หน้าแรก สวทช. ร่วมถก เทคโนโลยีป้องกันภัย (Defense) โอกาสใหม่ของสตาร์ทอัพไทย ในงาน Startup Thailand 2018
สวทช. ร่วมถก เทคโนโลยีป้องกันภัย (Defense) โอกาสใหม่ของสตาร์ทอัพไทย ในงาน Startup Thailand 2018
18 พ.ค. 2561
0
ข่าวประชาสัมพันธ์

18 พ.ค. 61 ในงาน Startup Thailand 2018 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ : ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้นำเสนอบทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง (Defense) ที่จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ S-Curve ที่ 11 ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยร่วมเป็นวิทยากรบนเวทีสัมมนาหัวข้อ “Defense X” ร่วมกับวิทยากรผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง บีโอไอ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) เป็นต้น

ดร.ศิวรักษ์ กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. ในการส่งเสริม S-Curve ใหม่ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคง ว่า สวทช. กระทรวงวิทย์ฯ เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้เป็นรูปธรรม ในการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิด S-Curve ใหม่ที่ 11 จะเป็นโอกาสที่ทำให้สามารถสนับสนุนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการในกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อป้องกันภัยได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น โดย สวทช. จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defense) ในเรื่องอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสองทาง

ซึ่งคาดจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพและขนาดใหญ่มากในอนาคต ไม่ว่าจะป็นเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่ใช้ปกป้องชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ทั้งจากภัยคุกคามทางธรรมชาติ ภัยจากโจร ซึ่งมาตรการส่งเสริมที่มีอยู่แล้ว อย่างโครงการ Startup Voucher โครงการคูปองนวัตกรรม ทุนวิจัย intensive ต่างๆ จะมุ่งสนับสนุนผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้าน Defense มากขึ้น รวมถึงยังมีนโยบายพัฒนานวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐ ที่จะผลักดันให้มีการลงทุนวิจัยและพัฒนางานวิจัยเพื่อป้องกันประเทศ ซึ่งทางสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเตรียมพร้อมหรือรองรับไว้ก่อนได้

  

ตัวอย่างเทคโนโลยีสองทางในอุตสาหกรรมด้านการป้องกันและความมั่นคง เช่น ระบบเซนเซอร์ตรวจวิเคราะห์ภัยคุกคามต่างๆ เทคโนโลยี Cyber Security เทคโนโลยียานไร้คนขับ (Unmanned System) โดรนไร้คนขับ การขนส่งโดยใช้โดรน เทคโนโลยี Face Recognition and Biometric เป็นต้น โดยงานวิจัยมุ่งเน้น (เร่งด่วน) ที่ สวทช. ได้วิจัยและพัฒนา ได้แก่ เครื่องมือตรวจสารระเบิด / สารเสพติดฯ / สิ่งอันตราย ซึ่งเทคโนโลยีสองทางเหล่านี้ ประเทศไทยล้วนต้องสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเองให้ได้ เพื่อทดแทนการพึ่งพาหรือซื้อจากต่างประเทศอย่างที่ผ่านมา นับเป็นบทบาทสำคัญที่กระทรวงวิทย์ฯ สวทช. จะสนับสนุนและขับเคลื่อน S-Curve ใหม่ที่ 11 ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

  

ด้านผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม กล่าวตอนหนึ่งให้เห็นภาพรวมว่า ในอดีตเทคโนโลยีป้องกันประเทศมีจุดเริ่มต้นจากการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศทั้งหมด เป็นพึ่งพาบางส่วน และถัดมาเริ่มมีการทดลองใช้เองทดแทนการซื้อจากต่างประเทศ จนมาถึงการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง โดยเทคโนโลยีที่ว่าสามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ยุทธภัณฑ์และยุทโธปกรณ์ ที่ใช้ในทางทหาร และเทคโนโลยีสองทาง (Dual Use) ที่ต่อยอดสู่ภาคเอกชนได้ด้วย ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างหลัง เพื่อรองรับ S-Curve ใหม่ที่ 11 จำต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัย จาก สวทช. และจากสถาบันการศึกษาต่างๆ

18 พ.ค. 2561
0
แชร์หน้านี้: