการพัฒนา สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าร่วมงาน NAC2022 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรีได้ที่ www.nstda.or.th/nac หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-2564-8000