หน้าแรก สวทช.-สกว. เดินหน้าหนุน SME ปี 3 อาหารและเวชสำอาง ‘วิจัยได้…ขายจริง’
สวทช.-สกว. เดินหน้าหนุน SME ปี 3 อาหารและเวชสำอาง ‘วิจัยได้…ขายจริง’
8 ก.พ. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

สวทช. ผนึกกำลัง สกว. จัดสรรงบประมาณ 75 โครงการ พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร-สมุนไพรและเวชสำอาง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนบนฐานความรู้ ภายใต้แนวคิด “วิจัยได้…ขายจริง”

8 กุมภาพันธ์ 2561 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค : ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ภายใต้โครงการ “การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระยะที่ 3” เพื่อมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในด้านการสนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบการบูรณาการ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสมผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับการจัดการด้านธุรกิจ การศึกษาข้อมูลทางการตลาดเบื้องต้นและการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด “วิจัยได้…ขายจริง” จากกลไกการทำงานของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. และชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. โดยการจัดสรรทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาวิจัยให้กับผู้ประกอบการ SME ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอางและเวชสำอาง

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า สวทช. มีภารกิจหลักในการสนับสนุนงานวิจัย การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ SME ที่จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนบนฐานความรู้ เป็นกำลังหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดย สวทช. ได้ดำเนินโปรแกรม ITAP มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ให้การสนับสนุน SME ไปแล้วไม่น้อยกว่า 7,000 ราย

  

โดยสรรหาผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรงกับโจทย์ความต้องการของ SME แต่ละราย มาช่วยทำโครงการวิจัยและพัฒนาให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ปัจจุบัน ITAP มีผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมดำเนินงานกว่า 1,300 ราย แต่ยังไม่เพียงพอต่อการให้ความช่วยเหลือ SME ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ยังขาดทรัพยากรด้านต่างๆ สำหรับการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านการเงินและบุคลากร

“ความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ สกว. ในครั้งนี้ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ด้านอาหาร เกษตรแปรรูป เครื่องสำอาง โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพ นอกจากนี้ จะเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ SME เติบโตบนเศรษฐกิจฐานความรู้ เพื่อเป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ในการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางของประเทศต่อไป”

ด้าน รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร ผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP สวทช. เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินการของโครงการนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากทั้งผู้ประกอบการ SME และนักวิจัยเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการมีการตื่นตัวในการสร้างสินค้านวัตกรรมมากขึ้น และเกิดนักวิจัยที่มาร่วมทำงานกับภาคเอกชนใหม่ถึงร้อยละ 22 ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการทำบันทึกความร่วมมือกันเป็นปีที่ 3 โดยได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 75 โครงการ แบ่งเป็นโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ 50 โครงการ และเพิ่มรูปแบบทุนวิจัยในการทดลองระดับโรงงานต้นแบบอีก 25 โครงการ เพื่อสร้างให้นักวิจัยเกิดการศึกษาวิจัยแบบบูรณาการและทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง อีกทั้งยังช่วยพัฒนาและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ ตลอดจนสามารถพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย ซึ่ง สกว. และ สวทช. จะร่วมกันบริหารจัดการงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อผลักดันงานวิจัยที่เกิดขึ้นให้สามารถจัดจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้สามารถพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เผยว่า สกว. มุ่งหวังที่จะใช้กระบวนการวิจัยเข้าไปช่วยยกระดับผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการ พร้อมกับการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจเบื้องต้นเพื่อใช้ข้อมูลในการตัดสินใจวางแผนการตลาดให้ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ และยังสนับสนุนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สะดวก ดึงดูดและสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อสุดท้ายแล้วการวิจัยพัฒนาจะต้องเกิดผลิตภัณฑ์ที่ “วิจัยได้…ขายจริง” นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงโอกาสด้านต่างๆ เช่น ความร่วมมือกับธนาคารเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับใช้ลงทุนการผลิต หรือความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า เป็นต้น

  

การดำเนินงานในปีแรกนั้น เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ สกว. ได้ร่วมกับผู้ประกอบการจำนวน 76 บริษัท พัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถเกิดการจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์แล้วร้อยละ 13 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด อีกส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการผลิตหรือการตลาดประมาณร้อยละ 75 ดังตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากโครงการที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 3 สกว. จะร่วมสนับสนุนงบประมาณผ่านชุดโครงการ Innovative House ฝ่ายอุตสาหกรรม ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทุนวิจัย โดยให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้ประกอบการที่ร่วมในโครงการ ซึ่ง สกว และ สวทช. ร่วมกันตั้งเป้าหมายที่จะสนับสนุนการวิจัยจำนวน 75 โครงการ แบ่งรูปแบบทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างสินค้านวัตกรรมในรูปแบบเดิมที่เคยดำเนินการมา และ 2. กลุ่มการวิจัยในระดับปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตในระดับอัพสเกล เพราะเมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้แล้วยังคงต้องศึกษาด้านต่างๆ ในเชิงลึกเพิ่มขึ้น เช่น การวิเคราะห์สารชีวภาพ คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิตระดับอัพสเกล เป็นต้น เพื่อให้โครงการรองรับความต้องการของผู้ประกอบการได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“โครงการนี้จะเป็นหนึ่งในโครงการที่ สกว. พยายามจะผลักดันสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ก้าวสู่การเติบโตทางธุรกิจบนฐานนวัตกรรม ที่ไม่ต้องแข่งขันกันด้วยราคาหรือแรงงานราคาถูก ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นและยั่งยืน เกิดการจ้างงานและการรับซื้อวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการวิจัยของประเทศโดยรวม โดยมีนักวิจัยและผู้ประกอบการเป็นกลไกสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการ สกว. กล่าว

  

ภายหลังการลงนามความร่วมมือได้จัดพิธีมอบรางวัลผลงานวิจัยประจำปีงบประมาณ 2559 (ระยะที่ 1) Innovative House Awards พร้อมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากงานวิจัยจำนวนกว่า 100 ผลิตภัณฑ์จาก 8 กลุ่มงานวิจัยมานำเสนอ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเวชสำอาง ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม อาหารพร้อมรับประทาน อาหารพร้อมปรุง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่เป็นส่วนประกอบอาหาร และขนมหวาน รวมถึงการประกาศผลรางวัลผลงานวิจัยเด่นในแต่ละด้าน 12 รางวัล และรางวัลป๊อปปูล่าร์โหวตจากผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ จะมีการบรรยาย “นวัตกรรมนั้นสำคัญอย่างไร” และการเสวนา “กว่าจะได้งานวิจัยที่พร้อมจะขายจริงในเชิงพาณิชย์” ตลอดจนการนำเสนอรูปแบบทุนวิจัยในปี 2561

8 ก.พ. 2561
0
แชร์หน้านี้: