หน้าแรก ระบบบริหารการวิจัย RDIMS … ผู้ประกอบการทำได้จริงขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี 300% ด้วยตนเอง
ระบบบริหารการวิจัย RDIMS … ผู้ประกอบการทำได้จริงขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี 300% ด้วยตนเอง
8 พ.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาเรื่อง“ ระบบบริหารการวิจัยRDIMS … ผู้ประกอบการทำได้จริง ขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี 300% ด้วยตนเอง ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมและช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การจัดงานดังกล่าวเพื่อเป็นเวทีให้ผู้ประกอบการได้รับทราบถึงการเตรียมความพร้อมการขอรับการตรวจประเมินและการประยุกต์ใช้ระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยวิธีการ Self-Declaration อันจะนำไปสู่การกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น อีกทั้งได้เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและกระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม และเป็นโอกาสในการสร้างร่วมมือการดำเนินงานวิจัยแบบ Collaborative Network ในอนาคต

 

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับ กระทรวงการคลัง กำหนดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม และได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 ให้ปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กรณีมีรายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่อธิบดีประกาศกำหนด จากเดิม 2 เท่า เป็นจำนวน 3 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริง มีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562และกำหนดวิธีการขอใช้สิทธิประโยชน์อีกช่องทางหนึ่งเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่า การใช้สิทธิ์รับรองตนเอง (Self – Declaration) โดยให้ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาฯ มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ โดยไม่ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวต้องได้รับการตรวจประเมินและรับรองระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Research, Technology Development and Innovation Management System) หรือที่เรียกว่า ระบบ RDIMS และได้รับการขึ้นทะเบียนโดย สวทช.

ในช่วงที่ผ่านมา สวทช. และ วว. ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการตรวจประเมินและรับรองระบบ RDIMS เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีในรูปแบบ Self-Declaration  และมีความพร้อมรองรับการให้บริการผู้ประกอบการเอกชน และการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา

 

ปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจประเมินและรับรองระบบ RDIMS ให้กับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) – เอสซีจี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กำหนดระยะเวลาการให้การรับรองระบบมีอายุ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และครอบคลุม 4 กลุ่มงานวิจัย ดังนี้ Material Technology, Environmental Solution, Sensor and IoT, และ Life Science ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่สามารถนำข้อกำหนดของระบบไปประยุกต์ใช้ให้เกิดความสอดคล้องกับการดำเนินการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของตนเองได้ และได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการยกเว้นภาษี 300% ด้วยวิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้

 

ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงานสัมมนาพิเศษครั้งนี้ สวทช. คาดหวังจะให้กรณีความสำเร็จของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ในการขอรับรองระบบ RDIMS เป็นกรณีศึกษาและเป็นองค์กรภาคเอกชนต้นแบบ ให้กับผู้ประกอบการที่มีการลงทุนและศักยภาพสูงในการดำเนินการวิจัยและพัฒนา ได้รับทราบถึงการเตรียมความพร้อมการขอรับการตรวจประเมินและการประยุกต์ใช้ระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยวิธีการ Self-Declaration อันจะนำไปสู่การกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารองค์กรภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวโน้มและกระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม และเป็นโอกาสในการสร้างร่วมมือการดำเนินงานวิจัยแบบ Collaborative Network ในอนาคต

8 พ.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: